การตลาด – ธุรกิจเอกชนยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายในปี พ.ศ. 2568 อย่างหนักหน่วงในหลายมิติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ชี้หลายปัจจัยส่งผลกระทบ พร้อมเกิดจุดเปลี่ยนสู่สงครามการตลาด เผยสูตร ABCD การปรับตัวสู่ทางรอด
ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ท่ามกลางสภาวการณ์ปัจจุบันที่โลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ สภาพคล่องทางการเงิน อัตราดอกเบี้ยและหนี้ครัวเรือนที่สูง ภัยพิบัติทางธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี การเข้ามาแข่งขันของผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศและในประเทศที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าและต้นทุนต่ำกว่า ล้วนทำให้ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมตัว ปรับตัว ป้องกันผลกระทบอันจะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมซ้ำเติมเข้าไปอีก
นอกจากนี้โลกกำลังเข้าสู่ยุคการเติบโตของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ Gen Z จะกลายเป็นกำลังหลักของคนทำงาน ส่วน Gen Alpha กำลังก้าวพ้นวัยเด็ก เข้าสู่วัยรุ่นและวัยทำงาน ขณะที่ 2025 เป็นปีเริ่มต้นของ Gen Beta ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับ AI ทุกสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อแบรนด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในภาวะเช่นนี้ หลายคนอาจจะเรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยน และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดสงครามทางการตลาด ที่เป็นจังหวะในการต่อสู้ ช่วงชิง แสวงหา จุดต่างและสร้างจุดร่วม ปรับตัว สร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน ทั้งแบรนด์ที่เป็นผู้นำและผู้ตาม จำเป็นจะต้องเปลี่ยน ปรับตัว โดยผสมผสานระหว่างการวางตำแหน่งสินค้า การกำหนดเลือกส่วนตลาด กำหนดยุทธศาสตร์ที่ยืดหยุ่นและจำเป็น โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ ปรับเข้าหาพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ national branding , corporate branding and product branding
ขณะเดียวกันในรอบปีที่ผ่านมา เราเห็นความสำเร็จของแบรนด์เล็ก ๆ และแบรนด์เกิดใหม่ของประเทศไทย ซึ่งนั่นหมายถึง SME ไทยยังมีโอกาส และโอกาสของประเทศไทยในบางอุตสาหกรรม
ถ้าการตลาดคือสงคราม "หัวใจสำคัญของสงคราม คือลูกค้า” การเข้าใจความต้องการที่แท้จริงเป็นสิ่งที่จะต้องช่วงชิงมาให้ได้ ขณะเดียวกันการใช้กำลังก็คือการใช้ทรัพยากร และบุคลากร ต้องรู้จักรุกในเวลาควรจะรุก รู้จักถอยในเวลาที่จำเป็นต้องถอย รู้จักรอคอยในเวลาที่โอกาสไม่เอื้ออำนวย เพื่อให้สามารถต่อสู้ได้นานขึ้น และเป็นกลุ่มคนที่อยู่รอด
ธุรกิจยังจำเป็นต้องปรับแนวคิดจาก Conventional Brand เป็น Sustainable Brand โดยกำหนดเป้าหมายของแบรนด์ให้เกิด Net Positive Impact ด้านธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และใช้หลัก Regenerative Marketing ในการปรับปรุง ฟื้นฟู ใช้นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจเข้มแข็ง โลกและสังคมน่าอยู่ขึ้น
ปี2568 ทางสมาคมการตลาดฯ กำหนดคาถาตลาดเป็นแนวทางการปรับตัวขององค์กรเพื่อให้ทุกท่านพร้อมรับโอกาสใหม่ ๆ ที่เข้ามาพร้อมความเปลี่ยนแปลง
AI: ใช้ปัญญาประดิษฐ์ AI ยกระดับ Customer Experience ผ่านการใช้ปัญญาประดิษฐ์และ Personalized Marketing สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้าและคู่ค้า
Balance: ช้า-เร็ว ระวังหลัง สร้างสมดุลระหว่างความรวดเร็วและความรอบคอบในการดำเนินกลยุทธ์และลงทุนกับการจัดการความเสี่ยง ทั้งนี้ต้องเร็วและอยู่บนความเข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง
Clear: ชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ วางแผนการใช้งบการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่หว่าน
Data: ชิงชัยด้วยข้อมูล เก็บ วิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีคุณภาพ เพื่อสร้างความผูกพันทางอารมณ์และความรู้สึกกับลูกค้า เพื่อที่ลูกค้าจะได้รู้สึกว่าแบรนด์เข้าใจเขาอย่างแท้จริง
****** ผลสำรวจ "ฟันธงเทรนด์การตลาด 2025 Way Forward"
ดร.สมชาติ วิศิษฐชัยชาญ อุปนายกสมาคมฯ และผศ. ดร. เอกก์ ภทรธนกุล อุปนายกสมาคมฯ ได้เปิดเผยผลสำรวจ “Marketing Trends: 2025 Way Forward” ซึ่งสะท้อนมุมมองและแนวโน้มสำคัญในแวดวงการตลาดไทยปีพ.ศ. 2568 (ค.ศ.2025) โดยรวบรวมข้อมูลจาก MAT CMO COUNCIL เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยการตลาดจำนวน 111 ท่าน
ภาพรวมเศรษฐกิจและปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตลาดไทยในปี 2025
จากผลสำรวจพบว่า 55% ของผู้บริหารมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะไม่เติบโต และโดยรวมผู้บริหารระดับสูงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเจริญเติบโตเพียง 1.65% ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในภาพรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการตลาดไทยมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เศรษฐกิจโลก ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล และความต้องการของผู้บริโภค
นอกจากนั้นผู้บริหารถึง 77.6% เห็นว่าปีนี้จะไม่เพิ่มงบประมาณการตลาด ยังมีอีก 0.41% ที่คาดการณ์ว่าจะลดงบประมาณด่านการตลาดลงอีก เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีสัดส่วนผู้ที่ไม่เพิ่มงบอยู่ที่ 50% โดยจะมุ่งเน้นการใช้งบไปในด้าน Content Platform เป็นหลัก ควบคู่ไปกับ Commerce Platform ซึ่งสมาคมฯ เน้นย้ำว่าการใช้งบประมาณการตลาดต้องทำ Content และ Commerce ไปพร้อม ๆ กันเนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเสพ Content ไปพร้อม ๆ กับการจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ผ่าน Commerce Platforms ต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผู้บริหารมองว่าผู้บริโภคในปี 2025 จะให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่สุขภาพ เทคโนโลยีดิจิทัล คุณภาพของสินค้าและบริการ ตามลำดับ
จากข้อมูลยังพบว่า อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตและได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน คือ อุตสาหกรรมสุขภาพและการดูแลตนเอง (Health and Wellness) ได้รับคะแนนสูงถึง 88.3% ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มที่คนให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น
อันดับสองคืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Quality Tourism) ซึ่งผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มเพื่อประสบการณ์ที่แตกต่างและมีคุณค่า โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Sustainable Tourism) ที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น สอดคล้องกับเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยว 39.8 ล้านคนในปีนี้ และเน้นการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคต้องการเห็นธุรกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินงานมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลเชิงลึกจากลูกค้า (Data-driven) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน
อีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจจากการสำรวจคือความสำคัญของ 3P สิ่งที่นักการตลาดและผู้บริหารให้ความสำคัญขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2025 คือ “Profit” หรือผลกำไร รองลงมาคือ “People” สังคม ชุมชน และลูกค้า ซึ่งลดลงมาจากอันดับ 1 เมื่อปีก่อน และสุดท้ายคือ “Planet” สิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยย้ำว่าการตลาดในปี 2025 นั้นไม่ง่าย เพราะต้องการทั้งความยืดหยุ่น ความพร้อมรับมือ ความชัดเจน การปรับตัวอย่างรวดเร็ว แต่ระมัดระวัง เพื่อสร้างความได้เปรียบในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดยั้ง และธุรกิจที่สามารถผสาน 3P เข้าด้วยกันอย่างสมดุลจึงจะมีโอกาสอยู่รอดและเติบโตในระยะยาว
*** เปิดแคมเปญการตลาดเด็ดคว้ารางวัล
ทั้งนี้ สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดงานประกาศรางวัล Marketing Award of Thailand สุดยอดแคมเปญการตลาด 2024 ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งจัดอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อสนับสนุนและยกย่องผลงานของนักการตลาดในประเทศไทยที่โดดเด่นในด้านกลยุทธ์ ความคิดสร้างสรรค์ และการนำนวัตกรรมการตลาดตลอดจนแนวคิดด้านการตลาดมาเป็นเครื่องมือในการตอบโจทย์ผู้บริโภคและแก้ปัญหาให้กับองค์กรได้อย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม สามารถวัดผลได้ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จ พร้อมสร้างผลลัพธ์เชิงบวกอย่างยั่งยืน ผู้ชนะรางวัลนี้จึงนับเป็นเกียรติภูมิขององค์กรและของประเทศ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างและกรณีศึกษาในการยกระดับการตลาดของประเทศไทย
การส่งแผนการตลาดเข้าประกวดในปี 2024 นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยได้รับการตอบรับจาก 83 องค์กรทั่วประเทศ ร่วมส่งผลงานเข้าประกวดถึง 140 ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานที่ดำเนินการระหว่าง เดือนมีนาคม 2566 – เดือนมีนาคม 2567 เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์ในการยกระดับการตลาดของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ผ่านการใช้ความคิดที่กลั่นกรองมาสร้างสรรค์นวัตกรรมและกลยุทธ์อันชาญฉลาด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และมีความซับซ้อนขึ้น
ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า Marketing Award of Thailand มีจุดเด่นคือ คณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตัดสินรางวัลล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาอาชีพ ครอบคลุมทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับประเทศร่วมกันผสานองค์ความรู้ ความสำเร็จและประสบการณ์มาร่วมพิจารณาเพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกแคมเปญที่ได้รับรางวัลนั้นเป็นผลงานอันยอดเยี่ยมและสร้างมาตรฐานให้กับวงการการตลาดในประเทศไทย
หลังจากการพิจารณาผลงานอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตลอดระยะเวลา 2 เดือน และการแข่งขันสิ้นสุดลงในปลายเดือนตุลาคม 2567 โดยมีผลงานผ่านเข้าถึงรอบสุดท้าย 20 ผลงาน และในวันที่ 8 มกราคม 2568 สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยจึงได้จัดพิธีประกาศผลรางวัล “Marketing Award of Thailand: สุดยอดแคมเปญการตลาด” ณ มิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ โดยมีรายนามผู้ชนะรางวัล ดังนี้
Award Category 1: Strategic Marketing
แคมเปญการตลาดที่มีความเป็นเลิศด้านกลยุทธ์สะท้อนแนวคิดทางการตลาดเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย และมีการนำกลยุทธ์มาแปรเป็นแผนปฎิบัติการที่สอดคล้อง ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ทางธุรกิจท่ามกลางการแข่งขัน และสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับแบรนด์
รางวัล Gold Award มี 1 ผลงาน ที่ได้รับรางวัล
1. ชื่อผลงาน : จากแปลงนาสู่สนามแข่ง มิติใหม่ของกีฬาเพื่อเกษตรกรไทย
โดย : บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด
รางวัล Silver Award มี 1 ผลงาน ที่ได้รับรางวัล
1. ชื่อผลงาน : The Power of Gentle Touch
โดย : บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
รางวัล Bronze Award มี 1 ผลงาน ที่ได้รับรางวัล
1. ชื่อผลงาน : Care Plus พลัสความแคร์ ให้คนที่แคร์แต่คนอื่น
โดย : บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
Award Category 2: Brand Experience & Communication
แคมเปญการตลาดที่มีความเป็นเลิศด้านการสร้างคุณค่าของแบรนด์โดยมีการถ่ายทอดจุดยืนของแบรนด์แก่กลุ่มเป้าหมายผ่านการสร้างประสบการณ์และการสื่อสารต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการสนับสนุนสินค้าหรือบริการ จนกลายเป็นความจงรักภักดีในตัวแบรนด์ และนำไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจ
รางวัล Gold Award – ไม่มีแคมเปญที่ได้รับรางวัล
รางวัล Silver Award มี 4 ผลงาน ที่ได้รับรางวัล
1. ชื่อผลงาน : #heyintrovert
โดย : บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)
2. ชื่อผลงาน : ไก่ไทยจะไปอวกาศ
โดย : บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
3. ชื่อผลงาน : THE TASTE THAT BRINGS YOU HOME
โดย : บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด
4. ชื่อผลงาน : อร่อยมงลงได้ทุกจาน
โดย : บริษัท นอติลุสฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด
รางวัล Bronze Award มี 1 ผลงาน ที่ได้รับรางวัล
1. ชื่อผลงาน : แกล้มได้ ทุกเรื่องเล่า
โดย : บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน)
Award Category 3: Innovations & Martech
แคมเปญการตลาดที่มีความเป็นเลิศด้านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ให้แก่ธุรกิจ มีแนวทางความคิดทางการตลาดที่โดดเด่น สร้างสรรค์ และมีการนำเสนออย่างลงตัว ทั้งคุณค่าของสินค้าและบริการ พร้อมสะท้อนคุณค่าของแบรนด์ โดยใช้นวัตกรรมและเครื่องมือทางการตลาดที่ทันสมัย และนำไปสู่ผลลัพธ์ทางธุรกิจ
รางวัล Gold Award – ไม่มีแคมเปญที่ได้รับรางวัล
รางวัล Silver Award มี 2 ผลงาน ที่ได้รับรางวัล
1. ชื่อผลงาน : วัดจู๋ไม๊
โดย : บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด
2. ชื่อผลงาน : ทุกเรื่องรถ จัดการได้ ในทัชเดียว by ttb touch
โดย : ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)
รางวัล Bronze Award มี 1 ผลงาน ที่ได้รับรางวัล
1. ชื่อผลงาน : Kubota Service DA(Y)TA : รู้ก่อนพร้อมกว่า
โดย : บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด
Award Category 4: Sustainable Marketing
แคมเปญการตลาดที่มีความเป็นเลิศด้านความยั่งยืน โดยสามารถสะท้อนจุดยืนของแบรนด์ ในการหวังผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึง stakeholder ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวองค์กร พนักงาน ลูกค้า ซัพพลายเออร์ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม และสร้างผลลัพธ์เชิงบวกอย่างโดดเด่น มีนัยยะสำคัญ
รางวัล Gold Award – ไม่มีแคมเปญที่ได้รับรางวัล
รางวัล Silver Award มี 3 ผลงาน ที่ได้รับรางวัล
1. ชื่อผลงาน : Brewing The Zero Waste Coffee to Happy Breakfast
โดย : บริษัท เอ็มเอฟ คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอรองต์ จำกัด
2. ชื่อผลงาน : พอดีไม่เหมือนกัน
โดย : บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด
3. ชื่อผลงาน : Eco industrial Bag, Inclusive Green Growth
โดย : บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด
รางวัล Bronze Award มี 2 ผลงาน ที่ได้รับรางวัล
1. ชื่อผลงาน : KUBOTA Turn Waste to Agri Wear
โดย : บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด
2. ชื่อผลงาน : ลอก แยก ทิ้ง Just Peel Feel Good
โดย : Thai Paper Co.,Ltd.
“สุดยอดแคมเปญแห่งปี” อีก จำนวน 2 รางวัล คือ
1. CMO’s Top Choice Award สุดยอดแคมเปญจากเสียงโหวตของ CMO เป็นรางวัลพิเศษสำหรับ แคมเปญที่ได้รับรางวัล Marketing Award of Thailand และได้รับการโหวตด้วยคะแนนสูงสุด จาก MAT CMO COUNCIL ซึ่งเป็นคณะผู้บริหารระดับสูงด้านการตลาดกว่า 100 ท่าน จากบริษัทชั้นนำในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ
ผลงานที่ชนะ : ไก่ไทยจะไปอวกาศ
โดย : บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
2. Grand Prize สุดยอดแคมเปญการตลาดแห่งปี สำหรับแคมเปญที่มีความเป็นเลิศทั้งในเชิงกลยุทธ์ วิธีการ ความคิดสร้างสรรค์ และผลลัพธ์ที่น่าทึ่งในกลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ เป็นผลงานที่สะท้อนความภาคภูมิใจและความสำเร็จในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการตลาดอย่างแท้จริง ผู้ชนะรางวัลนี้ คือ ผู้ที่ชนะรางวัล Gold Award จาก 4 กลุ่มรางวัล และได้รับการโหวตสูงสุดจากคณะกรรมการผู้ตัดสิน คณะกรรมการสมาคมการตลาด และ คณะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของโครงการ
ผลงานที่ชนะ : จากแปลงนาสู่สนามแข่ง มิติใหม่ของกีฬาเพื่อเกษตรกรไทย
โดย : บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด