xs
xsm
sm
md
lg

จบมหากาพย์'สายสีแดง'รฟท.แพ้ค่า VO ดันงบรวมทะลุแสนล้าน’สุริยะ’สั่งหาต้นตอออกคำสั่งเกินอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาลปกครองสูงสุดไม่รับอุทธรณ์ จบปมค่างาน VO รถไฟสายสีแดง ควักจ่ายเพิ่มอีก 4.2 พันล้านบาท“สุริยะ”สั่งเช็คประเด็นคำสั่งทำงานเพิ่มเกินอำนาจ ด้าน”วีริศ”ตั้งคณะทำงาน เล็งต่อรอง”ยูนิค”ลดดอกเบี้ย ล่าสุดค่าก่อสร้างทะลุ 1 แสนล้านบาท 

จากกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 ไม่รับคำอุทธรณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  ไว้พิจารณา โดยมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ที่ไม่รับคำอุทธรณ์ ของการรถไฟฯ หลังจากที่ คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 79/2564 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 79/2565 ลงวันที่  21 พ.ย. 2565 ให้  การรถไฟฯ  ชำระเงินให้ กิจการร่วมค้า เอส ยู  ที่มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญา โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ตามคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน เพิ่มเติม (Variation order - VO) จำนวน 4,204,286,694.83 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 27,654,882.90 บาท 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้รับทราบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวแล้ว และได้สั่งการให้การรถไฟฯเร่งพิจารณาระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพราะกรณีนี้หากต้องจ่ายเงินตามที่คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดเป็นวงเงินค่อนข้างสูง ดังนั้นต้องตรวจสอบในทุกกระบวนการว่า เหตุใดจึงทำให้ศาลมีคำตัดสินออกมาแบบนี้ และทางการรถไฟฯยังจะสามารถทำอะไรได้อีกหรือไม่ 

หากเรื่องถึงที่สุดแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว ในส่วนของการรถไฟฯจะต้องไปดูว่า กระบวนการที่มีการอนุมัติให้ผู้รับเหมาทำงานต่างๆ นั้นถูกต้องหรือไม่ มีใครไปอนุมัติเกินขอบเขตอำนาจหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบมา ในงาน VO ของรถไฟสายสีแดงนั้น มีการออกคำสั่งเกินขอบเขตของเนื้องานตามสัญญา ที่กำหนดให้สร้างงานแบบหนึ่งแต่ปรากฎว่า มีการไปสร้างตึกซึ่งเกินขอบเขตงาน เป็นต้น 
“ผมสั่งให้การรถไฟฯเร่งตรวจสอบและสรุปเร็วที่สุด ให้ดูคำสั่งศาลอย่างรอบคอบในทุกประเด็น ส่วนที่การรถไฟฯต้องจ่ายให้ผู้รับเหมานั้น โครงการสายสีแดง ใช้เงินกู้ จากไจก้า ซึ่งก็มีขั้นตอน ดังนั้นก็ต้องดูขั้นตอนและเงื่อนไขในเรื่องการกู้เงินนี้ด้วย” 


รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องวิศวกรที่ออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงงานเพิ่มเติม หรือ VO นั้น ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม เคยมีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประเด็นข้อพิพาททางกฎหมาย ภายใต้คณะกรรมการเตรียมการเปิดให้บริการและการบริหารโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ โดย มีงาน VO จำนวน 194 รายการ 


ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯรฟท.กล่าวว่า เรื่องนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูกระบวนการที่จะดำเนินการต่อไปได้ แบบถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ ถือว่าเร่งด่วน เพราะมีค่าดอกเบี้ยในทุกๆวัน ล่าช้าไม่ได้ ดังนั้นคณะทำงานฯจะเข้ามาช่วยดู เช่น สามารถต่อรองได้อย่างไร หากต้องต่อรองต้องเริ่มเมื่อใด ในขณะที่จะต้องสรุปเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในการปรับเพิ่มกรอบวงเงินโครงการเพื่อนำมาจ่ายให้เอกชนตามคำสั่งศาล ซึ่งทุกขั้นตอนต้องรีบหาข้อสรุปและดำเนินการให้เร็วที่สุด

สำหรับ โครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ล่าสุดในการประชุมบอร์ดรฟท.ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2567 มีมติอนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายระยะเวลาก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง งานสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้า ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน อันเนื่องมาจากปัญหาอุปสรรค ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้าง จำนวน 938 วัน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 847,746,729.42 บาท

พร้อมทั้งอนุมัติในการปรับกรอบวงเงินโครงการรถไฟสายสีแดง เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการขยายระยะเวลาก่อสร้างงาน สัญญาที่ 1, สัญญาที่ 2, สัญญาที่ 3 รวมกันคิดเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,613,824,075.42 บาท ทำให้กรอบวงเงินโครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 อนุมัติจำนวน 96,868,332,434.95 บาท เพิ่มเป็น 98,482,156,510.37 บาท โดยจะมีการนำเสนอครม.ขออนุมัติต่อไป โดยหากรวมกับกรณีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองสูงสุด พิจารณาสิ้นสุดแล้วให้รฟท. จ่ายค่างาน VO ให้กิจการร่วมค้า เอส ยู อีกกว่า 4,200 ล้านบาท จะทำให้โครงการรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีวงเงินรวมที่ 1.02 แสนล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น