- • งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เปิดประมูลต้นปี 2568
- • คาดใช้เวลาซ่อม 12 เดือน
- • ซ่อมแซม ฐานราก ตอม่อ และเสาใหม่ทั้งหมด
- • ยกความสูงให้เท่าสะพานพระปกเกล้า และสามารถเปิด-ปิดได้
- • คงเอกลักษณ์สะพานเหล็กเดิมไว้
ทช.เตรียมซ่อมบูรณะสะพานพระพุทธยอดฟ้าครั้งใหญ่ หลังใช้งานเกือบ100 ปี ตั้งงบกว่า 300 ล้านบาท เปิดประมูลต้นปี 68 คาดปิดซ่อม 12 เดือน ทำใหม่”ฐานราก ตอม่อ เสา” ยกความสูงเท่าสะพานพระปกเกล้า และเปิด-ปิดได้ คงเอกลักษณ์สะพานเหล็กเดิม
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท(ทช.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 ทช.ได้มีแผนดำเนินการ ซ่อมบูรณะโครงสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า โดยได้งบประมาณสำหรับดำเนินการบแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างจัดทำร่างขอบเขตของงาน Terms of Reference (TOR) เพื่อประกวดราคาหาผู้รับจ้างเข้าดำเนินการภายในปี 2568 ซึ่งในระหว่างการซ่อมบูรณะนั้น มีความจำเป็นต้องปิดสะพานพุทธฯ โดยก่อนดำเนินการ ทช.จะมีการประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลพร้อมประสานหน่วยงานทีเ่กี่ยวข้องเพื่อจัดทำเส้นทางเลี่ยงให้ประชาชน เพื่อลดผลกระทบให้มากที่สุด
ด้าน นายพิชิต หุ่นศิริ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ด้านบำรุงทาง) ทช.กล่าวว่า โครงการบูรณะโครงสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เป็นงบผูกพัน 2ปี (ปี 68-69) คาดว่าจะสรุปและประกาศร่าง TOR เพื่อเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้างได้ในเดือนม.ค. 2568 ใช้เวลาคัดเลือกประกาศผล ได้ตัวผู้รับจ้างประมาณเดือนเม.ย. และเริ่มดำเนินการโครงการตั้งแต่กลางปี 2568 ใช้ระยะเวลาซ่อมบูรณะประมาณ 12 เดือน
สำหรับสะพานฯ มีอายุการใช้งานมาเกือบ 100 ปีแล้ว เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นอีกสะพานเก่าแก่ ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ ของทช. โดยมีการตรวจเช็คสภาพมาตลอด แต่เนื่องจาก สะพานพุทธฯไม่เคยได้รับการซ่อมบูรณะครั้งใหญ่ ทำให้ต้องลดการใช้งานเพื่อลดการรับน้ำหนักของสะพาน เช่น ห้ามรถบรรทุกใช้สะพาน ให้ใช้ได้เฉาะรถเล็ก เท่านั้น
ทั้งนี้ ทช.ได้มีการศึกษา รวมทั้งหารือกับ กรมศิลปากร คณะกรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการำทงานร่วมกัน โดยจะยังคงเอกลักษณ์ และไฮไลต์รูปแบบโครงสร้างที่เป็นสะพานเหล็ก และสีเขียวเดิมของสะพานไว้ทั้งหมด รวมทั้งให้สะพานกลับมาเปิด-ปิด ถือเป็นไฮไลท์ ของแม่น้ำเจ้าพระยา มาเกือบ100 ปี และเพื่อรองรับการเดินทางทางน้ำ ได้เหมือนเดิม
สำหรับแผนการซ่อมบูรณะนั้น จะก่อสร้างเสาเข็ม ฐานราก และเสาตอม่อใหม่ทั้งหมด ส่วนโครงสร้างเหล็กสะพานของเดิมที่มีสภาพดีจะคงใช้ต่อไปแต่ชิ้นส่วนไหนที่หมดสภาพจะเปลี่ยนใหม่ โดยรูปแบบลักษณะเหล็กจะต้องเหมือนของเดิม สีเหมือนเดิม นอกจากนี้ จะมีการต่อเสาสะพานเพื่อปรับยกความสูงของท้องสะพานขึ้นจากระดับน้ำอีกประมาณ 1 เมตร เพื่อให้ท้องสะพานพุทธฯ อยู่ในระดับเดียวกับสะพานพระปกเล้า ที่อยู่ข้างเคียงด้วย
“โครงสร้างเหล็กสะพานพุทธฯนั้น นำเข้ามาจากต่างประเทศขนส่งทางเรือเข้ามาประกอบในไทย สภาพโดยรวมของเหล็กยังดี แต่ส่วนที่อยู่ในน้ำ ถูกกัดกร่อน หากไม่ปิดสะพานและเร่งดำเนินการซ่อมใหญ่ การใช้งานก็อาจจะเสี่ยง การซ่อมบูรณะมีเป้าหมายให้สะพานกลับมามั่นคงแข็งแรง โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จกลับมาเปิดใช้สะพานพุทธณได้อีกครั้งในกลางปี 2569 และเป็นหนึ่งแลนด์มาร์กของกรุงเทพฯ ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อไป“