- • เหตุฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย
- • ปัญหาการจัดเก็บสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมไม่ถูกต้อง
- • ตู้ควบคุมไฟฟ้าชำรุด เสี่ยงระเบิดอันตราย
- • การปิดโรงงานเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน
“เอกนัฏ” สั่งปิดโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าไทยอุดร หลังฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตฯที่ใช้ไม่ถูกต้องเหมาะสม และตู้ควบคุมไฟฟ้าอยู่ในสภาพชำรุด หวั่นระเบิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งด่วนที่สุดให้ปิดโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี และโรงไฟฟ้าของบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
โดยได้สั่งให้เจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานน้ำตาลของบริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด และโรงไฟฟ้าของบริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ที่ ต.คำบง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี พบว่า บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี มีการรับอ้อยเผาเข้าหีบสะสมสูงสุดจากโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 58 โรงงาน คิดเป็น 43.11% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด หรือกว่า 4.1 แสนตัน เทียบเท่าการเผาป่ากว่า 4.1 หมื่นไร่ โดยจังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนการรับอ้อยเผาเข้าหีบสูงสุดของประเทศ
อีกทั้งยังพบว่า บริษัท ไทยอุดรธานี เพาเวอร์ จำกัด ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำส่งให้กับโรงงานน้ำตาลไทยอุดรธานี โดยบริษัทฯ ฝ่าฝืนกฎหมายความปลอดภัย มีการประกอบกิจการในสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงถึงชีวิตและทรัพย์สินของพนักงานและประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงาน
นอกจากนี้ บริษัท น้ำตาลไทยอุดรธานี จำกัด ยังมีการประกอบกิจการที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่พนักงานหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่อาศัยใกล้เคียงกับโรงงานในหลายประเด็น เช่น มีการจัดเก็บหรือการดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมี วัตถุอันตราย และกากอุตสาหกรรมที่ใช้และเกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ตู้ควบคุมไฟฟ้าอยู่ในสภาพชำรุดอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งมีการติดตั้งระบบดับเพลิงที่ไม่พร้อมใช้งานในหลายจุด อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีจึงมีคำสั่งด่วนที่สุดให้บริษัทฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายทั้งหมด จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมายอย่างเข้มงวด
“การประกอบการโรงงานต้องมีกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างกำไรจากการทำธุรกิจอุตสาหกรรมต้องไม่เบียดเบียนสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและการทำธุรกิจของภาคส่วนอื่นด้วย” นายเอกนัฏกล่าว