“สุริยะ” หารือทูตอิตาลี จับมือยกระดับระบบรางไทย ต่อยอด MOU สถาบันวิจัยระบบรางฯ กับเอกชนอิตาลี ปรับปรุงขบวนรถไฟให้บริการระดับ Luxury สนับสนุนเทคโนโลยี-นวัตกรรม ผลักดันไทยออกแบบและผลิตรถไฟในอนาคต
วันที่ 15 มกราคม 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ นายเปาโล ดีโอนีซี (H.E. Mr. Paolo Dionisi) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย เข้าพบ เพื่อเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีด้านการคมนาคมขนส่งระหว่างกัน โดยนายสุริยะกล่าวว่า หลังจากได้พบกับนายเปาโล ดีโอนีซี ที่งาน Thai-Italian Business Forum ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศอิตาลีกับสภาหอการค้าอิตาลี ณ กรุงโรม เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสพบกับบริษัทชั้นนำมากมายของอิตาลี ส่งผลให้เกิดความร่วมมือที่สำคัญในภาคคมนาคมขนส่งในเวลาต่อมา เช่น การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. และบริษัท Blue Engineering S.r.l เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและสนับสนุนความร่วมมือในโครงการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีระบบราง
คาดว่า MOU ดังกล่าวจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตรถไฟด้วยตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตและการบำรุงรักษาถูกกว่าการนำเข้า สามารถรองรับการผลิตตามคำสั่งซื้อในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย
การลงนาม MOU ระหว่าง สทร.กับบริษัท MERMEC Group เป็นความร่วมมือในการส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีราง โดยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคนิค และร่วมกันวิจัยคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการ MOU ระหว่าง สทร.กับบริษัท Nplus S.r.l เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีทางรถไฟ การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืนในอุตสาหกรรมรถไฟของประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของสองประเทศในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟในอนาคต เนื่องจากบริษัท Nplus S.r.l. เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Structural Health Monitoring (SHM) โดยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ตรวจสอบ วิเคราะห์ และบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของไทยสู่มาตรฐานสากล และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งยังร่วมมือในการปรับปรุงขบวนรถไฟหรูเพื่อการท่องเที่ยว
นายเปาโล บาร์เลตตา (Mr. Paolo Barletta) กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Arsenale ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการเพิ่มความหรูหรา (Luxury) ให้กับภาคบริการต่างๆ ได้เสนอความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อปรับปรุงขบวนรถไฟสำหรับการให้บริการในระดับ Luxury ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างประโยชน์ในการให้บริการที่หลากหลายแก่ประชาชน รวมถึงสร้างรายได้ให้กับ รฟท.ในระยะยาว และยังเป็นการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลอีกด้วย
ภายในปีนี้จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการขนส่งทางราง ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากรางของ รฟท.ในการขนส่ง และเป็นโอกาสอันดีต่อภาคเอกชนของอิตาลีในการเข้าร่วมลงทุนเพื่อปรับปรุงขบวนรถไฟของไทยให้มีการบริการในระดับ Luxury ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบรางของไทยได้
“กระทรวงคมนาคมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีความร่วมมือกับอิตาลีสำหรับโครงการอื่นๆ เพิ่มเติมในการพัฒนาด้านการคมนาคมขนส่ง อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศในเวลาอันใกล้นี้ต่อไป” นายสุริยะกล่าว