ในปีพ.ศ.2567 ที่ผ่านมา (ค.ศ.2024) กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน “มากที่สุด” เป็นอันดับ1 ของโลก โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือน 32.4 ล้านคน แซงหน้าแชมป์เก่าในปี2566อย่าง อิสตันบูล นครหลวงของประเทศตุรกี (รายงานโดยยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล)
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า กระแสการหลั่งไหลเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างประเทศในช่วงเวลานี้ ได้เริ่มขยับขึ้นมาอย่างโดดเด่นชัดเจนหลังยุคโควิด-19 ขณะเดียวกันแนวโน้มเชิงบวกดังกล่าว ได้จุดกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำขึ้นมารองรับการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ควบคู่ไปกับการตรวจสอบ ระบุ และแสดงตัวตนของบุคคล ที่ไม่เพียงอำนวยความสะดวกรวดเร็ว แต่ยังเพิ่มทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัย
*** เปิด 4 เทรนด์สำคัญกระแสนิยม
HID ผู้นำด้านโซลูชันระบุตัวตนระดับโลก เปิดเผยในเวทีงาน 7BMIC ซึ่งเป็นการประชันเทคโนโลยีก้าวหน้าทางด้านการจัดการชายแดนและอัตลักษณ์ระดับนานาชาติ จัดขึ้นโดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเร็วๆนี้ ระบุว่า แนวโน้มที่น่าจับตาและจะเป็นกระแสนิยมในปี ค.ศ. 2025 ทั้งยังจะเป็นทิศทางระดับโลกต่อไปในอนาคต มี 4 เทรนด์สำคัญ ดังต่อไปนี้
1) เทคโนโลยีอัตโนมัติ และการบริการตนเอง (more automation & self-service) เช่น การเช็คอินด้วยตนเอง (self-check in) หรือระบบการแสดงตัวตนและตรวจสอบบุคคลด้วยตนเองผ่านระบบอัตโนมัติ เมื่อเดินทางระหว่างประเทศ
2) เทคโนโลยีไร้สัมผัส (contactless) เช่น การแสดงอัตลักษณ์บุคคลผ่านระบบจดจำใบหน้า (facial recognition) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ (Biometrics) อันเป็นเทคโนโลยีในการระบุยืนยันถึงตัวตนตามลักษณะ ทางกายภาพของแต่ละบุคคล เป้าหมายเพื่อทดแทนการตรวจเอกสาร หรือพิมพ์ลายนิ้วมือซึ่งต้องใช้การสัมผัสและได้รับความนิยมน้อยลงหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19
3) ระบบอำนวยความสะดวกและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง (convenience and security for travelers) เช่น กระบวนเข้าเมืองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งหนังสือเดินทางยุคใหม่ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น
4) ระบบอัจฉริยะในการจัดเก็บข้อมูลผู้เดินทาง (Advanced Passenger Information: API) ที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยง
*** เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มความสะดวกสบายให้นักเดินทาง
นายลี เว่ย จิน (Lee Wei Jin) ผู้อำนวยการ ธุรกิจ FARGO, Secure Issuance ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ HID ให้ความเห็นว่า ท่ามกลางบริบทที่ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี เทรนด์ดิจิทัลที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางข้ามพรมแดนทั้งในแง่ผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า (cross-border travel and trade) ก็คือ บริการโซลูชันขั้นสูงที่จะเข้ามาช่วยจัดระบบกระบวนการศุลกากร การตรวจคนเข้าเมือง เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับการเดินทางข้ามพรมแดนไม่ว่าจะเป็นคนหรือสินค้า และที่สำคัญคือเพิ่มความปลอดภัย
“เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ที่เราเคยต้องทำด้วยมือ หรือต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ เราสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการเดินทางข้ามพรมแดนไม่ว่าจะทางบกหรือทางอากาศ เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสนามบินต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยที่มีการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้กันแล้วในสนามบิน 6 แห่ง”
เว่ย จิน กล่าวว่า HID พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์โลกในแง่นี้ เพราะมีทั้งอุปกรณ์และโซลูชันเกี่ยวกับการตรวจสอบและการแสดงอัตลักษณ์บุคคล รวมทั้งระบบนิเวศที่ครบวงจรสำหรับการระบุตัวตนของบุคคลทั้งบนบัตรที่จับต้องได้ เช่น บัตรประชาชน บัตรประจำตัวพนักงาน ใบขับขี่ บัตรนักเรียนนักศึกษา บัตรเจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรเอกชน รวมทั้งระบบแสดงตัวตนบุคคลบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ในการแสดงตัวตนและเก็บข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างปลอดภัย
การปลอมแปลงหนังสือเดินทาง บัตรประชาชน หรือเอกสารแสดงตัวตนอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์อาจจะเป็นดาบสองคมที่เหล่ามิจฉาชีพนำมาใช้ แต่นั่นก็เป็นโจทย์ที่ทำให้บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีต้องขบคิดหาวิธีรับมือและแนวทางป้องกัน
เอเดรียน เลอโมน (Adrien Lemoine) ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย ธุรกิจ Citizen Identity Solutions ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ HID เปิดเผยว่า เทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่องนี้ก้าวไกลไปมาก ยกตัวอย่าง พาสปอร์ตหรือหนังเดินทางที่ HID ได้ออกแบบและพัฒนาให้กับประเทศเอสโตเนีย (ในปี 2023) และบาห์เรน (ในปี 2024) เป็นหนังสือเดินทางยุคใหม่ที่ไม่เพียงมีความสวยงาม และแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศดังกล่าว แต่ยังแฝงไว้ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ให้ความมั่นใจสูงสุดในแง่ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความคงทนของการใช้งาน ไม่ว่าจะในหน้าข้อมูล (data page) ของหนังสือเดินทาง หรือทั้งเล่มโดยภาพรวม คุณลักษณะใหม่ๆ ยังประกอบด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในรูปของช่องเจาะใส (transparent windows) ในหน้าข้อมูลที่ทำงานร่วมกับแสงยูวี (UV) และการสัมผัส
แพตทริค หลี่ (Patrick Li) ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย Biometric Identity Technologies ของ HID ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางบริบทที่ผู้คนเดินทางระหว่างประเทศมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการเดินทางภายในประเทศ เราสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงว่า ทำอย่างไรถึงจะได้ทั้งความปลอดภัยสูงสุด โดยไม่ทำให้เสียเวลาเพิ่มมากขึ้น หรือต่อแถวยาวขึ้นที่สนามบินหรือที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง
“เทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างไบโอเมทริกซ์ เช่น การจดจำใบหน้าเพื่อแสดงอัตลักษณ์บุคคลแทนการตรวจเอกสาร คือคำตอบ” แพตทริคยกตัวอย่างระบบจดจำใบหน้าแทนการใช้เอกสารการเดินทางที่สนามบินชางอีสำหรับประชาชนผู้ถือพาสปอร์ตสิงคโปร์ ซึ่งเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และลดการสัมผัส นับเป็นตัวอย่างที่ดี ขณะที่ประเทศไทยเอง ก็มีการนำระบบจดจำใบหน้าแทนการใช้เอกสารตรวจคนเข้าเมืองมาใช้สำหรับชาวไทยที่สนามบินแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่แพตทริคเห็นว่าเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลนานาประเทศ นั่นก็คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้จำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุน ซึ่งหนึ่งในทางออกที่ดีคือการเชิญชวนภาคเอกชนเข้ามาลงทุนร่วมกับภาครัฐนั่นเอง