xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯรฟท.เบรกแก้สัญญาจ้างขนรถไฟ Kiha จากญี่ปุ่น ตั้งสอบข้อเท็จจริงปมเอื้อเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • รฟท. ระงับการแก้ไขสัญญาจ้างขนส่งรถไฟมือสองจากญี่ปุ่น
  • • ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีถอดแคร่และใช้วิศวกรไทยแทนญี่ปุ่น
  • • การเปลี่ยนแปลงสัญญาสงสัยว่าเอื้อประโยชน์เอกชน ลดค่าใช้จ่าย แต่รฟท.เสียหาย
  • • รฟท.จ่ายเงินแล้ว 2 งวด แต่รถไฟยังอยู่แหลมฉบัง ถูกแดดฝน
  • • สัญญาครบกำหนดแล้ว แต่รถไฟยังไม่พร้อมใช้งาน


“วีริศ”เบรกแก้สัญญาจ้างขนขบวนรถไฟ Kiha 40/48 จากญี่ปุ่น พร้อมตั้งสอบข้อเท็จจริง ปมถอดแคร่ใช้วิศวกรไทยคุมแทนญี่ปุ่น ส่อเอื้อประโยชน์ช่วยเอกชนลดค่าใช้จ่าย แต่รฟท.เสียหาย จ่ายค่างานไปแล้ว 2 งวด สัญญาครบเวลา แต่รถยังจอดตากแดดตากฝนที่”แหลมฉบัง”

รายงานข่าว เปิดเผยว่า จากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำสัญญาจ้าง บริษัท กรีน เจเนอเรชั่น เวิลด์ไวด์ จำกัด  วงเงิน 48.6 ล้านบาท ทำการขนส่ง ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ Kiha  จำนวน 20 คัน ประกอบด้วย Kiha 40 จำนวน 11 คัน และ Kiha 48 จำนวน 9 คันจากเมืองนีงาตะ (Niigata)ประเทศญี่ปุ่น มาประเทศไทย ซึ่งเป็นขบวนรถไฟที่ บริษัท East Japan Railway Company หรือJR East มอบ(บริจาค)  ซึ่งขนส่งถึงท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2567 โดยสัญญาจ้างขนส่งครบกำหนดไปเมื่อต้นเดือน กันยายน 2567  แต่ปัจจุบันขบวนรถไฟทั้ง 20 ตู้ ยังอยู่ที่ ย่านสถานีรถไฟแหลมฉบัง จ.ชลบุรี 

โดยเอกชนได้ขอแก้ไขสัญญาในประเด็นการแยกตัวรถที่ประเทศญี่ปุ่นก่อนขนมาที่ประเทศไทย โดยอ้างพื้นที่ปฏิบัติงานไม่เพียงพอ และอ้างเหตุแผ่นดินไหวเมื่อเดือนมกราคาที่จังหวัด อิชิคาวะ จากเงื่อนไขที่จะต้องมีการถอดแคร่ (Bogie) ออกจากตัวรถ(Body) ที่ญี่ปุ่นก่อนนำลงเรือ
ซึ่ง รฟท. อนุมัติแก้ไขเอกสารแก้ไขสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการปฎิบัติงานจริง เมื่อมีการนำรถ 20 คัน ลงเรือมาถึงไทย โดยไม่ได้ถอดแคร่ ออกจากตัวรถแล้ว ยังพบว่าไม่ได้นำรถไปไว้ในลานเก็บสินค้า ตามเงื่อนไข แต่กลับนำมาไว้ที่สถานีรถไฟแหลมฉบังแทนอีกด้วย ซึ่งกรณีไม่ถอดแคร่  ทำให้เอกชนทำงานน้อยลงและประหยัดค่าใช้จ่ายลงด้วย รวมถึงการนำรถมาไว้ที่สถานีรถไฟแหลมฉบัง็ทำให้เอกชนประหยัดค่าวางสินค้าที่แหลมฉบังอีกด้วย แต่คณะกรรมการตรวจรับงานของรฟท. ยังตรวจรับงานและจ่ายค่างานให้ไปแล้วจำนวน 2 งวด ๆ ละ 19.44 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 38.88 ล้านบาท คิดเป็น 80% ของวงเงินสัญญา โดยไม่มีการปรับลดค่างานตามค่าใช้จ่ายที่ลดลง

ล่าสุดกรณีการถอดแคร่ออกจากตัวรถที่ประเทศไทย จากนั้นนำแคร่ไปปรับขนาดฐานเพลาล้อจาก 1.067 เมตร ให้เป็น ขนาด 1.00 เมตร ให้เท่ากับขนาดความกว้างของรางรถไฟประเทศไทย ที่โรงงานมักกะสัน  เมื่อปรับเพลาล้อเสร็จก่อน  จึงนำแคร่มาประกอบกับตัวรถในลานสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง จากนั้นจึงนำขบวนรถไฟทั้ง 20 คันแล่นมาตามรางรถไฟและนำมาปรับปรุงตัวรถต่อไป ซึ่งกระบวนการถอดและประกอบแคร่นั้น จะต้องมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นควบคุมงาน

ซึ่งรายงานข่าวแจ้งว่า ทางเอกชนผู้รับจ้าง ได้เสนอขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ขอไม่ใช้วิศกวรญี่ปุนควบคุม แต่ขอใช้วิศวกรฝ่ายไทยแทน ซึ่งล่าสุด นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการฯรฟท. ไม่ยอมเซ็นอนุมัติ และมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว ว่ามีที่มาอย่างไร มีการกระทำผิดหรือบกพร่องตรงไหนบ้าง พร้อมกับให้หาแนวทางที่จะนำรถมาใช้งานให้ได้ตามวัตถุประสงค์อย่างไรด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น