ไทยออยล์จ่อฟ้องผู้รับเหมาเรียกค่าเสียหายจากผู้รับเหมาหลักหากโครงการ CFPไม่เสร็จตามกำหนดภายในปี 2568 ขณะที่IRRโครงการCFP วูบเหลือแค่ 7% เหตุต้องเพิ่มงบประมาณโครงการCFPอีก 6.3 หมื่นล้านบาท บริษัทยันมีแหล่งเงินทุนพร้อม ไม่ต้องเพิ่มทุน รวมทั้งไม่กระทบการจ่ายเงินปันผล
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)หรือTOP เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการบริษัทฯเห็นชอบเพิ่มงบประมาณโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ประมาณ 63,028 ล้านบาทหรือเทียบเท่า 1,776 ล้านเหรียญสหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาทหรือเทียบเท่า505 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในการก่อสร้าง จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ส่วนที่เหลือ ค่าที่ปรึกษาต่างฯ เพื่อให้โครงการCFPดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในไตรมาส3/2571 แม้ว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จไปราว 90% แต่ยังมีหน่วยที่ซับซ้อนและช้าสุดคือ Hydrocracking Unit (เพิ่มคุณภาพน้ำมัน)เสร็จไปแค่ 72% ซึ่งความล่าช้าของโครงการCFPที่เดิมจะต้องแล้วเสร็จในปี 2568 ล่าสุดต้องเลื่อนการจะผลิตเชิงพาณิชย์ออกไปเป็นไตรมาส 3/2571
ความเสียหายจากโครงการCFPล่าช้านี้ ภายใต้สัญญา EPC ได้ครอบคลุมสิทธิการเรียกค่าเสียหายกับทางกลุ่มผู้รับเหมาหลัก UJV ประกอบด้วย Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd. and Saipem Singapore Pte. Ltd. หากโครงการส่งมอบล่าช้าหรือเสร็จไม่ทันในปี2568 โดยไทยออยล์จะฟ้องบังคับเรียกค่าเสียหายตามสัญญา เพื่อรักษาผลประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและบริษัทฯ ซึ่งการบังคับใช้สิทธิจะต้องทำตามขั้นตอนภายใต้สัญญาฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการตามสัญญาอยู่ ไม่สามารถบังคับใช้ได้ทันที หรือยกเลิกการว่าจ้างผู้รับเหมาหลักรายเดิมได้ คงต้องรอให้สิ้นสุดสัญญาก่อน
“ ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตามสัญญา หน้าที่เราต้องรักษาสิทธิก่อน เมื่อถึงเวลาที่สมควรเราก็ต้องใช้สิทธิของบริษัทที่มีตามสัญญา ดังนั้นเราจะไปจ้างผู้รับเหมาหลักรายใหม่หรือไม่ เป็นกระบวนการในอนาคต ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้”
นายบัณทิต กล่าวว่า ความล่าช้ากว่า 3ปีของโครงการ CFP ครั้งนี้ เกิดจากผู้รับเหมาหลักไม่จ่ายค่าจ้างให้กับกลุ่มผู้รับเหมาช่วง ทำให้มีการหยุดงานและลดการทำงานลง ปัจจุบันโครงการCFP มีแรงงานผู้รับเหมาเข้ามาทำงานแค่หลักพันคนจากเดิมที่เคยสูงเกือบ 2หมื่นคน ดังนั้นเพื่อให้โครงการCFP ก่อสร้างเดินหน้าไปได้จำเป็นต้องใช้เงินในการดึงผู้รับเหมาช่วงรายใหม่หรือผู้รับเหมาที่เหมาะสมเข้ามาทำงานต่อในโครงการคาดว่าปีหน้าจะเห็นความชัดเจน จึงเป็นเหตุผลที่บริษัทฯต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 21 ก.พ. 2568 เพื่ออนุมัติเพิ่มงบประมาณการลงทุนโครงการ CFPอีก 63,028หมื่นล้านบาท หรือเทียบเท่า 1,776 ล้านเหรียญสหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาทหรือเทียบเท่า505 ล้านเหรียญสหรัฐ
สําหรับงบประมาณลงทุนส่วนเพิ่มของโครงการ CFP กว่า 6.3หมื่นล้านบาท บริษัทฯมีแผนจัดหาเงินทุน ดังนี้คือ 1. เงินสดคงเหลือและกระแสเงินสดจากการดําเนินงานของบริษัทฯในปี 2025-2027 และ 2. การออกหุ้นกู้ หรือการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งพิจารณาหาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เช่น การออกตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน รวมถึง การบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยบริษัทขอยืนยันว่าไม่มีแผนการเพิ่มทุน รวมทั้งไม่มีผลกระทบต่อการจ่ายเงินปันผล อันเป็นผลมาจากการเพิ่มงบประมาณในการก่อสร้างโครงการในครั้งนี้แต่อย่างใด
“บริษัทฯ มั่นใจว่างบประมาณที่ขอเพิ่มเติมเพียงพอต่อการดําเนินโครงการให้แล้วเสร็จโดยได้ศึกษาและประเมินร่วมกับที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้วยความระมัดระวังว่าสามารถดําเนินโครงการนี้ได้ตามงบประมาณที่วางไว้
บริษัทฯจะบริหารจัดการงบประมาณให้ดีที่สุด อีกทั้งจากการศึกษาและประเมินของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระถึงแม้ว่าอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR)ระดับโครงการจากเดิมอยู่ที่ 12% ได้ปรับลดลงเหลือ 7% เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มเงินลงทุนไม่กระทบต่ออัตราหนี้สินต่อทุน ( D/E)ที่ไม่เกิน 1เท่า เมื่อโครงการ CFPแล้วเสร็จจะทําให้ไทยออยล์มีผลประกอบการทางการเงิน ทั้งในส่วนรายได้ ผลกําไรและฐานะทางการเงินดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทฯและผู้ถือหุ้นในระยะยาว”
นายบัณฑิต กล่าวยอมรับว่า การก่อสร้างหน่วยกลั่นใหม่ ที่ทําหน้าที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนนํ้ามันเตาและยางมะตอยให้เป็นนํ้ามันอากาศยานและดีเซลก่อสร้างไปแล้ว 72%ไม่เป็นไปตามแผนที่กําหนด เนื่องจากปัญหาการหยุดงานของกลุ่มบริษัทรับเหมาช่วงอันเนื่องมาจากไม่ได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากผู้รับเหมาหลัก UJV ทําให้การดําเนินโครงการต้องสะดุดจนต้องปรับระยะเวลาดําเนินโครงการออกไป แต่ไทยออยล์ก็ได้พยายามหาทางแก้ไขเพื่อให้การดําเนินงานกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปให้แล้วเสร็จ คาดว่าบริษัทฯ จะสามารถสรุปเวลาให้แน่ชัดขึ้นในปี 2568
โครงการนี้ CFP เป็นโครงการขนาดใหญ่มีมูลค่าสูง บริษัทฯ ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ ในการตรวจรับงานและการจ่ายเงินโครงการฯ ต้องเป็นไปตามหลักสากลและเงื่อนไขในสัญญา มีการตรวจสอบความถูกต้องทั้งในส่วนปริมาณงานและคุณภาพงานจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน รวมทั้งจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างเป็นผู้ประเมินและตรวจรับงาน และจัดตั้งคณะกรรมการกํากับดูแลโครงการฯ ให้การดําเนินการเป็นไปตามหลักสากลในการบริหารโครงการขนาดใหญ่