- • เหลือเพียงการต่อรองราคาสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง
- • บริษัท UTA พร้อมเดินหน้าก่อสร้าง ขอรัฐประกาศพื้นที่ปลอดอากรเมืองการบินเพื่อดึงดูดเอกชนลงทุน
“อีอีซี” คาด ก.พ.นี้กองทัพเรือเริ่มสร้างรันเวย์ 2 สนามบินอู่ตะเภา เผยเหลือแค่ต่อรองราคาสัญญาจ้างที่ปรึกษาคุมก่อสร้าง ด้าน UTA พร้อมเดินหน้าก่อสร้างขอรัฐประกาศพื้นที่ปลอดอากรเมืองการบินเพื่อจูงใจเอกชนเข้าลงทุน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกว่า หลังจากที่กองทัพเรือ (ทร.) ได้สรุปผลการประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) แล้วคือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ขณะนี้ยังรอสรุปผลการคัดเลือกที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) ซึ่งอยู่ระหว่างต่อรองราคาเนื่องจากวงเงินยื่นประมูลเกินจากราคากลาง และกรอบงบประมาณ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปและลงนามสัญญากับผู้รับจ้างก่อสร้างและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างเพื่อเริ่มก่อสร้างรันเวย์ได้ภายในเดือน ก.พ. 2568
ทั้งนี้ เมื่อกองทัพเรือเริ่มก่อสร้างรันเวย์ ทาง บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะเริ่มก่อสร้างในส่วนอาคารผู้โดยสารและเมืองการบิน หรือ Airport City ซึ่งจากการหารือกับ UTA เห็นว่าจะไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่าจะได้ก่อสร้างเมื่อไรแล้ว เพราะการพัฒนาเมืองการบินจะมีส่วนสำคัญในการสร้างดีมานด์ให้เกิดความต้องการในการเดินทางขึ้นมาได้แน่นอน
นายจุฬากล่าวว่า ประเด็นที่ UTA ขอให้ภาครัฐมีความชัดเจน คือเรื่องการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดภาษีเพื่อเดินหน้าในส่วนของเมืองการบิน ซึ่งเรื่องนี้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมให้พื้นที่เมืองการบินเป็นเขตปลอดภาษีแต่ในทางปฏิบัติจะต้องมีการออกประกาศ ยกเว้นอากร สำหรับสิ่งของที่จะนำมาบริโภคในพื้นที่เมืองการบิน ทาง UTA อยากให้มีประกาศกรมศุลกากร ประกาศกรมสรรพสามิต เหมือนที่มีประกาศเรื่องสถานบันเทิงเปิด 24 ชม.ในพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อจูงใจเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่เมืองการบิน ที่จะมีทั้งโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารบริการต่างๆ หากนำเข้ามาบริโภคภายในพื้นที่เมืองการบินจะไม่มีอากรนำเข้า
“ตอนนี้ทางอีอีซีได้มีการหารือกับกระทรวงการคลัง กรมศุลกากร กรมสรรพสามิตแล้ว เพื่อดำเนินการออกประกาศในพื้นที่อีอีซีเป็นแพกเกจ เพราะในพื้นที่เมืองการบิน UTA วางผังไว้จะมีธุรกิจหลากหลาย และใช้เงินลงทุนสูง ต้องหาพันธมิตรเข้ามาลงทุน ทั้งโรงแรม ร้านอาหารระดับมิชลิน เรื่องนี้จะช่วยจูงใจเอกชนได้มาก”
นอกจากนี้ อีอีซี UTA และกองทัพเรือได้มีการหารือร่วมกันในแนวทางที่จะให้ UTA เข้าร่วมบริหารอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันกับกองทัพเรือ เพื่อสามารถที่จะวางการตลาดด้านการบินไว้ล่วงหน้า และเมื่อเปิดสนามบินอู่ตะเภาตามสัญญาสัมปทานในปี 2572 ก็จะทำให้มีเที่ยวบิน Tranfer ไปใช้บริการได้ทันที ซึ่งทั้งสองฝ่ายอาจจะมีการทำเป็นข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณเที่ยวบินและสายการบินเชิงพาณิชย์ และเกิดประโยชน์ต่อสนามบินอู่ตะเภาในภาพรวม
สำหรับสนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินมีพื้นที่รวม 6,500 ไร่ มี 3 โครงการ คือ 1. Airport Terminal พื้นที่ 1,482 ไร่ 2. Air Cargo & Logistics พื้นที่ 348 ไร่ 3. Airport City พื้นที่ 1,058 ไร่ ซึ่งในพื้นที่ Airport City ประกอบด้วย กิจกรรมศูนย์การค้าระดับโลก MICE, Indoor Arena, โรงแรม, สนามแข่งรถ, ร้านอาหาร, Medical Tourism Hub
ส่วน Airport Terminal มีการปรับจากแผนเดิมที่แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 เฟส โดยเฟสแรกรองรับที่ 15.9 ล้านคน และสูงสุดรับที่ 60 ล้านคนภายใน 50 ปี เป็นการพัฒนา 6 เฟส โดยแฟสแรกรองรับที่ 12 ล้านคน เฟส 2 รองรับเป็น 20 ล้านคน เฟส 3 รองรับเป็น 30 ล้านคน เฟส 4 รองรับเป็น 42 ล้านคน เฟส 5 รองรับเป็น 51 ล้านคน เฟส 6 รองรับเป็น 60 ล้านคน ซึ่งมีเงื่อนไขว่าเมื่อมีผู้โดยสารที่ 80% ของขีดความสามารถแล้วจึงจะพัฒนาในเฟสต่อๆ ไป