xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ชูนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ดันดุลการค้าสหรัฐฯ แทนนำเข้าหมู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางแรงกดดันด้านนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้แนวคิด “America First” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ แทนการเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อเกษตรกรและความปลอดภัยทางอาหารในประเทศไทย

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า แม้สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะกดดันให้ไทยนำเข้าสินค้าเกษตร เช่นเนื้อหมู เพื่อลดการขาดดุลกับไทย แต่การยอมรับข้อเสนอนี้จะสร้างผลกระทบมหาศาล เนื่องจากเนื้อหมูจากสหรัฐฯ มีสารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐานที่กฎหมายไทยกำหนด ซึ่งเป็นภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค

“รัฐบาลไทยต้องยืนหยัดปกป้องอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกว่า 2 แสนคนและรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศให้เข้มแข็ง” นายสิทธิพันธ์กล่าว พร้อมแนะนำแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย นั่นคือการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง


ประเทศไทยต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ถึง 8.9 ล้านตันต่อปี แต่ยังขาดแคลนถึง 4 ล้านตัน แม้จะรับซื้อผลผลิตของชาวไร่ไทยจนหมดแล้ว ขณะที่ความต้องการถั่วเหลืองและกากถั่วอยู่ที่ 5-6 ล้านตันต่อปี แต่ไทยสามารถผลิตได้เพียง 23,000 ตัน หรือไม่ถึง 1% ของความต้องการ การนำเข้าวัตถุดิบนี้จากสหรัฐฯ ซึ่งมีมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน เช่น GAP (Good Agricultural Practices) และ RTRS (Responsible Soy) ไม่เพียงตอบสนองความต้องการของตลาดไทย แต่ยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะยุโรปที่มีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวดด้วย


นอกจากนี้ การเลือกนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์แทนการนำเข้าเนื้อหมู ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศ เช่น ปัญหา PM2.5 ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการลักลอบเผาแปลงเกษตร พร้อมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ เช่น การสนับสนุนอุตสาหกรรมไก่ส่งออกของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดยุโรปที่ต้องการมาตรฐาน CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)

“นี่คือทางออกที่ยั่งยืนที่สุด ปกป้องสุขภาพคนไทย คุ้มครองอาชีพเกษตรกร และสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศในเวทีโลก” นายสิทธิพันธ์ย้ำ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเจรจาในแนวทางนี้ เพื่อช่วยเพิ่มดุลการค้าให้สหรัฐฯโดยไม่กระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เป็นคำตอบที่สามารถรักษาสมดุลทางการค้าและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของไทยได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น