- • ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม (1 ม.ค. - 27 ธ.ค. 2567) อยู่ที่ 35,047,501 คน
- • คาดว่าจะสร้างรายได้มหาศาลจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว (รายละเอียดจำนวนเงินไม่ได้ระบุในเนื้อหาที่ให้มา)
ในปี2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 35 ล้านคน โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -27 ธ.ค.2567 รวมทั้งสิ้น 35,047,501 คน คาดสร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.8 ล้านบาท และเมื่อรวมคนไทยที่ท่องเที่ยวภายในประเทศอีก เชื่อว่าปีนี้จะสร้างรายได้ราว 3 ล้านล้านบาท เป็นผลมาจากมาตรการฟรีวีซ่าสำหรับ 90 ประเทศ การขยายเวลาพำนักจาก 30 วันเป็น 60 วัน และการพัฒนาระบบขอวีซ่าออนไลน์ กระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และเป็นเครื่องยนต์สำคัญหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย(GDP)ในปี2567 ขยายตัว 2.8%
บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (BAFS )หรือ บาฟส์ เป็นบริษัทที่ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมืองและสนามบินภูมิภาคทั้งสนามบินที่สมุย สุโขทัยและตราด จึงเป็นบริษัทที่ได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปักหมุดหมายการเดินทางมาไทยเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 หรือ สุวรรณภูมิ รันเวย์ 3 ที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อเดือน พ.ย.2567 ทำให้มีการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินมาไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ BAFS มีปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยาน (JET) ในปี2567 เพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5,000ล้านลิตร เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีปริมาณเติมน้ำมันอากาศยานที่4,300ล้านลิตร
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า ในปี2567 ผลการดำเนินงานของบริษัทเติบโตดีขึ้นจากการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจหลัก คือกลุ่มธุรกิจ Aviation จากปริมาณน้ำมันอากาศยานที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยปีนี้บริษัทคาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานเติบโต 17-18% จากปีก่อนหรือมากกว่า 5,000 ล้านลิตร ซึ่งอยู่ระดับ 80-85%ของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในปี2562 ที่มีปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานก่อนเกิดโควิด-19อยู่ที่ 6,300ล้านลิตร
รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของปริมาณขนส่งน้ำมันผ่านท่อจากโครงการระบบท่อส่งน้ำมันภาคเหนือ (NBPT) เนื่องจากผู้ค้าน้ำมันปรับเปลี่ยนการขนส่งจากเดิมขนส่งด้วยรถบรรทุกน้ำมันมาเปลี่ยนเป็นการขนส่งน้ำมันทางท่อแทน และมีการใช้บริการคลังน้ำมันของBAFS เพิ่มขึ้น โดยปี2567บริษัทตั้งเป้าปริมาณขนส่งน้ำมันทางท่อไว้ที่ 1,100 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 31% จากปีก่อน
ทั้งนี้ BAFSไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์อันสืบเนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นสูง และการเพิ่มจำนวนของรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) มีผลกระทบต่อภาพรวมการใช้น้ำมันในประเทศ
ส่วนธุรกิจ Utilities บริษัท บาฟส์ขนส่งทางท่อ (BPT)ซึ่งเป็นบริษัทย่อย มีแผนลงทุนเพื่อส่งเสริมรายได้ในอนาคต โดยเตรียมก่อสร้างโครงการท่อเชื่อมระบบขนส่งน้ำมันภาคเหนือเส้นทางสระบุรี-อ่างทองระยะทาง 52 กิโลเมตร กับระบบคลังน้ำมันสระบุรีของบริษัทท่อส่งปิโตรเลียมไทยหรือ THAPPLINE ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อขนส่งน้ำมันระหว่างภาคตะวันออกกับภาคเหนือเข้าด้วยกัน โดยจะวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างในเดือนมกราคม 2568 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี2569 โครงการนี้จะเพิ่มปริมาณขนส่งน้ำมันจากภาคตะวันออกไปภาคเหนือส่งผ่านทางท่อเพิ่มขึ้นกว่า 700ล้านลิตรต่อปี
ธุรกิจPower บริษัทยังมุ่งแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม Waste-to-Energy (WTE), Battery Energy Storage System (BESS), Eco Smart Microgrid และ Energy Platform หลังจากสิ้นสุดสัญญาเงินอุดหนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(Adder)สิ้นสุดลงเมื่อปี2566 โดยในปี2567คาดว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 54 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน
ดังนั้นในปี2567 BAFSคาดว่ามีรายได้รวมเติบโตขึ้นราว 15%จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 3,074 ล้านบาทเนื่องจากไตรมาส4 นี้เป็นช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวทำให้มีการจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันคนไทยมีการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการใช้ความต้องการน้ำมันทุกผลิตภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น
ปี68 ตั้งเป้าปริมาณเติมน้ำมันJETโต8-9%
ม.ล. ณัฐสิทธิ์ กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี2568ว่า คาดการณ์ธุรกิจการบินในปี2568 มีโอกาสเติบโตได้อีกจากการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย โดยBAFSวางเป้าหมายปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานโตไม่ต่ำกว่า 8-9% เมื่อเทียบกับปี2567 ซึ่งเป็นระดับเริ่มใกล้เคียงกับปี 2562 เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลัก มาจากการเพิ่มเที่ยวบินของสายการบินระหว่างประเทศต่อเนื่อง รวมทั้งการเปิดใช้งานรันเวย์ 3 สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้รองรับเที่ยวบินเพิ่มจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานเพิ่มสูงขึ้นตาม แต่มีปัจจัยเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยในปี2568 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 40ล้านคนจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีอย่างต่อเนื่อง นับเป็นปัจจัยบวกต่อBAFS
แม้ว่ากลุ่มธุรกิจ Aviation เติบโตขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในปี2568 มาอยู่ที่ราว 5,700-5,800ล้านลิตร แต่ยังไม่เท่ากับปี2562 แต่ BAFSมั่นใจว่าในปีถัดไปปริมาณการเติมน้ำมันอากาศจะกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 6,300 ล้านลิตรอย่างแน่นอน โดยบริษัทไม่มีแผนปรับขึ้นค่าบริการเติมน้ำมันอากาศยานมาเป็นเวลา ร่วม20ปีแล้ว เนื่องจากมีการแข่งขันสูง หากมีการปรับขึ้นค่าบริการเติมน้ำมันสายการบินก็จะผลักภาระให้ผู้โดยสาร และอาจเลือกเติมน้ำมันที่สนามบินอื่นแทน ดังนั้นบริษัทจึงเน้นการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเป็นหลัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันรวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้
ส่วนปริมาณการส่งน้ำมันทางท่อคาดว่าจะเติบโตขึ้น 9%จากช่วงเดียวกันปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ1,200 ล้านลิตรในปี2568
นอกจากนี้ BAFS ยังมีรายได้จากการขายรถเติมน้ำมันอากาศยาน ของบริษัท บาฟส์ อินเทค (BAFS INTECH) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ที่เริ่มมีการส่งมอบรถให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ และกลุ่มธุรกิจ Power บริษัทยังคงมองหาโอกาสในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยปี2568 รับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มองโกเลีย 1โครงการ
ตั้งงบลงทุนปี68 กว่า1พันล้านบ.
ม.ล. ณัฐสิทธิ์ กล่าวว่าBAFS ตั้งงบลงทุนในปี 2568 ไว้ใกล้เคียงปีก่อนอยู่ที่กว่า 1พันล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งจะใช้สำหรับลงทุนโครงการเชื่อมต่อระบบท่อจากคลังน้ำมันสระบุรีไปภาคเหนือ ของบริษัท บาฟส์ขนส่งทางท่อ จำกัด (BPT) ซึ่งได้ลงนามในสัญญาโครงการดังกล่าวและสัญญาเช่าที่ดิน เพื่อดำเนินการตามโครงการระบบขนส่งน้ำมันสายเหนือระยะที่ 3 (สระบุรี-อ่างทอง) กับบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี2569 ทำให้ปริมาณการขนส่งน้ำมันจากภาคตะวันออกสู่ภาคเหนือเพิ่มขึ้นกว่า 700 ลิตรต่อปี อาทิ โรงกลั่นไทยออยล์สามารถส่งน้ำมันทางท่อขึ้นภาคเหนือโดยไม่ต้องใช้รถบรรทุกน้ำมันขนส่งขึ้นเหนืออีกต่อไป ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและยังมีความปลอดภัยอีกด้วย
ทั้งนี้ BAFS ได้เพิ่มทุนใน BPT รวมจำนวน 90 ล้านบาท ตามการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในช่วงไตรมาส 3/2567 ส่งผลให้ปัจจุบัน BAFS มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BPT อยู่ที่ 75.03% พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรที่สนใจเข้าถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว จำนวน 2-3 ราย คาดจะมีความชัดเจนภายในต้นปี2568 โดยBAFS จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงแต่คงถือหุ้นBPTเกิน 50% เพื่อนำเงินมาใช้ลงทุนในโครงการเชื่อมต่อระบบท่อจากคลังน้ำมันสระบุรีไปภาคเหนือ
ส่วนงบลงทุนอีกครึ่งหนึ่งจะใช้ในกลุ่มธุรกิจ Power โดยBAFS ขยายโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศมองโกเลีย จำนวน 2 โครงการ รวม 51 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โซลาร์ฟาร์มขนาด 21 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4/2568 และโครงการโซลาร์ฟาร์ม ขนาด 30 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2569 นอกจากนี้ ยังใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ที่ร่วมกับกลุ่มบริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SSP คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2569
จ่อลงทุนทำคลัง SAF
BAFS ยังได้จับมือกับพันธมิตรทั้ง บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น กลุ่มมิตรผล บมจ.พลังงานบริสุทธิ์(EA) ร่วมมือส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน: Sustainable Aviation Fuel (SAF) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน สู่เป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และยังส่งเสริมให้ระบบขนส่งทางอากาศของประเทศไทยมีมาตรฐานสอดคล้องตามองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมการบินระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) และขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนของภูมิภาค
โดยบางจากฯนำร่องการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน SAF เข้าระบบท่อสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง เตรียมความพร้อมให้อุตสาหกรรมการบิน ทั้งสายการบินในประเทศและระหว่างประเทศ เนื่องจากบางจากฯ มีการลงทุนโครงการผลิต SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว บนคาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส2 ปี2568 ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน
อย่างไรก็ดี BAFSอยู่ระหว่างศึกษาแผนลงทุนสร้างคลังเพื่อรองรับเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุน1,500-2,000 ล้านบาท รองรับความต้องการใช้SAFถึงปี 2583 เนื่องจาก ICAO กำหนดเป้าหมายให้สายการบินทั่วโลกเติมน้ำมันเชื้อเพลิงทางเลือก SAF ไว้ราว 5% ภายในปี 2573 ทำให้ประเทศต่างๆเริ่มกำหนดให้สายการบินระหว่างประเทศที่บินเข้า-ออกประเทศ ให้เติมSAF โดยสมัครใจ และกำหนดมาตราการบังคับในปี 2569 และจะทยอยเพิ่มมากขึ้นถึง75%ในปี2593 ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าจะต้องผสม SAF 1-2% ในปี2569หรือ2570 แต่บริษัทต้องเตรียมพร้อมลงทุนเพื่อรองรับกฎระเบียบที่จะออกมา
โดยไทยมีความได้เปรียบในแง่วัตถุดิบในการผลิตSAF เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดย BAFS ทำหน้าที่ด้านโลจิสติกส์ และบริการผสมSAFกับน้ำมันอากาศยานตามสัดส่วนก่อนส่งให้กับสายการบิน
ทั้งนี้น้ำมัน SAF เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมการบินวางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งขณะนี้หลายสายการบินเริ่มนำร่องการใช้น้ำมัน SAF โดยเฉพาะสายการบินที่มีเส้นทางสู่ยุโรป เนื่องจากภายใต้ข้อตกลงสหภาพยุโรปเพื่อการบินที่ยั่งยืน ให้เที่ยวบินพาณิชย์ทั้งภายในประเทศและที่บินจากสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และประเทศสมาชิกสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) พยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593
9เดือนแรกปี67 รายได้โต12%
สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ย.)ปี2567 BAFS มีรายได้รวม 2,5515 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเกี่ยวและการเดินทางระหว่างประเทศ โดย EBITDA ยังคงเติบโต 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1,250.4 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 152.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี
BAFSมีปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานช่วง 9 เดือนปีนี้อยู่ที่ 3,666 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็น 80% ของระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 กลุ่มธุรกิจ Utlities มีปริมาณการขนส่งน้ำมันผ่านท่ออยู่ที่ 895 ล้านลิตร โตขึ้น52%จากปีก่อนและ คิดเป็น 81% ของเป้าหมายทั้งปีที่1,100ล้านลิตร และกลุ่มธุรกิจ Powerมองหาโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง