xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียเปิดรับนักลงทุนเอเชีย “ไทย” ติดโผ ชวนร่วมทุนด้านเกษตรและเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายอเล็กซานเดอร์ สตุกเลฟ
รัสเซียพร้อมเปิดบ้านต้อนรับนักลงทุนในเอเชีย ชูจุดแข็งเรื่องไอที ผลประกอบการและกำไรที่น่าดึงดูด ล่าสุด “มูลนิธิรอสคองเกรส” ได้เปิดเวทีฉายศักยภาพการลงทุนรัสเซียในไทยเป็นครั้งแรก เน้นย้ำโอกาสความร่วมมือระดับทวิภาคี เพื่อส่งเสริมศักยภาพทางธุรกิจและการลงทุนของรัสเซียในประเทศไทย

นายอเล็กซานเดอร์ สตุกเลฟ (Alexander Stuglev) ประธานคณะกรรมการ และซีอีโอของมูลนิธิรอสคองเกรส (Roscongress Foundation) เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย แม้ท่ามกลางการคว่ำบาตรจากกลุ่มประเทศตะวันตก โดยในปี 2566 ความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียและไทยยังคงพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งมีมูลค่าการค้าถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งยังมีในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ที่มีคนรัสเซียเข้ามาเที่ยวในไทยถึง 1.8 ล้านคนในปีนี้ คิดเป็นมูลค่าอีก 5,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่มองว่าไทยเป็นหนึ่งประเทศในเอเชียที่อยากให้ร่วมลงทุนในรัสเซียมากขึ้น

“รัสเซียมีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากฝั่งเอเชียมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีแต่กลุ่มบริษัทฝั่งยุโรปที่เข้ามาทำตลาดในรัสเซีย ส่วนเอเชียมีน้อยมาก จึงต้องการเปิดรับการลงทุนจากเอเชียหลังจากนี้ ซึ่งรัสเซียกับไทยนั้น ที่ผ่านมาถือว่าเรามีความสัมพันธ์อันดีและคุ้นเคยกัน โดยเฉพาะคนรัสเซียที่เข้ามาเที่ยวในไทย ครั้งนี้จึงอยากชวนนักลงทุนไทยให้เข้ามาลงทุนในรัสเซียมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ให้เข้ามาร่วมทุนกัน จับกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยรวมถึงในภูมิภาคนี้มาเที่ยวรัสเซียให้มากขึ้น เป็นต้น” นายอเล็กซานเดอร์ กล่าว

สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมในเอเชีย และนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับชาติที่มาเยือนไทย และเป็นตลาดยุโรปที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการท่องเที่ยวของไทย โดยข้อมูลจากกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยวของประเทศไทยชี้ว่า ชาวรัสเซียมากกว่า 1.2 ล้านคน เดินทางมาประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี เพิ่มขึ้น 15% เป็นผลมาจากการยืดเวลาการพำนักโดยไม่ต้องขอวีซ่าสำหรับชาวรัสเซียเป็น 60 วัน และในช่วงฤดูท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเพิ่มขึ้น 100% (อ้างอิงข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยนางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์ว่า ภายในสิ้นปีนี้ นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย จำนวน 1.7 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทยประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์)


ดังนั้นล่าสุดมูลนิธิรอสคองเกรส ร่วมกับสถานทูต และคณะผู้แทนการค้าของรัสเซียประจำประเทศไทย ได้จัดการประชุมส่งเสริมศักยภาพธุรกิจและการลงทุนของรัสเซียเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเป้าหมายสำคัญ คือ การรวมชุมชนธุรกิจรัสเซียและไทยเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันจะสร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับการติดต่อทางธุรกิจ ข้อตกลง และการพัฒนาผลประโยชน์ร่วมกัน ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและไทย ส่งเสริมการพัฒนาโครงการร่วมกัน โดยภายในงานมีตัวแทนจากฝั่งผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจของไทยเข้าร่วมกว่า 180 ราย ครอบคลุมทั้งใน อุตสาหกรรมเทคโนโลยี การแพทย์ ภาคประชาสังคม พลังงาน ธุรกิจค้าปลีก เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว มั่นใจว่าหลังจบงาน จะมีโอกาสเปิดรับการลงทุนจากไทยได้มากขึ้น จากปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยลงทุนในรัสเซียรวมแล้วกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์

โดยการประชุมครั้งนี้ ผู้บรรยายในงานมีความเห็นว่า รูปแบบความร่วมมือในอนาคตควรเป็นความร่วมมือระดับประเทศของทั้งไทยและรัสเซียผ่านการเจรจาที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งบริษัทในรัสเซียมีความกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับไทยในหลายๆ ด้าน ทั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนระบบการบริหารสาธารณะให้เป็นดิจิทัล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ โทรคมนาคม และเทคโนโลยีการสื่อสาร

รวมถึงเกษตรกรรม ที่พบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมา รัสเซียส่งออกสินค้าเกษตรกรรมของมาไทยมีมูลค่าเกิน 20 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 นี้ ดังนั้นตลาดไทยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ส่งออกธัญพืชของรัสเซีย เนื่องจากภาคปศุสัตว์ของไทยบริโภคอาหารสัตว์มากกว่า 21 ล้านตันต่อปี และส่วนใหญ่มาจากการนำเข้า นอกจากนี้รัสเซียยังสามารถขยายการส่งออกข้าวสาลีและปลาแช่แข็ง ซึ่งรัสเซียเป็นผู้นำในตลาดโลกอยู่แล้ว โดยสินค้าส่งออกหลักจากรัสเซียมายังไทย ได้แก่ โลหะและผลิตภัณฑ์โลหะ สินค้าอุตสาหกรรมเคมี ผลิตภัณฑ์แร่ และไม้รวมถึงผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษและกระดาษ


นายอเล็กซานเดอร์ กล่าวต่อว่า รัสเซียมีจุดแข็งที่น่าสนใจที่จะดึงดูดให้นักลงทุนไทยเข้ามาร่วมทุนและลงทุนในรัสเซียมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การแข่งขันในกลุ่มบริษัทเอเชียที่ยังมีในรัสเซียน้อย ผลประกอบและกำไรที่น่าสนใจ การศึกษารวมถึง การพัฒนาด้านไอทีและเทคโนโลยีร่วมกัน เพราะรัสเซียโดดเด่นและให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีอย่างมาก จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้เข้ามาลงทุน และศึกษาพัฒนาในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น เหล็ก เคมีภัณฑ์ เกษตรกรรม ไอที ซีเคียวลิตี้ไซเบอร์ การศึกษา พลังงานสะอาด โลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว ที่ทำอยู่แล้ว ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนี้พบว่า ประเทศไทยแสดงความสนใจในแหล่งพลังงานของรัสเซียรวมถึง LNG น้ำมัน ปิโตรเคมี และการผลิตไฟฟ้า ความร่วมมือยังขยายออกไปในด้านวิทยาศาสตร์ เกษตรกรรม และการจัดซื้อผลิตภัณฑ์ของรัสเซีย รวมถึงอาหารทะเล สินค้าจากตะวันออกไกลของรัสเซีย เนื้อวัว และผลิตภัณฑ์จากนม มากยิ่งขึ้น

“ไทยในฐานะหนึ่งในเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนมีความน่าสนใจเป็นพิเศษในมุมมองของภาคธุรกิจรัสเซีย โดยหน้าที่ของมูลนิธิรอสคองเกรส คือรวบรวมโอกาสทั้งหมดเพื่อความร่วมมือระหว่างธุรกิจรัสเซียและไทย ซึ่งเป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนทั้งธุรกิจระหว่างประเทศไทยและรัสเซียในการสร้างความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ ค้นหาพันธมิตร และระบุผู้มีโอกาสเป็นนักลงทุน การประชุมครั้งนี้จึงมอบโอกาสให้ธุรกิจไทยในการหาพันธมิตรในฝั่งรัสเซีย เรียนรู้เกี่ยวกับมาตรการสนับสนุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ และเข้าสู่ตลาดรัสเซีย พร้อมมอบเครื่องมือที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ตัวอย่าง เช่น แพลตฟอร์ม "RC-Investments" สนับสนุนโครงการธุรกิจด้านการลงทุนและการส่งออก เหมาะสำหรับธุรกิจระหว่างประเทศที่กำลังมองหาพันธมิตรการลงทุนในรัสเซีย แพลตฟอร์มนี้เชื่อมโยงนักลงทุนมากกว่า 500 ราย และพันธมิตร 80,000 ราย ด้วยการสนับสนุนของเรา มีการลงนามข้อตกลงมากกว่า 60 ฉบับ มีโครงการมากกว่า 300 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และดึงดูดการลงทุนทั้งหมดเกิน 22,000 ล้านดอลลาร์”

นายอเล็กซานเดอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามูลนิธิรอสคองเกรสสร้างโอกาสแก่ธุรกิจไทย ในการค้นหาคู่ค้า บรรลุข้อตกลง และหารือเพื่อการร่วมมือในอนาคต และสิ่งสำคัญคือ ปัจจุบันการพัฒนาความร่วมมือของทั้งสองประเทศได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยรัฐบาลรัสเซียเสนอเงื่อนไขที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้แก่ไทย ตัวอย่างเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ พื้นที่การพัฒนาขั้นสูงในภาคตะวันออกไกล ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและขั้นตอนการบริหารที่ไม่ซับซ้อน โดยไทยสนใจการส่งออกและความช่วยเหลือในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากรัสเซีย นอกจากนี้การส่งมอบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรวมทั้งทรัพยากรด้านพลังงานของรัสเซียอย่างสม่ำเสมอ ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศของไทยและช่วยลดต้นทุนการผลิตเช่นเดียวกัน ซึ่งโครงการของมูลนิธิรอสคองเกรส มีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว และการนำเสนอโครงการข้างต้น ถือเป็นหัวใจหลักของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในไทย


ด้านนายเยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยและรัสเซียได้สร้างความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จ ในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เช่น พลังงานและเกษตรกรรม รวมทั้งกำลังหารือประเด็นการบังคับใช้กฎหมายผ่านสภาความมั่นคงของรัสเซียและไทย นอกจากนี้ทั้งสองประเทศอยู่ในช่วงพิจารณาความเป็นไปได้ของข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพเศรษฐกิจ ยูเรเชีย (Eurasian Economic Union : EAEU) ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้ อีกทั้งความร่วมมือด้านมนุษยธรรมก็อยู่ในช่วงดำเนินการผ่านโครงการร่วมในด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษา และวัฒนธรรม มั่นใจว่าการประชุมครั้งนี้จะกลายเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาโครงการในพื้นที่เหล่านี้ รวมถึงในเวทีธุรกิจสำคัญในรัสเซีย

ด้านนายยูริ ลีชิน (Yuri Lyzhin) ผู้แทนทางการค้าของสหพันธรัฐรัสเซียประจำประเทศไทย กล่าวเสริมด้วยว่า เราได้รับคำขอทางด้านความร่วมมือจากทั้งนักธุรกิจไทยและธุรกิจจากทางรัสเซียเป็นจำนวนมาก และการประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพพร้อมค้นหาวิธีการผ่านอุปสรรคร่วมกัน นี้คืออีกเหตุผลสำคัญที่ธุรกิจไทยควรเข้าร่วมอีเว้นท์ทางธุรกิจของรัสเซีย รวมไปถึงงานที่จะจัดขึ้นจากมูลนิธิรอสคองเกรส ยิ่งมีจำนวนบริษัทเข้าร่วมมากเท่าไรเราก็ยิ่งมีโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือทางธุรกิจมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้นหากมีผู้ที่สนใจที่จะเข้าร่วมการเจรจาทางธุรกิจในปี 2568 ที่จะถึงนี้ สามารถเข้าร่วมได้ที่ the St.Petersburg International Economic Forum ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 มิถุนายน 2568และในช่วงฤดูใบไม้ร่วงกับ the Eastern Economic Forum ที่เมืองวลาดิวอสตอค ระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2568.
กำลังโหลดความคิดเห็น