“นายกฯ” ลงพื้นที่ "นราธิวาส" ติดตามเร่งรัดพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 3 เส้นทาง "คมนาคม-รฟท." แจงแผนเตรียมเสนอ ครม. พร้อมชงของบกลางปี 68 ศึกษาทางคู่ช่วงชุมทางหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก เดินหน้ายกระดับระบบขนส่งทางราง หนุนเศรษฐกิจชายแดนใต้
วันนี้ (16 ม.ค. 2568) ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบขนส่งทางรางจากทางเดี่ยวเป็นทางคู่ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาขนส่งทางรางให้เป็นแกนหลักของระบบการขนส่งสาธารณะ โดยมีเป้าหมายยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ด้วย
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาระบบรางในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1. ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร 2. ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร และ 3. ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 เส้นทางอยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติโครงการต่อไป
@ของบกลางปี 68 ศึกษาทางคู่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก
ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่-สุไหงโก-ลก ที่ปัจจุบันเป็นทางเดี่ยว ระยะทาง 216 กิโลเมตร การรถไฟฯ มีแผนพัฒนาก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวให้เป็นทางคู่ ครอบคลุมสถานีรถไฟ 27 สถานี และที่หยุดรถไฟ 8 แห่ง พร้อมย่านเก็บกองและขนถ่ายสินค้า (Container Yard) ที่สถานีนาม่วง และสถานีสุไหงโก-ลก จำนวน 2 แห่ง ด้วยงบประมาณ 34,590 ล้านบาท โดยการรถไฟฯ อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการ
หากโครงการรถไฟทางคู่ต่างๆ ดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นหนึ่งในระบบขนส่งสาธารณะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและตอบโจทย์การเดินทางของประชาชนในเส้นทางสายใต้ รองรับการเดินทางด้วยราคาที่ประหยัด อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการค้า การลงทุน ระหว่างสองประเทศอย่างยั่งยืน รวมถึงยังเป็นการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ การค้าชายแดน การท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
นายวีริศกล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการให้เร่งรัดพัฒนารถไฟทางคู่ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ และส่งเสริมการขนส่งสินค้าเกษตรต่างๆ เพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้า ซึ่งจะช่วยเร่งจีดีพีของประเทศ รวมถึงให้ติดตามเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรต่างๆ และเทคโนโลยีของประเทศเพื่อนบ้านว่ามีอะไรที่ก้าวหน้ากว่าเราหรือไม่ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสนับสนุนสินค้าการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในทุกๆ พื้นที่