xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” เข็นลงทุนปี 68 รวม 223 โครงการ 1.36 แสนล้าน ผุด 116 โครงการใหม่ วงเงิน 8.28 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • มีโครงการใหม่ 116 โครงการ วงเงิน 8.28 หมื่นล้านบาท
  • • มีแผนลงทุนต่อเนื่องในปี 2569 อีก 64 โครงการ วงเงิน 1.16 แสนล้านบาท
  • • โครงการครอบคลุมมอเตอร์เวย์ ทางด่วน ทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง


“สุริยะ” เข็นลงทุนโปรเจกต์ "คมนาคฒ" ปี 68 รวม 223 โครงการ วงเงิน 1.36 แสนล้าน ผุด 116 โครงการใหม่ วงเงิน 8.28 หมื่นล้านบาท พร้อมดันอีก 64 โครงการลงทุนปี 69 วงเงิน 1.16 แสนล้าน ทั้งมอเตอร์เวย์-ทางด่วน-ท่าเรือท่องเที่ยว-ทางคู่-ไฮสปีด-สนามบิน

วันที่ 8 มกราคม 2568 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย” เพื่อวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2568 และปี 2569 ให้เป็นรูปธรรม ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยกระดับให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัดฯ ได้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสำคัญในปี 2568 พร้อมทั้งได้ระดมความคิดในการวางแผนงานการดำเนินงานโครงการใหม่ที่สำคัญในปี 2569 เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทย ให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในระดับภูมิภาค” อย่างยั่งยืน

กระทรวงคมนาคมได้วางแผนการดำเนินโครงการด้านคมนาคมในปี 2568 จำนวนทั้งสิ้น 223 โครงการ วงเงินลงทุน 136,492.43 ล้านบาท เป็นโครงการต่อเนื่อง 107 โครงการ วงเงินลงทุน 53,622.78 ล้านบาท และโครงการใหม่ 116 โครงการ วงเงินลงทุน 82,869.65 ล้านบาท โดยแบ่งตามรูปแบบการขนส่งเพื่อให้เห็นทิศทางภาพความสำเร็จการดำเนินงานเป็น 5 มิติ ดังนี้


1. มิติพัฒนาการขนส่งทางถนน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ยกระดับความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน และพัฒนาการขนส่งระหว่างเมือง 50 โครงการ แบ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 15 โครงการ และโครงการใหม่ 35 โครงการ เช่น โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา) และขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M5 ทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร M9 ช่วงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ให้ครบทุกเส้นทาง เพื่อเป็นวงแหวนที่สมบูรณ์ โครงการแก้ไขปัญหาจราจรเมืองหลักในภูมิภาค จ.ภูเก็ต (ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้-ป่าตอง) และ จ.เชียงใหม่ (บริเวณแยกสันกลาง แยกต้นเปาพัฒนา แยกซูเปอร์ไฮเวย์ แยกกองทราย แยกสะเมิง)

2. มิติพัฒนาการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญโดยส่งเสริมพัฒนาการขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 41 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 17 โครงการ เช่น การส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การจัดหารถเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า 1,520 คัน และรถโดยสารระหว่างจังหวัดพลังงานไฟฟ้า 54 คัน การพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) เพื่อยกระดับการให้บริการ มีสิ่งอำนวยความสะดวก รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่จราจรหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ และเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางบก

3. มิติการพัฒนาการขนส่งทางราง ได้ให้ความสำคัญในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เปลี่ยนการขนส่งจากถนนมาสู่ทางรางและน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนโลจิสติกส์ โดยในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 69 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 36 โครงการ เช่น การผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม และร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ รวมถึงการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่าง พ.ร.บ. และการเดินหน้านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสาย เพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 3 เส้นทางเพื่อเติมเต็มโครงข่ายรถไฟฟ้าให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

4. มิติการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ในปี 2568 มีโครงการที่สำคัญ 26 โครงการ เป็นโครงการต่อเนื่อง 20 โครงการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาการขนส่ง เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างการเป็น Hub เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในทุกมิติ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์และการท่องเที่ยว โดยให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) สมุย พัทยา ภูเก็ต และพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) 29 แห่ง สู่ความเป็นมาตรฐานสากล

5. มิติการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ได้เร่งรัดเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคหรือ Aviation Hub ด้วยการยกระดับการให้บริการ 37 โครงการ แบ่งเป็น โครงการต่อเนื่อง 19 โครงการ เช่น การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 การพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ระยะที่ 1 ต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานชุมพร รวมทั้งการเตรียมความพร้อมการให้บริการการเดินอากาศ รองรับการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล (Seaplane Operations) และติดตั้ง Automatic Border Control ระยะที่ 2 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ณ บริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง


@ ปี 69 จัดคิวลงทุนอีก 64 โครงการ 1.16 แสนล้านบาท

สำหรับแผนการดำเนินโครงการในปี 2569 จำนวน 64 โครงการ วงเงินลงทุนประมาณ 116,962.12 ล้านบาท แบ่งเป็น 5 มิติ ประกอบด้วย มิติพัฒนาการขนส่งทางถนน 21 โครงการ โดยจะเร่งผลักดันการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์และทางพิเศษ เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางและการขนส่งสินค้า เช่น การแก้ไขปัญหาจราจร จ.เชียงใหม่ โครงก่อสร้างทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ และการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางสู่เมืองหลักในภูมิภาค เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ศึกษาและออกแบบเส้นทาง MR1 ช่วงนครปฐม-นครสวรรค์ ที่ใช้เขตทางร่วมกันระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ ตามแผนแม่บท MR-Map และวงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านเหนือ ช่วงสุพรรณบุรี-ทล.32

สำหรับมิติพัฒนาการขนส่งทางบก ได้ดำเนินโครงการใหม่ 10 โครงการ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของการให้บริการรถสาธารณะ พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและกระจายสินค้า ขับเคลื่อนไทยสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค เช่น ศึกษาจัดทำรถโดยสารสาธารณะต้นแบบ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและกระจายสินค้า อาทิ การก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี พัฒนาระบบการกำกับดูแลการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกผ่านระบบดิจิทัล 


การขับเคลื่อนมิติการพัฒนาระบบขนส่งทางราง จำนวน 14 โครงการ เพื่อเติมเต็มโครงข่ายระบบราง ยกระดับการเดินทางของประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) รวมถึงการเพิ่มศักยภาพด้านระบบรางของประเทศ ผลักดันการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย และจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ 113 คัน เป็นต้น

ขณะที่การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาเขื่อนกันทรายและคลื่นบริเวณร่องน้ำ 10 โครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้า-ออกของเรือโดยสารและเสริมทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายหาด เช่น เสริมทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะบริเวณชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ชายหาดชะอำ จ.เพชรบุรี เขาหลัก-แหลมปะการัง จ.พังงา ชายหาดสมิหลา จ.สงขลา หาดบางเสร่ จ.ชลบุรี กันทรายและคลื่นบริเวณร่องน้ำปากพร-สารสิน จ.ภูเก็ต รวมทั้งศึกษาแนวทางการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางมารีนาของภูมิภาคอาเซียน พร้อมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้บูรณาการความร่วมมือ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล หรือ Seaplane Operations

นอกจากนี้ มิติการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ เสริมศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 9 โครงการ เช่น ก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารด้านทิศตะวันออก (East Expansion) และออกแบบอาคารผู้โดยสารด้านใต้ (South Terminal) และทางวิ่งเส้นที่ 4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ


“กระทรวงคมนาคมมีความพร้อมที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กระผมรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะได้ติดตามเร่งรัดการดำเนินงานให้เร็ว เป็นไปตามแผน เกิดผลในทางปฏิบัติ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อโอกาสประเทศไทยต่อไป” นายสุริยะกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น