บอร์ดรฟท.เคาะเพิ่มพนักงาน 3,038 อัตรา ภายใน 5 ปี พร้อมเสนอคมนาคม ชงครม.ปลดล็อกมติปี 2541 ที่ให้บรรจุได้แค่5% ของจำนวนเกษียณ ด้านสหภาพฯยื่นบอร์ด แก้ปัญหาขาดแคลนพนักงานก่อนวิกฤติ ยำฝ่ายปฎิบัติการ
แหล่งข่าวจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการรถไฟฯ (บอร์ดรฟท.) ครั้งที่ 16 /2567 ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 มีมติเห็นชอบ การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ที่ให้รับพนักงานได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุ และอนุมัติแผนปรับอัตรากำลังให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของการรถไฟฯ โดยขอดำเนินการรับพนักงานใหม่เพิ่มจำนวน 3,038 อัตรา ในกรอบ ปี 2568-2572 ( ระยะเวลา 5 ปี) โดยปีแรกบรรจุจำนวน 1,200 อัตรา และทยอยในปีต่อไป ไม่น้อยกว่า 400 คนต่อปี โดยหลังจากนี้จะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม และครม.ต่อไป
สำหรับ มติครม. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 เห็นชอบมาตรการแก้ปัญหาของการรถไฟฯ ตามความเห็นกระทรวงการคลัง ความเห็นตามมติคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ให้มีอัตราพนักงาน จาก 20,031 คน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 เหลือไม่เกิน 18,015 คน และลูกจ้างไม่เกิน 4,056 คน ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 และงดรับพนักงานใหม่ ยกเว้นตำแหน่งเกี่ยวกับการเดินรถและตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิพิเศษ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีผู้ปฏิบัติงานดังกล่าว ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการรับพนักงานได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุตามมติครม. ทำให้ปัจจุบันมีพนักงานจำนวน 9,000 คน และมีลูกจ้างประมาณ 3,000 คน ซึ่งต่ำกว่ากรอบและมีผลกระทบต่อการปฎิบัติงาน
@สหภาพฯรฟท.ยื่นบอร์ดชงปลดล็อกมติครม. ก่อนจะขาดพนักงานจนวิกฤกติ
นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 ได้ยื่นหนังสือต่อนายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานบอร์ดรฟท. เพื่อติดตามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังพนักงานและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยขอให้พิจารณาเสนอให้กระทรวงคมนาคมผลักดันเร่งรัดให้การรถไฟฯ ได้รับการเพิ่มจำนวนอัตราพนักงานให้เป็นไปตามข้อมูลตามกรอบอัตราของที่ปรึกษาที่ศึกษากรอบอัตรากำลังที่เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจที่จะเพิ่มขึ้นตามความจำเป็นและความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ตามกรอบอัตรากำลังประมาณ 4,000 คน และขอให้เสนอยกเลิกเงื่อนไขตามมติคณะรัฐมนตรี 28 กรกฎาคม 2541 ที่ให้รับพนักงานได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของจำนวนพนักงานที่เกษียณอายุ
โดยในระยะเร่งด่วนเพื่อให้มีอัตรากำลังมาทดแทนและสามารถทำงานได้ทันที เพื่อรองรับการบรรจุนักเรียนวิศวกรรมรถไฟที่จบการศึกษาในปี 2566 (วรฟ.รุ่น 63 ) ที่ยังไม่มีอัตรารองรับจำนวน 97 คนและเสนอให้บรรจุลูกจ้างเฉพาะงานที่ทำงานกับการรถไฟฯมานานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปในตำแหน่งด้านปฏิบัติการที่ใช้ทักษะ ความชำนาญ โดยวิธีทดสอบความสามารถและประเมินผลการทำงาน
“จำนวนพนักงานมีน้อยกว่าเทียบกับภารกิจ และรถไฟทางคู่กำลังเสร็จ จะมีขบวนรถและหัวจักรเข้ามาเพิ่มในอนาคต ดังนั้นต้องเพิ่มคนให้สอดคล้อง ทุกวันนี้พนักงานและลูกจ้างทำงานกันหนักมาก ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต อยากให้รัฐบาลเข้าใจ”
โดย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 มีพนักงานเกษียณอายุจำนวน 291 คนส่วนใหญ่เป็นพนักงานด้านปฏิบัติการร้อยละ 76.64 ทำให้คงเหลือพนักงาน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เพียง 8,662 คน คิดเป็นร้อยละ 48.08 ของกรอบอัตรากำลังตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดไว้ ไม่เกิน 18,015 คน และหากการรถไฟฯ จะดำเนินการรับพนักงานใหม่ตามเงื่อนไข จะสามารถรับได้ไม่เกิน 15 คน ขณะที่ บทบาทหน้าที่ภารกิจหลักของการรถไฟฯ ปัจจุบันมีการเดินรถโดยสารจำนวน 250 ขบวนและขบวนรถสินค้าจำนวน 211 ขบวน รวมทั้งสิ้น 461 ขบวน จำเป็นต้องมีพนักงานด้านปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเดินรถ การซ่อมบำรุงและการโยธา เช่น พนักงานขับรถ ช่างเครื่อง นายสถานี ด้านซ่อมบำรุงทาง และ ซ่อมบำรุงระบบอาณัติสัญญาณ รองรับจำนวนกว่า 4,000 คน ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้อง กับความปลอดภัยในการเดินรถและระบบโครงสร้างพื้นฐาน
และในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีพนักงานเกษียณอายุการทำงาน 3,067 คน ซึ่งเป็นในส่วนของ พนักงานด้านปฏิบัติการร้อยละ 84.51 แต่ จะสามารถรับพนักงานเพิ่มตามเงื่อนไขมติครม.ได้เพียง 153 คนเท่านั้น จะยิ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินงานตามภารกิจของรัฐบาล