- • เน้นสร้างท่าเรือสำราญรองรับ 4,000-5,000 คน
- • เป้าหมายคือการเป็น Home Port ทั้งต้นทางและปลายทาง รวมถึงจุดแวะรับส่งเสบียง
- • คาดหวังสร้างงานและกระตุ้นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
- • ปี 2569 จัดงบศึกษาความเป็นไปได้และร่วมลงทุนแบบ PPP
- • วางแผนเปิดพร้อมกับสนามบินอู่ตะเภา
“อีอีซี”เปิดแผนพัฒนา”ท่าเรือจุกเสม็ด”ดึงเอกชนร่วมทุน ผุดท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) ขนาด 4,000-5,000 คน ปั้น Home Port เป็นต้นทางปลายทาง แวะรับส่งเสบียง สร้างงาน-อุตฯต่อเนื่อง ตั้งงบ 40 ล้านบาทปี 69 ลุยจ้างศึกษา PPP ดันเปิดพร้อม”สนามบินอู่ตะเภา”หวังเพิ่มดีมานด์เชื่อมเมืองการบิน
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมกตารนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ขณะนี้ อีอีซี มีแผนในการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณท่าเรือจุกเสม็ด อำเภอสัตหีบ จังวัดชลบุรี โดยได้เตรียมตั้งงบปี 2569 วงเงินประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนาท่าเรือต้นทาง (Home Port) จุดเสม็ดสำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ในรูปแบบการร่วมลงทุนเอกชน (PPP EEC Track )
โดยได้มีการหารือกับ ทางกองทัพเรือ เบื้องต้นแล้ว เพื่อขอใช้พื้นที่ทำโครงการฯซึ่งกองทัพเรือสามารถบริหารจัดการพื้นที่ และไม่กระทบกับการใช้งานในปัจจุบัน โดยอีอีซีจะประมูลคัดเลือกหาผู้ร่วมลงทุนในการปรับปรุงท่าเรือจุกเสม็ด เนื่องจาก บริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสม โดยอยู่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภา ประมาณ
7 กม.เท่านั้น มีถนนขนาด 2 ช่องจราจรเข้าออกสะดวก และสามารถขยายได้ รวมถึงจัดระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อจากท่าเรือจุกเสม็ดเพื่อเข้าสู่พื้นที่เมืองการบิน รวมไปถึงในพื้นที่อีอีซี
3 จังหวัด ชลบุรีฉะเชิงเทรา และระยอง สะดวกและใช้เวลาเดินทางไม่นาน
นายจุฬากล่าวว่า อีอีซี มีแนวคิดจะพัฒนาให้ท่าเรือจุกเสม็ดเป็นท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ รองรับเรือบรรทุกผู้โดยสารประมาณ 4,000-6,000 คน โดยจะออกแบบให้สามารถจอดเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ เพื่อเป็นทางเลือกให้สายเรือกำหนดเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยว ลักษณะเป็น Home Port ที่เป็นทั้งต้นทางปลายทาง และเป็นจุดสำหรับ การขึ้น-ลงเสบียงเพื่อบริการบนเรือ ซึ่งจะทำให้เกิดธุรกิจ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ในการให้บริการบนเรือ และเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่และส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ หากประเมินจากหลักการให้บริการ เรือบรรทุก ผู้โดยสาร 4,000 คน จะต้องมีพนักงานและผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องประมาณ 1,000 คน ทั้งบริการด้านอาหาร การจัดการที่พัก และสิ่งอำนวยความสะดวก เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มแน่นอน
ส่วนเหตุผล ที่ต้องเป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน ( PPP) เนื่องจากผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาท่าเรือสำราญควรเป็นผู้ประกอบการสายเรือ หรือประกอบธุรกิจเดินเรือท่องเที่ยว หรือมีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะสามารถหาลูกค้า ทำการตลาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้โครงการประสบความสำเร็จ ในขณะที่การลงทุนโครงการนี้จะไม่สูงมากนัก เนื่องจากปัจตุันท่าเทียบเรือจุกเสม็ด มีความพร้อมค่อนข้างมาก ทั้งพื้นที่หน้าท่า และความลึกร่องน้ำประมาณ 18 เมตร สามารถรองรับเรือขนาใหญ่ได้ เพียงแต่บริหารจัดการดูแลร่องน้ำเท่านั้น ดังนั้นเอกชนที่เข้ามาจะลงทุน ในส่วนของการพัฒนาอาคารผู้โดยสาร ทางเดินลงเรือ หรือสะพานเทียบเรือ และเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่จะมากับเรือ และผู้คนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องในด้านการให้บริการ
“ปัจจุบัน เรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่มีเส้นทางผ่านประเทศไทย ไม่ได้เข้าเทียบท่าแต่เป็นการแวะจอดชั่วคราว โดยเรือจะลอยลำอยู่นอกฝั่ง และใช้เรือเล็กขนส่งนักท่องเที่ยวเข้ามา ท่องเที่ยวตามสถานีที่ต่างๆ เช่นภูเก็ต พัทยา
เป็นต้น แล้วกลับขึ้นไปนอนบนเรือ”เลขาฯอีอีซีกล่าว
อย่างไรก็ตาม อีอีซี วางเป้าหมาย แผนงานจะจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาและดำเนินการคัดเลือกเอกชน เพื่อพัฒนาท่าเรือต้นทาง (Home Port) จุดเสม็ดให้แล้วเสร็จ และเปิดบริการได้พร้อมกับสนามบินอู่ตะเภา เพราะโครงการนี้ จะเป็นส่วนที่จะช่วยสร้างดีมานด์เชื่อมสู่สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินได้อีกทาง