- • วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างต้นทุนและกำหนดอัตราค่าขนส่งที่เหมาะสม
- • ปริมาณตู้สินค้าไอซีดีลาดกระบัง-ท่าเรือแหลมฉบัง เพิ่มขึ้น 15.2% ในปี 2567
- • กรมการขนส่งทางรางมีแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟเฟส 3 เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งทางราง
กรมรางลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง Workshop ผู้ประกอบการขนส่ง ศึกษาโครงสร้างต้นทุนเพื่อกำหนดอัตราที่เหมาะสม เผย ปี 67 ตู้สินค้าไอซีดีลาดกระบัง-ทลฉ.เพิ่มขึ้น 15.2% และเตรียมแผนรถไฟเชื่อมเฟส 3 เพิ่มปริมาณขนส่งทางราง
วันที่ 13 ธ.ค. 67 นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) นำเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานด้านระบบราง และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าทางราง ลงพื้นที่สำนักงานด่านศุลกากรแหลมฉบัง และศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อติดตามการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรางระหว่าง ICD ลาดกระบัง และท่าเรือแหลมฉบัง
โดยโครงการศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ ท่าเรือแหลมฉบัง(Single Rail Transfer Operator: SRTO) นั้น ขร. ได้ติดตามแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟภายในท่าเรือแหลมฉบัง โดยการติดตั้งเครื่องกั้นถนนหรือการก่อสร้างจุดตัดต่างระดับ และหารือแนวทางการพัฒนาระบบอาณัติสัญญาณเพื่อรองรับการขนส่งทางรางที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
พร้อมทั้งได้ติดตามการบริหารจัดการขนถ่ายตู้สินค้าพื้นที่ SRTO ซึ่งจากสถิติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พบว่า ในปีงบประมาณ 2567 มีจำนวนตู้สินค้าเข้า-ออกท่าเรือแหลมฉบังกว่า 9.46 ล้านทีอียู มีขบวนรถไฟขนส่งสินค้าเส้นทางไอซีดีลาดกระบัง – ท่าเรือแหลมฉบัง วันละ 30 เที่ยว (ไป-กลับ) โดยในปี 2567 มีปริมาณขนส่งสินค้าทางรถไฟเพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็น 15%
@ปี 67 ขนส่งทางรางจากไอซีดีลาดกระบัง-ทลฉ.เพิ่มขึ้น 15.2%
โดยปริมาณการขนส่ง เส้นทางจากไอซีดีลาดกระบัง-แหลมฉบังในปี 2566 พบว่ามีจำนวน 1.266 ล้านทีอียู แบ่งเป็นการขนส่งโดยรถยนต์จำนวน 8.627 แสนทีอียู (68.1%) ขนส่งทางรถไฟจำนวน 4.037 แสนทีอียู (31.9%) ส่วนปี 2567 มีปริมาณการขนส่งรวม 1.278 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้นจากปี 66 ประมาณ 1% แบ่งเป็นการขนส่งโดยรถยนต์จำนวน 8.134 แสนทีอียู (63.6%) ลดลงจากปีก่อน 5.7% ขนส่งทางรถไฟจำนวน 4.653 แสนทีอียู (36.4%) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.2%
@หารือผุดรถไฟสายใหม่เชื่อมตรงเข้าทลฉ.เฟส3
นอกจากนี้ยังได้มีการหารือเพื่อเตรียมความเป็นไปได้ในการพัฒนาทางรถไฟเส้นใหม่เชื่อมท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยตรงเพิ่มเติม เพื่อขยายความขีดสามารถการขนส่งสินค้าทางรางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นไปตามเป้าหมายรัฐบาลที่ 30 % ของปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือทั้งหมด
ในส่วนของสำนักงานด่านศุลกากรแหลมฉบัง ขร. ได้มีการหารือเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีในการตรวจวิเคราะห์สินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์ การใช้เทคโนโลยี Fast Scan และการตรวจสอบตู้สินค้าผ่านการ X-ray Scan ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กรมศุลกากรนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้า และป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าและสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการติดตามการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการขนส่งสินค้าทางรถไฟเข้าไปยังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อผลักดันแนวทางส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางราง ซึ่งถือว่าเป็นการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบังอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ขร.จะนำข้อมูลที่ได้จาก Workshop ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในครั้งนี้ ไปวิเคราะห์ เพื่อศึกษาโครงสร้างต้นทุนและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน เพื่อกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากราง และค่าบริการในการประกอบกิจการขนส่งทางรางในอนาคตอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการกำหนดอัตราขั้นสูงในด้านต่างๆ มาตรการกำกับ หรือกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับอัตราค่าขนส่งทางราง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหันมาใช้บริการขนส่งสินค้าทางรางมากยิ่งขึ้น