xs
xsm
sm
md
lg

”รถไฟฟ้าสีม่วงใต้”สร้างคืบกว่า 46% หัวเจาะอุโมงค์คาดทะลุสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ม.ค.69

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • กำลังก่อสร้างกำแพงกันดิน, โครงสร้างสถานี และขุดเจาะอุโมงค์
  • • การขุดเจาะอุโมงค์ใต้ถนนทหาร เริ่มจากสถานีศรีย่าน มุ่งสู่สถานีวชิรพยาบาล คาดทะลุสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ม.ค. 69
  • • คาดเปิดให้บริการปี 2571
  • • รฟม. เน้นย้ำความปลอดภัยและความสะอาดในการก่อสร้าง


บอร์ด รฟม. ตรวจคืบหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ผลงาน พ.ย.67 คืบหน้ากว่า 46% ลุยสร้างกำแพงกันดินสถานี โครงสร้าง ส่วนขุดเจาะอุโมงค์ แนวใต้ถนนทหารอยู่ที่สถานีศรีย่านมุ่ง สถานีวชิรพยาบาล คาดทะลุสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในม.ค.69 เปิดใช้ปี 71สั่งเข้มความปลอดภัยและความสะอาด

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2567 นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในฐานะประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วย กรรมการ รฟม. ผู้บริหาร รฟม. และคณะ ได้ลงพื้นที่บริเวณ Cut&Cover ถนนทหาร เพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และการดำเนินงาน ขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) ของหัวขุดเจาะอุโมงค์ ตัวที่ 2 (Tunnel Boring Machine 2 : TBM No.2) ซึ่ง ผลการดำเนินงานก่อสร้างโครงการฯ ในภาพรวม ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 46.34

นายมนตรี กล่าวว่า ได้ตรวจความเรียบร้อยและความปลอดภัยในการดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยได้กำชับให้ รฟม. กำกับดูแลการทำงานของผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาในทุกสัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานมีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผนงาน และเน้นย้ำให้การดำเนินงานก่อสร้างอยู่ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัยสูงสุด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้สัญจรผ่านพื้นที่ก่อสร้าง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน อาทิ ตรวจสอบสภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมใช้งาน การจัดเก็บอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟให้อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย การทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างหลังจากทำงานแล้วเสร็จ รวมถึงการยึดติดป้ายเตือนต่างๆ ให้มีความมั่นคงแข็งแรง อยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัย และสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามมาตรการการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการปฏิบัติตามมาตรการลดผลกระทบด้านการจราจร โดยเฉพาะในจุดที่มีการจราจรคับคั่ง อาทิ ชุมชน โรงเรียน ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและตำรวจในท้องที่ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรให้แก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง 


สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธาในภาพรวม ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2567 คิดเป็นร้อยละ 46.34 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้างกำแพงกันดินสถานี งานก่อสร้างโครงสร้างชั้นใต้ดิน งานขุดเจาะอุโมงค์ทางวิ่ง งานก่อสร้างเสาเข็ม โครงสร้างสถานีและโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ งานปรับพื้นที่บริเวณจุดก่อสร้างอาคารจอดรถไฟฟ้า เป็นต้น


ส่วนความคืบหน้าการดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์ ในส่วนของสัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน - หอสมุดแห่งชาติ และสัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ - ผ่านฟ้า ที่มีกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล เป็นผู้รับจ้างออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีความก้าวหน้ารายสัญญาอยู่ที่ร้อยละ 61.02 และร้อยละ 52.95 ตามลำดับ ซึ่งหัวขุดเจาะอุโมงค์ทั้ง 3 ตัว ของกิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-พีแอล ได้เริ่มเดินเครื่องแล้ว 2 ตัว


โดยหัวขุดเจาะอุโมงค์ ตัวที่ 1 (TBM No.1) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2567 โดยดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์สายใต้ (Southbound) จากบริเวณ Cut&Cover ถนนทหาร ปัจจุบันอยู่ที่สถานีศรีย่านมุ่งหน้าไปสถานีวชิรพยาบาล และจะไปสิ้นสุดที่สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายในเดือนมกราคม 2569

ส่วนหัวขุดเจาะอุโมงค์ TBM No.2 เริ่มต้นขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) จากบริเวณ Cut&Cover ถนนทหาร ปัจจุบันอยู่ระหว่างมุ่งหน้าไปสถานีศรีย่านและจะไปสิ้นสุดที่สถานีหอสมุดแห่งชาติ ภายในเดือนมิถุนายน 2568 และสำหรับหัวเจาะขุดเจาะอุโมงค์ TBM No.3 นั้น มีแผนเริ่มเดินเครื่องหัวขุดเจาะอุโมงค์สายเหนือ (Northbound) ต่อจากสถานีหอสมุดแห่งชาติ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2568 ซึ่งตามแผนงานจะไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภายในเดือนกันยายน 2568


โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี แบ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร มีสถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ 7 สถานี สำหรับแนวเส้นทางจะเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) นอกจากนี้ ยังมีสถานีที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ของ รฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับผู้ใช้บริการ ได้แก่ สถานีสามยอดที่เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงิน และสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งในอนาคตจะเชื่อมต่อกับสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งตามแผนงานคาดว่าจะเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ได้ ภายในปี 2571


กำลังโหลดความคิดเห็น