xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มบ้านปูอัดงบลุยลงทุนในสหรัฐฯ เน้นธุรกิจก๊าซฯ-โรงไฟฟ้า-CCUS มั่นใจทรัมป์ 2.0 ไม่ทิ้งพลังงานสะอาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • เน้นลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
  • • สาเหตุหลักคือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงและตลาดไฟฟ้าเสรีของสหรัฐฯ
  • • การลงทุนนี้เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับตลาดไฟฟ้าในอนาคต


ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีบริษัทเอกชนไทยหลายรายพากันเข้าไปลงทุนธุรกิจพลังงานโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมาก และตลาดการซื้อขายไฟฟ้าเสรีถือเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับตลาดไฟฟ้าเสรีของไทยในอนาคต

ซึ่งรัฐบาลทรัมป์ 2.0 เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายใหม่ของภาคเอกชนไทยที่ได้ลงทุนอยู่แล้วในสหรัฐอเมริการวมถึงผู้ที่สนใจจะลงทุนโดยเฉพาะธุรกิจพลังงานนั้น มองว่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ในการขยายการลงทุนแต่ก็มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองเช่นกัน ดังนั้นช่วงนี้นักลงทุนต่างรอดูนโยบายที่ชัดเจนหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยที่ 2 ในวันที่ 20 มกราคม 2568

บ้านปู เป็นบริษัทเอกชนไทยรายแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนธุรกิจพลังงานในสหรัฐฯ ร่วม 10 ปีที่ผ่านมา โดยส่งบริษัทลูกคือ BKV Corporation (BKV) ลงทุนถือหุ้นในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในแหล่งก๊าซมาร์เซลลัส (Marcellus) ในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ต่อมาลงทุนในแหล่งก๊าซบาร์เนตต์ ในรัฐเทกซัส จนปัจจุบันบ้านปูซึ่งมีกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันราว 800-900 ล้านลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าต่อวัน ส่งผลให้ BKV Corporation ซึ่งเป็นบริษัทย่อยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติ 20 อันดับแรกของสหรัฐฯ ทั้งนี้ BKV ยังดูแลระบบท่อส่งรวม การแยกก๊าซ และการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มอัตรากำไรและลดต้นทุนการดำเนินงาน

ในปี 2564 กลุ่มบ้านปูมองเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจก๊าซฯ จึงได้ขยายพอร์ตลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ “Temple I” ในสหรัฐฯ ขนาดกำลังผลิต 768 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนลงทุนในโรงไฟฟ้า Temple II ที่อยู่พื้นที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลให้มีกำลังการผลิตรวมกัน 1,499 เมกะวัตต์ และเข้าสู่ตลาดไฟฟ้าเสรี ERCOT (Electric Reliability Council of Texas) เขตเหนือ ในเมืองเทมเพิล รัฐเทกซัส โดยทำธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Power Trading) และธุรกิจค้าปลีกไฟฟ้า (Power Retail) เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าโดยตรงให้แก่ผู้บริโภครายย่อย


จากนั้นได้ต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่แข็งแกร่ง โดยมี BKV dCarbon Ventures, LLC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BKV Corporation โดยลงทุนในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration: CCUS) จากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลพลอยได้ (Byproduct) จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติ สามารถจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่มีคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon-Sequestered Gas: CSG)1 ได้ในราคาพรีเมียม ปัจจุบัน BKV ได้ทำสัญญากับ ENGIE Energy Marketing NA, Inc ในเดือนสิงหาคม 2566 และล่าสุดเพิ่งทำสัญญากับ Kiewit Infrastructure South Co. บริษัทในเครือของ Kiewit Corporation ในเดือนมิถุนายน 2567 คาดว่าทำการส่งมอบ CSG จะในปลายปีนี้เป็นต้นไป

 ปี 68 เร่งลงทุนธุรกิจก๊าซฯ-ไฟฟ้า

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์ทางธุรกิจที่สำคัญของกลุ่มบ้านปูที่สร้างรายได้และกระแสเงินสดมาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ในปี 2568 บริษัทเน้นการลงทุนเพิ่มเติมทั้งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ รองรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจ AI &Data Center ที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จะให้ความสำคัญต่อบริษัทที่มีการลงทุนในสหรัฐอเมริกา จึงเป็นโอกาสดีที่บริษัทจะขยายการลงทุนเพิ่มเติม

ขณะที่บริษัทลูกคือ BKV Corporation ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) เมื่อวันที่ 26 กันยายน 256 โดย BKV เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 15 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 18 ดอลลาร์สหรัฐ รวมมูลค่าการระดมทุนประมาณ 261 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.8 พันล้านบาท นับเป็นการปลดล็อกมูลค่าที่แท้จริงของ BKV หลังจากบ้านปูได้เพียรพยายามหาจังหวะนำ BKV เข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กมาเป็นเวลานาน ช่วยให้ฐานะทางการเงินมีความเข้มแข็งอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะเดียวกัน BKV มองหาโอกาสลงทุนเพิ่มเติมทั้งธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โครงการพลังงานสะอาด เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ในสหรัฐอเมริกาด้วย


อัดงบลงทุนปี 68-73 รวม 3,000 ล้านดอลล์

ทั้งนี้ บ้านปูวางงบลงทุนในปี 2568-2573 ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เน้นการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) คิดเป็น 60% ของงบลงทุนทั้งหมด ส่วนงบลงทุนที่เหลืออีก 40% จะลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ ธุรกิจเหมืองแร่ยุคใหม่ และอื่นๆ

ทำให้บ้านปูจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าจากฐาน EBITDA ปี 2566 ที่ 1,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าบริษัทไม่มีนโยบายลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกต่อไปก็ตาม

ภายใต้กลยุทธ์ใหม่ “Energy Symphonics” หรือ “เอเนอร์ยี ซิมโฟนิกส์” ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ปี 2030 เน้นการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน ผสานพลังงานที่หลากหลายสร้างโซลูชันพลังงานใหม่ที่ยั่งยืน สะท้อนความเป็นผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างมีความรับผิดชอบ บรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อยกว่า 20% ภายในปี 2573 ดังนั้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) จะมีบทบาทมากขึ้น

โดยบ้านปูจะเร่งขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Renewables+) เช่น ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System: BESS) ธุรกิจปลายน้ำที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจคาร์บอนเครดิต


บ้านปู เน็กซ์ เป็นแกนนำในการให้บริการ Net Zero Solutions ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยลงทุนพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นโครงการโซลาร์ลอยน้ำ โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป ควบคู่กับระบบกักเก็บพลังงานหรือแบตเตอรี่ ทางบ้านปู เน็กซ์ได้ร่วมทุนกับพันธมิตรตั้ง 2 โรงงานประกอบแบตเตอรี่ในไทย โดยบริษัทได้จับมือกับดูราเพาเวอร์ ผู้นำด้านระบบแบตเตอรี่จัดเก็บพลังงานแบบลิเทียมไอออนระดับโลก ตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่ดีพี เน็กซ์ ในประเทศไทย โดยได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ เบื้องต้นประกอบแบตเตอรี่มากกว่า 15,000 ชุดต่อปี และจะขยายเพิ่มเป็น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงในอนาคต เพื่อป้อนให้รถบัสไฟฟ้าของเชิดชัย มอเตอร์เซลส์ รวมทั้งผู้ให้บริการรถบรรทุก ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ไฟฟ้า และผู้ผลิตเรือไฟฟ้า เป็นต้น โดยกำลังการผลิต 80% ป้อนตลาดในไทย และที่เหลือส่งออกไปยังตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา

บริษัท บ้านปู เน็กซ์ ยังได้จับมือพันธมิตรอย่าง บริษัท มารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น (มารูเบนิ) และบริษัท ฟุโย เจเนอรัล ลีส จำกัด (ฟุโย) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อให้บริการฟลีครถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แบบครบวงจรในประเทศไทยครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา จัดหายานพาหนะ ดำเนินการ บำรุงรักษา และเปลี่ยนคันใหม่เพื่อการใช้งานที่ต่อเนื่องในการบริการ ไปจนถึงติดตั้งสถานีชาร์จและนำระบบมาใช้บริหารจัดการเพื่อรองรับการชาร์จตามเส้นทาง ตลอดจนนำแบตเตอรี่มารีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานได้อย่างราบรื่นด้วย

นอกจากนี้ “บ้านปู” พัฒนาธุรกิจเหมืองแร่ยุคใหม่ เป็นการทำเหมืองอัจฉริยะที่ผสานการใช้โซลูชันอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการทำเหมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนในแร่แห่งอนาคตที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เช่น แร่นิกเกิล แร่ทองแดง และแร่ทองคำ โดยยอมรับว่าราคานิกเกิลที่อ่อนตัวลงมามาก จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนเหมืองแร่นิกเกิลในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งแร่นิกเกิลเป็นแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2568


BPP เร่งลงทุน 3 ประเทศเป้าหมาย

ด้านบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BPP) ประกาศงบลงทุนปี 2568-2573 อยู่ที่ 1,000-1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 90% เน้นลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (Combined Cycle Gas Turbines: CCGT) โดยวางเป้าหมายผลิตไฟฟ้าใหม่จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 1,500 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 จากปัจจุบันกำลังผลิตรวมที่ 3,652 เมกะวัตต์

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า BPP กำหนด 3 ประเทศยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นลงทุน คือ สหรัฐอเมริกา จีน และอินโดนีเซีย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น 1,500 เมกะวัตต์ในปี 2573 โดยจะเน้นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT ผ่านการร่วมทุนกับ BKV ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งขยายการลงทุนแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (BESS) และโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อาทิ โซลาร์ฟาร์ม บริษัทมองว่ายังมีโอกาสการลงทุนเพิ่มเติม แต่ต้องดูผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ต้องดีด้วยเพราะการแข่งขันสูงและต้นทุนต้องแข่งขันได้

ประเทศจีน BPP ผนึกกำลังกับพันธมิตร เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอพลังงานหมุนเวียนและส่งเสริมการศึกษาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมในโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHPs) ทั้ง 3 แห่ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ส่วนประเทศอินโดนีเซีย เน้นลงทุนในพลังงานทดแทนที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ (Gas Value Chain) เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีนโยบายส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้นเพื่อลดการใช้น้ำมันและถ่านหิน จำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่บริษัทเข้าลงทุนธุรกิจก๊าซฯ ขั้นกลางและขั้นปลาย แต่ธุรกิจต้นน้ำอย่างสำรวจและผลิต (E&P) ปิโตรเลียม ทาง BPP ไม่สนใจลงทุน

ทั้งนี้ บริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรคือ Indo Tambangraya Megah Tbk1 (ITM) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ และการให้บริการจัดส่งก๊าซทางท่อให้กับลูกค้าขนาดกลางและเล็ก เช่น ร้านอาหาร ฯลฯ โดยจะเริ่มจากบางเมืองก่อน หลังจากรัฐบาลอินโดนีเซียเปิดให้ต่างชาติลงทุนสาธารณูปโภคขนาดเล็กได้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 100-200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปีหน้าจะเห็นความชัดเจนในการลงทุน รวมทั้งการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น และสร้างงานแก่ชุมชน

ในปี 2573 BPP ตั้งเป้ากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมมากกว่า 1.8 เท่าเทียบจาก EBITDA เฉลี่ยปี 2565-66 อยู่ที่ 8,155 ล้านบาท โดยสัดส่วน 65% ของ EBITDA หรือ 2 ใน 3 มาจากธุรกิจที่ใช้พลังงานสะอาด


นายอิศรากล่าวว่า บริษัทเริ่มศึกษาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR: Small Modular Reactor) น่าจะเป็นเทรนด์ที่ช่วยปิดช่องว่างของพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาดที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง สอดคล้องความต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดของกลุ่ม AI-Data Center และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด

นอกจากนี้ บริษัทยังพร้อมลงทุนพลังงานหมุนเวียนในไทย หากจะมีการเปิดประมูลซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed in Tariff (FiT) เฟส 2 หลังจากก่อนหน้านี้บริษัทมีหลายโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่ผ่านเทคนิคและได้รับการประเมินคะแนนแล้วแต่ไม่ได้รับคัดเลือก ซึ่งเดิมจะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่ถูกระงับไปก่อนในช่วงนี้

ทั้งนี้ BPP เดินหน้าพัฒนาและบริหารจัดการต้นทุนในสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อเสริมศักยภาพในการทำกำไร พร้อมขยายการลงทุนไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ในธุรกิจที่จะมาสนับสนุนการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานตามแนวทาง Beyond Quality Megawatts


กำลังโหลดความคิดเห็น