xs
xsm
sm
md
lg

“ประเสริฐ”ชี้เบรกสัญญาขุดถ่านหินแม่เมาะ กระทบค่าไฟฟ้าขึ้น8สต./หน่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • การลดลงของกำลังผลิตไฟฟ้าส่งผลให้ต้องใช้โรงไฟฟ้าก๊าซและนำเข้า LNG แทน
  • • การนำเข้า LNG เพิ่มต้นทุน 1,380 ล้านบาท


“ประเสริฐ”ปลัดพลังงานในฐานะปธ.บอร์ดกฟผ. ชี้การระงับจัดซื้อจัดจ้างขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญา8/1 ฉุดกำลังผลิตไฟฟ้าหาย 600-800เมกะวัตต์ ส่งผลให้ต้องสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าก๊าซฯทดแทนและต้องนำเข้าLNG เป็นมูลค่า 1,380ล้านบาท ดันค่าไฟขึ้น 8สต./หน่วย เตรียมเปิดให้ยื่นสสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ฝั่งทะเลอันดามันในปี68

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกรณีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีหนังสือสั่งด่วนสุดให้ กฟผ.ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง สัญญาที่ 8/1 โดย "วิธีพิเศษ" ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท จนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วเสร็จ เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ยื่นอุทธรณ์

ดังนั้น เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา กฟผ. ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 30 วัน หลังจากนั้นนำเสนอให้คณะกรรมการกฟผ.พิจารณา ต่อไป

ปัจจุบันสัญญาถ่านหินที่ 8/1 กำลังจะสิ้นสุดลง และสัญญาที่ 9 ล่าช้าออกไป ทำให้ปริมาณการผลิตถ่านหินได้ไม่เพียงพอป้อนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจะหายไป 600-800 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องมีการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าก๊าซฯทดแทนและ ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มูลค่ารวม 1,380 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 8 สตางค์ต่อหน่วย

ทั้งนี้กฟผ. มีกระแสเงินสดดี อยู่ที่ 5-6 หมื่นล้านบาท สามารถบริหารจัดการการลงทุนและหนี้ได้ แต่หากมีปัญหาสภาพคล่อง ก็จะทำให้การส่งเงินเข้ารัฐล่าช้าออกไป ปัจจุบันหนี้คงค้างค่าไฟฟ้าเหลืออยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ส่วนแผนลงทุนของ กฟผ.ในปี2568 จะลงทุนสายส่งไฟฟ้า และโซลาร์ลอยน้ำ

นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวน หลังจากนายพีระพันธุ์ สั่งทบทวนและได้ตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบเพื่อจัดทำร่างแผนPDP 2024 รอบคอบต่อไป อาจมีผลกระทบทำให้ต้องจัดทำค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าใหม่

ส่วนเรื่องสำรองไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูง ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เกิดในช่วงกลางคืน ทำให้ปริมาณสำรองช่วงกลางคืนประมาณ 30% และตัดกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ออกไป และตามแผนPDP2024 ปริมาณสำรองไฟฟ้าจะปรับลดลง เพราะไม่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เข้ามา ทำให้สำรองไฟฟ้าปี2569-70 จะลดลง และถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาตั้งแต่ปี 2570 จะยิ่งทำให้สำรองไฟฟ้าลดลงอีกมาก

ขณะที่แผนPDPใหม่เป็นระบบสำรองไฟฟ้าเพื่อดูความมั่นคง ส่วนการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนโดยตรง (Direct PPA) ที่กพช.อนุมัติโครงการนำร่อง 2,000 เมกะวัตต์นั้นได้ถูกบรรจุอยู่ในPDP 2024 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้จัดทำเงื่อนไข

ส่วนความคืบหน้าการเปิดให้ยื่นขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบ 26) ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการปิโตรเลียมเรียบร้อยแล้ว คาดว่าไตรมาส 1 /2568 จะมีรายละเอียดออกมา ซึ่งมีหลายบริษัทให้ความสนใจเข้าร่วมประมูล เช่น โททาล และ ปตท.สผ. ซึ่งที่ผ่านมาเคยให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณนี้แล้ว แต่ไม่มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์แม้ว่าจะมีการปริมาณปิโตรเลียมแต่ไม่คุ้มค่าการลงทุน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีได้มีการพัฒนาสำหรับแหล่งปิโตรเลียมน้ำลึกแล้ว เบื้องต้นคาดว่าแหล่งปิโตรเลียมในบริเวณดังกล่าวจะมีศักยภาพด้านก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งยาดานา และเยตากุน ของเมียนมา


กำลังโหลดความคิดเห็น