ผู้จัดการรายวัน 360 - เจโทรแถลงผลสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี 2567 พบมี 5,916 ร้าน เพิ่มขึ้น 2.9% จากปีที่แล้ว แต่การแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นส่งผลให้อัตราการเพิ่มชะลอลงกว่าที่ผ่านมา ส่วนร้านประเภทซูชิ มีจำนวนที่ลดลงจากในอดีตต่อเนื่อง
นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ แถลงผลการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี 2567 ว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด
การสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยประจำปี 2567 พบว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวน 5,916 ร้านเกือบถึง 6,000 ร้าน เพิ่มขึ้น 165 ร้าน หรือ 2.9% เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่แล้ว (ปี 2566 มี 5,751 ร้าน) โดยมีจำนวนร้านเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ (2.7%) 5 จังหวัดปริมณฑล (2.7%) และต่างจังหวัด (3.1%)
โดยภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นเป็นประเภทร้านที่มีจำนวนร้านมากที่สุด รองลงมาคือร้านซูชิ แต่ร้านซูชิมีแนวโน้มลดลง
เมื่อวิเคราะห์ตามประเภทร้านอาหารพบว่า ร้านประเภทโซบะ/อุด้ง ร้านคาเฟ่ และร้าน Izakaya มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่ร้านซูชิซึ่งเป็นประเภทร้านที่มีจำนวนร้านมากที่สุดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2566 ปีที่แล้วเปิดใหม่ 181 ร้าน แต่ก็มีการปิดตัวไป 274 ร้าน ลดลงเหลือ 1,279 ร้าน หรือ ติดลบ6.8% ลดอันดับลงไปอยู่รองจากร้านประเภทภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดคือ 1,439 ร้าน
เหตุผลที่ร้านประเภทซูชิลดลง จากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น หลายท่านให้ความเห็นว่า หลายปีที่ผ่านมามีร้านซูชิคุณภาพดีและราคาไม่แพงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการซูชิที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้นกว่าในอดีต ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร้านซูชิที่แข่งขันกันด้านราคา อีกทั้งร้านที่เริ่มขายไม่ดีสินค้าก็อาจมีเหลือ ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการวัตถุดิบ อาจทำให้ไม่สด และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนร้านซูชิมีจำนวนลดน้อยลง
เมื่อวิเคราะห์ร้านตามระดับราคาเฉลี่ยต่อหัวพบว่า ร้านที่มีราคาเฉลี่ยต่อหัว 101 - 250 บาท มีจำนวนมากที่สุด ( 2,057 ร้าน ) รองลงมาคือระดับราคา 251 - 500 บาท ( 1,401 ร้าน ) ตามด้วยระดับราคาต่ำกว่า 100 บาท ( 749 ร้าน ) ระดับราคา 501 - 1,000 บาท ( 681 ร้าน ) และระดับราคามากกว่า 1,000 บาท ( 270 ร้าน ) โดยร้านระดับราคามากกว่า 1,000 บาทมีอัตราเพิ่มมากขึ้นถึง 13.9%
สำหรับร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัด จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 23 ร้าน รวมเป็น 280 ร้าน จังหวัดนครปฐมมีเพิ่มขึ้น 15 ร้าน รวมเป็น 104 ร้าน จังหวัดภูเก็ตมีเพิ่มขึ้น 11 ร้าน รวมเป็น 142 ร้าน ทั้งนี้ มีร้านอาหารญี่ปุ่นดำเนินกิจการอยู่ในทุกจังหวัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563
การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารโดยรวมทวีความรุนแรงขึ้นรวมทั้งธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีการรับประทานอาหารญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน ชาวไทยจึงคุ้นเคยกับอาหารญี่ปุ่นเป็นอย่างดี อุปสงค์ต่ออาหารญี่ปุ่นจึงจะยังคงมีอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดแนวโน้มของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมพร้อมทั้งค้นหาเทรนด์ใหม่ๆ ของอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ร้านอาหารญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นไปสู่นานาประเทศทั่วโลก พร้อมกันนั้นยังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นปัจจัยขยายการส่งออกผลผลิตเกษตร ป่าไม้ ประมงและสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า “สิ่งสำคัญในการขยายการส่งออกสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยหลังจากนี้ไป คือ การเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคในตัวเมืองที่ชอบอาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำรับหรือของแท้ดั้งเดิม และเสริมสร้างความรู้ เปิดประสบการณ์การทานอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ยังไม่แพร่หลายให้แก่ผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”
ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า มูลค่าของธุรกิจรร้านอาหารปี 2567 จะเติบโต 8.9% จากปีก่อนหน้า คิดเป็น 5.45 แสนล้านบาท โดยร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรููปแบบจะเติบโตจากปี2566 คิดเป็น 2.07 แสนล้านบาท ซึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นจำนวนมากจัดอยู่ในกลุ่มนี้