- • ใช้กลไก PPP EEC Track แก้ไขสัญญา
- • มกราคม 2568 เสนอบอร์ด กพอ.ทบทวนขั้นตอนการขออนุมัติ ครม.
- • คาดมีนาคม-เมษายน 2568 เซ็นสัญญาใหม่กับ ซี.พี. และ NTP
- • รฟท.เตรียมงบปี 2569 คืนเงินค่าก่อสร้างให้เอกชน
“อีอีซี”เคลียร์ปมแก้สัญญาร่วมทุน”ไฮสปีด” ยึดตาม PPP EEC Track ม.ค. 68 ชงบอร์ดกพอ. ทบทวนขั้นตอนเสนอครม.อนุมัติครั้งเดียว หลังส่งอัยการตรวจร่างแก้ไขสัญญาฯ คาดมี.ค.-เม.ย. สรุปเร่งเซ็น”ซีพี.”ออก NTP เผย รฟท.ตั้งงบปี 69 ทยอยจ่ายค่าก่อสร้าง ยันเอกชนล้มสัญญารัฐดึงสร้างเอง
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยถึงความคืบหน้า การแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ว่า หลังจากที่ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบหลักการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2567 แต่ยังไม่สามารถเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ เนื่องจากยังมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องขั้นตอนเสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.การร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ. PPP) หรือ เสนอครม.พิจารณาครั้งเดียว ตามพ.ร.บ.อีอีซี
ซึ่งในการประชุมบอร์ดกพอ.วาระเดือนม.ค. 2568 นี้ อีอีซีจะรายงานความก้าวหน้าโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน และจะขอทบทวนมติบอร์ดกพอ.เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2567 กรณีเสนอครม.พิจารณา 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกเสนอครม.รับทราบมติบอร์ด กพอ.เรื่องหลักการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ก่อน หลังจากนั้น ส่งร่างสัญญาร่วมทุนฯให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ และกลับมาเสนอบอร์ดกพอ.เห็นชอบร่างสัญญาฯร่วมทุนและเสนอครม.อีกครั้งเพื่ออนุมัติลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ เป็นเสนอครม.เห็นชอบเพียงครั้งเดียว หลังจากอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาเรียบร้อย และบอร์ดกพอ.เห็นชอบแล้ว
ดังนั้นหลังจากบอร์ดกพอ.ทบทวนมติ เรื่องขั้นตอนการเสนอครม.พิจารณาครั้งเดียวแล้ว ทาง รฟท.จะเร่งไปหารือกับเอกชนเพื่อสรุปเรื่องสัญญา ซึ่งขณะนี้ไม่มีประเด็นสำคัญแล้วเพราะเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯในหลักการได้ข้อยุติไปแล้ว ตอนนี้เหลือเรื่องถ้อยคำ จากนั้นส่งร่างสัญญาฯให้อัยการตรวจสอบ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เรื่องจะกลับมาเสนอบอร์ดกพอ.เพื่อเห็นชอบร่างสัญญาฯ ในวาระประชุมเดือนก.พ. 2568 และคาดว่าจะเสนอครม.ขออนุมัติ ได้ประมาณเดือนมี.ค.-เม.ย. 2568 และลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ และจะออกหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ทันที
ทั้งนี้ ตาม PPP EEC Track หรือพ.ร.บ.อีอีซี กำหนดไว้ว่าการแก้ไขสัญญาฯ เมื่อคู่สัญญาเจรจากับ และคณะกรรมการกำกับสัญญาเห็นชอบ ให้ส่งอัยการตรวจร่างสัญญาฯ เสร็จแล้ว รฟท.นำเรื่อง เสนออีอีซี บอร์ดกพอ. และเสนอครม.เห็นชอบ และลงนามแก้ไขสัญญาฯ
@รฟท.ตั้งงบปี 69 ทยอยจ่ายค่าก่อสร้าง ซี.พี.ล้มสัญญา รัฐดึงสร้างเอง
นายจุฬากล่าวว่า อีอีซีตั้งเป้าหมายให้ลงนามแก้ไขสัญญา เพื่อเร่งออก NTP เริ่มงานก่อสร้างให้เร็วที่สุด ก่อนหน้านี้ มักมีคำถามว่าถ้าเอกชนไม่ทำโครงการแล้วทางออกจะเป็นอย่างไร โครงการนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนดังนั้นการขับเคลื่อนรัฐกับเอกชนต้องไปด้วยกัน ซึ่งรัฐโดยรฟท. ต้องเตรียมวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท เพื่อจ่ายคืนค่าก่อสร้างให้เอกชน ภายใน 4 ปี ซึ่งเริ่มตั้งงบประมาณตั้งแต่ปี 2569 ดังนั้น หากเอกชนไม่ทำโครงการต่อด้วยเหตุผลใดก็ตามรัฐก็มีเงินที่จะทำโครงการเองอยู่แล้ว