- • เป็นเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่เติบโตเร็วที่สุด
- • ช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- • หลายประเทศสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ด้วยนโยบายต่างๆ
ไม่มีใครปฏิเสธว่าแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมด ทำให้ทั่วโลกนิยมใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันแพร่หลายกลายเป็นเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกที่เติบโตเร็วที่สุดและยังช่วยลดโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
หลายประเทศจึงมีนโยบายส่งเสริมอย่างจริงจัง รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์อย่างสุดล้ำ เช่น ประเทศจีน มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอวกาศ ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในอวกาศแล้วส่งกลับมายังโลก โดยอยู่ในการทดสอบระบบตรวจสอบภาคพื้นดิน และจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบภายในปี ค.ศ. 2028
ขณะที่สหรัฐอเมริกามีการส่งเสริมนโยบายช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแผงโซลาร์เซลล์ได้ง่ายขึ้น เช่น เมือง Lancaster รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่กำหนดให้ผู้สร้างที่อยู่อาศัยใหม่ทุกหลังต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ โดยถือเป็นเมืองนำร่องการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เอง
ญี่ปุ่น ออกกฎระเบียบใหม่กำหนดให้บ้านในโตเกียวทุกหลังที่สร้างใหม่หลังเดือนเมษายน ปี 2025 จะต้องติดแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในครัวเรือน
ส่วนเยอรมนี อนุมัติร่างกฎหมายส่งเสริมการขยายการผลิตพลังงานหมุนเวียนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี โดยลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตและการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้สามารถก่อสร้างได้เร็วขึ้น
ขณะที่ประเทศอินเดีย มีการสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาดของประเทศสู่ที่หนึ่งของโลกด้วยนิยาม “One Sun One World One Grid” และ “World Solar Bank” หรือพระอาทิตย์หนึ่งดวง โลกหนึ่งใบ หนึ่งกริด และธนาคารโซลาร์โลก
สำหรับประเทศไทยก็ให้ความสำคัญต่อการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งเสริมประสิทธิภาพโซลาร์เซลล์ให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างพลังงานสะอาดสู่โลกมากยิ่งขึ้น
ขณะที่เทรนด์โลกมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อินเดียจึงเป็นประเทศที่นักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนพลังงานสะอาดในอินเดียเพิ่มมากขึ้นจากนโยบายสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาดของประเทศสู่ที่หนึ่งของโลก
มีข้อได้เปรียบมากกว่าหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฐานประชากรขนาดใหญ่ราว 1.3 พันล้านคน เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน ซึ่งในอนาคตอินเดียจะแซงหน้าจีน กลายเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก
ปัจจุบันอินเดียยังมีประชากรหนุ่มสาวในช่วงวัยทำงานเกือบ 300 ล้านคน (อายุเฉลี่ยของชาวอินเดียอยู่ที่ 28 ปี) ทำให้กำลังซื้อและการจับจ่ายของคนกลุ่มนี้ ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอินเดีย
ส่งผลให้เศรษฐกิจอินเดียที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับ 5 ของโลกจ่อไต่อันดับขึ้นอีกในเร็วๆ นี้ และที่สำคัญ สภาพทางภูมิศาสตร์ของอินเดียยิ่งสร้างโอกาสให้กับธุรกิจพลังงานสะอาด เนื่องจากอินเดียอยู่ในเขตร้อน มีแดดจัดมากถึง 300 วันต่อปี จึงเหมาะที่สุดสำหรับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์เนื่องจากได้รับแสงแดดโดยตรง จึงได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์
เนื่องจากอินเดียถูกจัดให้เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีน และสหรัฐฯ ดังนั้นรัฐบาลอินเดียจึงมีนโยบายผลักดันให้ประเทศก้าวสู่เส้นทางพลังงานสะอาดเต็มตัว กับเป้าหมายกำลังการผลิตพลังงานทดแทนในระดับ 500 กิกะวัตต์ (GW)ภายในปี 2030 และเดินหน้าผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สร้างโอกาสในการเติบโตได้อีกมหาศาลในอุตสาหกรรมนี้ และการให้เครดิตภาษีกับผู้ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ทั้งการอยู่อาศัยและอาคารเชิงพาณิชย์ ทำให้อินเดียเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานทดแทนสูงสุดเป็นอันดับ 4 โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่พัฒนาเร็วที่สุดของอินเดีย
ดังนั้น บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นแกนนำธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่มปตท. มองเห็นศักยภาพการเติบโตของธุรกิจพลังงานทดแทนในอินเดีย จึงได้จับมือพันธมิตรอินเดีย โดยเข้าไปถือหุ้น 42.93% ใน Avaada Energy ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในอินเดียที่ชนะการประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในประเทศอินเดีย จำนวน 1,050 เมกะวัตต์ เป็นเวลา 25 ปี ในราคา 0.032 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 1.14 บาทต่อหน่วย
แต่หากนำอัตราค่าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของอินเดียที่ชนะประมูลที่หน่วยละ 1.14 บาทมาเปรียบเทียบกับราคารับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ในราคา 2.17 บาทต่อหน่วย แล้วกล่าวว่าไทยมีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่แพงกว่ามากเมื่อเทียบกับการประมูลที่อินเดีย ก็จะเป็นการเปรียบเทียบที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากทั้งสองประเทศมีปัจจัยที่มีความแตกต่างกัน ย่อมมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของสองประเทศ
เปรียบเทียบดังนี้ คือ ขนาดของโครงการโรงไฟฟ้า ยิ่งมีขนาดใหญ่ย่อมประหยัดหรือมีต้นทุนที่ถูกกว่าโครงการขนาดเล็ก (Economy of Scale ) ซึ่งโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของอินเดีย มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 150 -1,050 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่ Avaada ชนะประมูล มีกำลังการผลิต 1,050 เมกะวัตต์ สำหรับในประเทศไทย GPSC มีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 จำนวน 4 โครงการ มีกำลังผลิตตั้งแต่ 8-72 เมกะวัตต์ รวมทั้งสิ้น 192 เมกะวัตต์ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าโครงการที่อินเดียโครงการเดียวมากกว่า 14 เท่าตัว
อีกทั้งอินเดียมีพื้นที่ทะเลทรายขนาดใหญ่เหมาะแก่การลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม ทำให้ต้นทุนต่ำ ผิดจากไทยที่ต้นทุนค่าที่ดินถือเป็นสัดส่วนต้นทุนใหญ่ในการทำโครงการโซลาร์ฟาร์ม
ส่วน Capacity Factor คือ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จริง เทียบกับกำลังการผลิตตามสัญญา ซึ่งมีผลต่อราคาโรงไฟฟ้า capacity factor สูง ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่าโรงไฟฟ้า capacity factor ต่ำ
รวมทั้งต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างกัน เนื่องจากต้นทุนของอินเดียถูกกว่าของไทย เช่น ค่าแรงงาน และ ค่าเหล็กเส้น เนื่องจากอินเดียเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก
ดังนั้น การนำราคาของการประมูลโครงการรับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์ใน 2 ประเทศมาเปรียบเทียบกันเลย แล้วไประบุว่าของไทยแพงกว่าต่างประเทศจึงเป็นการคำนวณที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงเพราะไม่มีการนำปัจจัยการลงทุนอื่นๆ มาพิจารณาร่วมด้วย เมื่อข้อมูลผิดพลาดทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดได้