- • ค่าผ่านทางเบื้องต้น 60 บาท/คัน คาดรายได้วันละ 4 ล้านบาท
- • รายได้อาจไม่จูงใจเอกชน รัฐอาจต้องลงทุนด้านโยธาเองบางส่วน
- • โครงการใช้รูปแบบ PPP-Gross คาดประมูลปี 2569 ก่อสร้าง 3 ปี
กทพ.ฟังเสียงเอกชนร่วมลงทุนทางด่วน “ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ” มูลค่า 2 หมื่นล้าน ก่อนเคาะรูปแบบ ค่าผ่านทาง 60 บาท/คัน คาดรายได้ปีแรก 4 ล้านบาท/วัน อาจไม่จูงใจ ที่ปรึกษาแย้มรัฐอาจต้องลงทุนโยธาเอง PPP-Gross Cost ด้าน บิ๊กรับเหมา,รถไฟฟ้า-ทางด่วน และแบงก์ร่วมให้ความเห็น เปิดประมูลปี 2569 ก่อสร้าง 3 ปี
วันนี้ (16 ธันวาคม พ.ศ. 2567) นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการ (ยุทธศาสตร์และแผน) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่าป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Opinion hearing) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า ก่อนหน้านี้ กทพ.และที่ปรึกษาได้ศึกษาและเปิดรับฟังความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในมิติของการพัฒนาโครงการ และผลกระทบต่างๆ เพื่อจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในครั้งนี้เป็นมิติด้านการลงทุนเพื่อดำเนินโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ข้อมูลสาระสำคัญของโครงการแก่นักลงทุน ประเมินความสนใจและสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชนและสถาบันการเงิน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะจากนักลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง นำไปประกอบการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 หรือร่วมทุน PPP เพื่อลดภาระการลงทุนภาครัฐ อีกทั้งต้องการความรู้ ความชำนาญในการทำงานและให้บริการ ตลอดจนเครื่องมือทางการเงินที่มีมากกว่าของเอกชน
ซึ่งหลังรับฟังความเห็นแล้วจะนำไปพิจารณาและคาดว่าจะสรุปได้กลางปี 2568 นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติและดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2562) หรือ PPP ในปี 2569 จากนั้นจะดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ระหว่างปี 2569-2571 ลงนามสัญญาในปี 2570 เริ่มก่อสร้างปี 2571 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2574 ระยะเวลาดำเนินงานรและบำรุงรักษา 30 ปี
ส่วน การศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รบฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องครบแล้วคาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ จากนั้นจะเสนอสผ.ขออนุมัติรายงาน EIA ในปี 2568 ต่อไป
สำหรับโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะทางทั้งหมดประมาณ 15.8 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุนของโครงการ ทั้งหมดประมาณ 20,701 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง ค่าออกแบบ ค่าระบบ วงเงิน 19,136 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 725 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ 840 ล้านบาท (จำนวน 111 แปลง / สิ่งปลูกสร้าง 47 หลัง / 76 ราย ) โดยมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) ของโครงการ 14.04%และผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) ของโครงการ 5.86%
คาดการณ์ปริมาณจราจรในปีเปิดให้บริการ (ปี 2574) ประมาณ 68,909 คัน/วัน โดยมีรายได้จากค่าผ่านทาง 4.35 ล้านบาท/วัน และปริมาณจราจรเพิ่มขึ้นเป็น 90,036 คัน/วันในปีที่ 30 โดยมีรายได้ค่าผ่านทาง 9.97 ล้านบาท/วัน กำหนดอัตราค่าผ่านทางในปีเปิดให้บริการสำหรับรถยนต์ 4 ล้อที่ 60 บาท รถ 6-10 ล้ออัตรา 90 บาท รถมากกว่า 10 ล้ออัตรา 120 บาท และปรับค่าผ่านทางทุกๆ 5 ปี สำหรับรถยนต์ 4 ล้อปรับขึ้น 5 บาท รถมากกว่า 6 ล้อปรับขึ้น 10 บาท รถมากกว่า 10 ล้อปรับขึ้น 15 บาท
ทั้งนี้ กทพ. เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของเอกชนในการดำเนินโครงการ ทางพิเศษ จึงเปิดโอกาสให้เอกชน เข้าร่วมทุนในโครงการ โดยรัฐจะรับผิดชอบงาน จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และเอกชนจะรับผิดชอบงานออกแบบ และก่อสร้างงานโยธาของโครงการ รวมทั้งติดตั้งงานระบบทางพิเศษ รวมถึงดำเนินงานและบำรุงรักษา พร้อมจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง และบริหารจัดการ ทั้งนี้จะเปิดกว้างการรับฟังข้อแนะนำจากเอกชนทุกรูปแบบ ว่ารัฐควรลงทุนแค่ไหนหรือให้การสนับสนุนเอกชนอย่างไร เอกชนควรลงทุนรูปแบบใด ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน
@ลดขนาดเหลือ 4 ช่องจราจรช่วยลดต้นทุนค่าก่อสร้าง
ซึ่งโครงการนี้เดิมกรมทางหลวง ศึกษาออกแบบเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป/กลับ) โดยจะเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุน ทั้งหมดก่อสร้างและระบบ รัฐโดยกรมทางหลวงทยอยใช้คืนค่าสก่อสร้างให้เอกชน (PPP Net Cost) ต่อมาโอนให้กทพ.รับดำเนินการ ได้มีการทบทวนการศึกษาทุกมิติตามภาวะการปัจจุบันหลังจากเกิดโควิด-19 ซึ่งพบว่าปริมาณจราจรลดลงจากเดิมทำให้ปรับลดแบบเป็น 4 ช่องจราจรและรวมโครงสร้างก่อสร้างมาอยู่บน Service Road ฝั่งเดียวได้ ลดผลกระทบ และทำให้ค่าลงทุนลงจากจากกว่า 3 หมื่นล้านบาทเหลือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
นายนครินทร์ สัทธรรมนุวงศ์ ผู้จัดการโครงการกล่าวว่า จากการประเมินความสนใจของเอกชน และการลงทุนโครงการที่มีผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) ของโครงการ 5.86% กับสภาวเศรษฐกิจ รูปแบบ PPP Net Cost ที่ให้เอกชนลงทุน 100% ทั้งก่อสร้างและบริหารโครงการ เทียบกับการที่รัฐลงทุนงานโยธาเอง ในรูปแบบ PPP Gross Cost เอกชนน่าจะสนใจรูปแบบ ที่รัฐลงทุนงานโยธาเองเพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า โดยคัดเลือกเอกชนที่เสนอรับผลตอบแทนจากรัฐน้อยที่สุด ขณะที่รัฐก็จะมีรายได้ใช้คืนค่าลงทุนได้
โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมและแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น
แนวเส้นทางโครงการเป็นรูปแบบทางยกระดับตามแนวทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 โดยมีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดปลายของทางพิเศษศรีรัช ส่วน D ในปัจจุบัน เป็นทางยกระดับ 2 ฝั่ง แบ่งทิศทาง (ไป-กลับ) ทิศทางละ 2 ช่องจราจร ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และทางบริการ ทั้ง 2 ฝั่ง (ทิศเหนือ-ทิศใต้) มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกผ่านทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ จากนั้นทางยกระดับด้านทิศเหนือจะเบี่ยงลงมารวมกับทางยกระดับด้านทิศใต้เป็นโครงสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 8.95 กิโลเมตร ผ่านทางแยกต่างระดับทับช้าง ก่อนจะแยกโครงสร้างเป็น 2 ฝั่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณจุดตัดถนนร่มเกล้า จากนั้นจะแยกออกจากทางหลักขนาด 2 ช่องจราจร เลี้ยวขวาเข้าเชื่อมทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ และทางหลักจะมุ่งหน้าผ่านทางแยกต่างระดับสุวรรณภูมิ จากนั้นลดระดับลงบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณหน้าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 15.8 กิโลเมตร
โดยมีจุดเข้า-ออกโครงการ 3 จุด คือ 1) จุดเริ่มต้นโครงการ บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ 2) จุดเชื่อมต่อทางเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ 3) จุุดสิ้นสุดโครงการ บริเวณหน้า สจล. และมี ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษตั้งอยู่บนโครงสร้างทางยกระดับทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก บริเวณทางแยกต่างระดับร่มเกล้า โดยจัดเก็บค่าผ่านทางระบบเปิด แบบใช้พนักงาน (MTC) และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ETC) ร่วมกัน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน มีภาคเอกชนสนใจเข้าร่วมหลายกลุ่ม เช่น บมจ.ช.การช่าง ,บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ,บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น ,บริษัท เอ เอส แอสโซซิเอท เอ็นยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ,บริษัท ซีเอสอีซี (ไทย) จำกัด , บริษัท ไชน่า สเท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ,บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ. บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ , บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ,บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ,บมจ.ราช กรุ๊ป,บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ,บมจ.กัลป์ เอ็นเนอ์จี ดีเวลลอปเมนท์ ,ธนาคารกรุงเทพ,ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น