xs
xsm
sm
md
lg

สภาผู้บริโภคจวก กกพ.ทำ ปชช.จ่ายค่าไฟแพง 6.5 หมื่น ล. เรียกร้องยุติทำสัญญาซื้อไฟ RE รอบสอง 30 ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • เรียกร้องให้ยกเลิกประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกวันที่ 16 ธันวาคม 2567
  • • เหตุพบข้อพิรุธและความไม่โปร่งใสในการคัดเลือก
  • • การเรียกร้องนี้มีขึ้นก่อนการทำสัญญาในวันที่ 30 ธันวาคม 2567


สภาผู้บริโภคจับมือ สร.กฟผ. เรียกร้อง กกพ.ยุติการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 ในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ไปก่อน และให้ยกเลิกประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกพลังงานหมุนเวียน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ชี้พบข้อพิรุธและไม่โปร่งใส หวั่นทำประชาชนแบกภาระค่าไฟแพง 6.5 หมื่นล้านบาทไปอีก 25 ปี

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาผู้บริโภค พร้อมสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) ได้ทวงถามคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หลังจากได้ยื่นหนังสือทักท้วงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed -in Tariff (FiT) ปี 2565 -2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 จำนวน 2,145เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 โดยเห็นว่า กกพ.ได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในราคา 2.17 บาทต่อหน่วยและพลังงานลมที่ราคา 3.10 บาทต่อหน่วย ด้วยวิธีการคัดเลือกไม่ใช่การประมูลเพื่อให้ได้ราคาต่ำที่สุด จะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพง 65,000 ล้านบาท ไปอีก 25 ปีข้างหน้า

เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาดีขึ้น ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์)และลม ลดลงทุกปี โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตยที่ปรับลดลง 10% ต่อปี และคาดว่าในอีก 4 ปีข้างหน้าราคาต้นทุนจะต่ำมากกว่านี้ ดังนั้นการที่ กกพ.ล็อกสเปกราคาค่าไฟ และใช้การคัดเลือกเอกชนที่ไม่ได้เกิดจากการแข่งขันจึงไม่เป็นธรรมต่อประชาชน อีกทั้ง กฟผ.เคยเสนอว่าสามารถผลิตไฟฟ้าด้วยต้นทุนที่ต่ำเพียง 1.50 บาทต่อหน่วย แต่ กกพ.ก็ไม่ให้ กฟผ.เข้าร่วมโครงการได้

ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์พ่วงแบตเตอรี่ที่อินเดีย มีต้นทุนที่ถูกเพียง 1.44 บาทต่อหน่วยเท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่ กกพ.จะรีบทำสัญญากับเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อรับซื้อไฟฟ้าในวันที่ 30 ธันวาคม2567 ทั้งๆ ที่ รมว.พลังงาน สั่งให้ชะลอไปก่อน ซึ่งเรื่องนี้มีพิรุธและน่าสงสัยมาก

ดังนั้น สภาผู้บริโภคนอกจากติดตามหนังสือที่ยื่นไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมาแล้ว ยังเรียกร้องให้ กกพ.ยุติการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ไปก่อน รวมทั้งยกเลิกประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกพลังงานหมุนเวียน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567

นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธาน สร.กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.เป็นองค์กรที่ต้องดำเนินการตามหน่วยงาน กกพ. ซึ่งเป็นผู้คัดเลือกโครงการพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบัน กฟผ.มีสัญญา PPA ที่ทำไว้กับเอกชนจำนวนมาก และขณะนี้ตัวเลขสำรองไฟฟ้าของประเทศค่อนข้างสูง จึงไม่เข้าใจว่าทำไม กกพ.จึงเร่งรัดฉุกละหุกเพื่อรับซื้อเพิ่มขึ้นอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น