xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง 12 เทรนด์ สมรภูมิ “อีคอมเมิร์ซ” ปี 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • ตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2568 คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มีความเข้มข้นสูงขึ้น
  • • ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ วิเคราะห์ 12 เทรนด์สำคัญ ที่จะกำหนดความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้ประกอบการ
  • • การแข่งขันดุเดือด ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและสร้างความแตกต่างอย่างต่อเนื่องเพื่อความอยู่รอด
  • • เทรนด์สำคัญๆ ครอบคลุมด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น AI, Metaverse, การตลาดดิจิทัลที่ล้ำสมัย และการบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพ
  • • ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
  • โดยสรุปคือ บทความเน้นการวิเคราะห์ความท้าทายและโอกาสในตลาดอีคอมเมิร์ซปี 2568 พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงเทรนด์สำคัญๆ ที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจ เพื่อความอยู่รอดและความสำเร็จในตลาดที่มีการแข่งขันสูง


ยุคนี้ถือเป็นยุคที่การค้าออนไลน์เฟื่องฟูสุดขีด ความสะดวกในการช้อปปิ้งเพียงปลายนิ้วคลิกทำให้ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจพร้อมใจกันกระโดดเข้ามาแข่งขันในสนามนี้เพื่อช่วงชิงยอดขาย

แต่ในสมรภูมิที่หมุนเร็วอย่างการค้าออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น พฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนไป หรือการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ

ปี 2568 (ค.ศ.2025) จะเป็นอีกปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการอีคอมเมิร์ซ นักธุรกิจต้องตามให้ทัน


มาตามเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ของ "ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กูรูผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัลไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์แห่งแรกของไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ค้าออนไลน์เตรียมพร้อม ปรับตัว และไม่พลาดโอกาสในการทำธุรกิจในตลาดออนไลน์ที่ท้าทายนี้

1. “อีมาร์เก็ตเพลส” แข่งดุ ผูกขาด ยึดลูกค้าเป็นตัวประกัน
ปี 2025 ชัดเจนมากว่าอีมาร์เก็ตเพลสในไทยถูกผูกขาดเบ็ดเสร็จโดยยักษ์ใหญ่ต่างชาติเพียงไม่กี่ราย ทำให้ขึ้นค่าธรรมเนียมได้อย่างตามอำเภอใจโดยไร้การควบคุมจากภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น อีมาร์เก็ตเพลสเหล่านี้ยังยึดข้อมูลลูกค้า ทำให้ผู้ค้าเข้าไม่ถึงชื่อ เบอร์โทร หรือแม้แต่ที่อยู่ของลูกค้า ต้องตกอยู่ในสถานะจำยอม ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้าไปทำการตลาดเอง จะย้ายฐานลูกค้าข้ามไปแพลตฟอร์มอื่นก็ทำไม่ได้
ขณะเดียวกัน การแข่งขันในตลาดอีมาร์เก็ตเพลสจะดุเดือดมากขึ้น หลายแพลตฟอร์มไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นพื้นที่ขายสินค้า แต่กำลังรุกเข้าไปในธุรกิจอื่นที่ครบวงจรมากขึ้น เช่น บางแพลตฟอร์มสร้างระบบการชำระเงินของตนเอง และมีบริการขนส่งเพื่อรองรับธุรกรรมภายในระบบ อย่างกรณีของ Shopee ได้ขยายไปสู่ฟู้ดเดลิเวอรี่ ขายประกัน และให้บริการสินเชื่อด้วย ส่วน Grab ที่เริ่มจากบริการขนส่งสินค้าและเดลิเวอรี่ก็ได้ขยายมาสู่บริการสินเชื่อสำหรับผู้ค้าบนแพลตฟอร์มและไรเดอร์

2. ช่องทางการค้าของตัวเอง (Owned Channel) ลดการพึ่งพาอีมาร์เก็ตเพลส
การผูกขาดและยึดข้อมูลลูกค้าโดยอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ ผู้ค้าควรหันมาพัฒนาช่องทางการขายของตนเอง หรือที่เรียกว่า Owned Channel การทำ Owned Channel ก็เหมือนการที่เรา “สร้างบ้าน” เอง ส่วน E-Marketplace คือคอนโดที่เรา “เช่า” เขาอยู่ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้ สามารถสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการซื้อซ้ำได้มากขึ้น
ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการที่จะทำให้ Owned Channel เชื่อมต่อระบบชำระเงินและระบบขนส่งได้โดยตรง ซึ่งช่วยให้ธุรกรรมคล่องตัว และลดการพึ่งพาอีมาร์เก็ตเพลส เช่น บริการจาก Pay Solutions ที่เชื่อมต่อกับระบบชำระเงินของ Owned Channel ได้ทุกช่องทาง สามารถรองรับการชำระผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน บัตรเดบิต บัตรเครดิต Mobile Banking หรือ Alipay WeChat Pay และสามารถชำระที่เคาน์เตอร์ด้วยเครื่องรูดบัตร All-in-one รองรับการผ่อนชำระทุกธนาคาร
"Pay Solutions พร้อมเป็นพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยสู่การมี Owned Channel ที่สมบูรณ์แบบ" คุณภาวุธกล่าวทิ้งท้าย "ด้วยประสบการณ์กว่า 10 ปีในวงการฟินเทค เรามั่นใจว่าโซลูชันของเราจะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน"

3. “สินค้าจีนคุณภาพดี ถูกกฎหมาย” เตรียมบุกไทย
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สินค้าจากจีนที่ไม่ผ่านมาตรฐานทะลักเข้าสู่ไทยเป็นจำนวนมาก แต่ในปี 2025 คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ การปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายของภาครัฐเริ่มเข้มงวดขึ้น และการแข่งขันในประเทศจีนที่รุนแรงขึ้น ทำให้สินค้าจีนที่มีคุณภาพหลายรายหันมาขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายที่สำคัญของจีน ดังนั้นจะเห็นสินค้าจีนที่มีคุณภาพและนำเข้ามาแบบถูกกฎหมาย เข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น


4. “3C Commerce” สร้างความยั่งยืนผ่านคอนเทนต์และคอมมูนิตี้
การค้าออนไลน์ในปัจจุบันไม่ได้มุ่งแค่ขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่กำลังก้าวสู่เทรนด์ที่เรียกว่า 3C Commerce ซึ่งประกอบด้วย 1.Content การสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ ช่วยสร้างการรับรู้และความสนใจในตัวสินค้า 2.Community เมื่อมีคอนเทนต์ที่ดี ย่อมดึงดูดผู้ติดตาม สร้างฐานแฟนคลับ และสร้างชุมชนที่มีความผูกพันกับแบรนด์ 3.Commerce คอนเทนต์และคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งจะนำไปสู่การซื้อขายสินค้า สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ค้าและลูกค้า
3C Commerce จึงช่วยเพิ่มความผูกพันที่ทำให้ลูกค้าไม่เพียงซื้อสินค้า แต่ยังติดตามและสนับสนุนแบรนด์อย่างต่อเนื่อง การขายออนไลน์จึงไม่เป็นเพียงการทำธุรกรรมอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นการสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และเริ่มขยับไปเป็นดิจิทัลเซอร์วิสมากขึ้น

5. “TikTok Commerce” การค้าแห่งอนาคต ขยายจากสินค้าสู่บริการ
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การขายสินค้าผ่าน TikTok เติบโตขึ้นมาก และ TikTok ก็ยังมุ่งการลงทุนและขยายตลาดในด้าน TikTok Commerce อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ TikTok Shop ซึ่งกำลังพัฒนาไปไกลกว่าการขายสินค้าที่จับต้องได้ โดยกำลังก้าวไปเข้าสู่การขายบริการต่าง ๆ เช่น บัตรกำนัลโรงแรมและร้านอาหาร
ปี 2025 TikTok จะกลายเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเซอร์วิสที่ครบวงจร โดยผสานคอนเทนต์ คอมมูนิตี้ และคอมเมิร์ซ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ กลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับทำการตลาดและขายสินค้า ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซดุเดือดยิ่งขึ้น

6. “Video Commerce” ดันยอดขายออนไลน์ผ่านวิดีโอ
เมื่อ TikTok แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทรนด์ Video Commerce หรือการขายผ่านวิดีโอ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสนามแข่งขันที่ดุเดือด โดยแพลตฟอร์มวิดีโอต่าง ๆ พยายามปรับตัวและผสานระบบการขายเข้าไปในคอนเทนต์ของตนเอง เช่น การจับมือระหว่าง YouTube กับ Shopee เพื่อให้สามารถใส่ลิงก์ร้านค้าและสินค้าในวิดีโอได้โดยตรง และ Facebook กับ Instagram ที่เริ่มรองรับการใส่สินค้าในวิดีโอ ทำให้ผู้ชมสามารถกดซื้อสินค้าได้ทันที
Video Commerce จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผสานวิดีโอและการขายที่ทำให้เกิดประสบการณ์การช้อปปิ้งที่มีความบันเทิงและดึงดูดใจมากขึ้น เทรนด์นี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มยอดขาย แต่ยังสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ขายและลูกค้าผ่านคอนเทนต์วิดีโอที่น่าสนใจ




กำลังโหลดความคิดเห็น