xs
xsm
sm
md
lg

สอบทุจริตจ้างพิมพ์ ’สติกเกอร์ซีทรู’ สนามบินภูเก็ตส่อวุ่น พนักงานแฉมีขบวนการอุ้มเด็กนาย หวั่นงานนี้มี 'แพะ'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • พบการทุจริตในการพิมพ์สติ๊กเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ ที่สนามบินภูเก็ต
  • • มีความกังวลว่าจะมีผู้บริสุทธิ์ถูกกล่าวหาเป็นแพะรับบาป
  • • นาย ก. (อุ้มเด็กนาย) ปฏิเสธคำสั่งย้ายเข้าสำนักงานใหญ่ระหว่างสอบสวน
  • • นาย กีรติ เพิ่งทราบเรื่องและยอมรับว่ามีความผิดพลาดเกี่ยวกับระเบียบ
  • • ขยายเวลาการสอบสวนออกไปอีก 15 วัน
  • • ยืนยันว่าไม่มีการล้มมวยในคดีนี้


สอบทุจริตจ้างพิมพ์สติกเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ สนามบินภูเก็ต ส่อวุ่น หวั่นมีแพะ จับตาขบวนการอุ้มเด็กนาย ปูดไม่สนคำสั่งย้ายเข้าสำนักงานใหญ่ตามคำสั่งระหว่างสอบสวน ด้าน "กีรติ" เพิ่งรู้ ชี้ผิดระเบียบ ส่วนผลสอบขยายเวลา 15 วัน ยันไม่มีมวยล้ม

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เปิดเผยว่า จากที่ ทอท.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการประกวดราคางานจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์สติกเกอร์ซีทรู (See Through Sticker) เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมติดตั้ง ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงิน  11,778,600 บาทและมีการชี้มูลพนักงานระดับบริหารจำนวน 4 คนที่เข้าข่ายกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง รวม 2 ข้อกล่าวหา คือ  1.ใช้วิธีการจัดจ้าง โดยวิธีเฉพาะเจาะจงโดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ภูเขาแอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด และ 2. กำหนดราคากลางสูงกว่าราคาตลาดโดยทุจริต 
โดยนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. มีคำสั่งลงวันที่ 19  ส.ค. 2567 โยกย้ายพนักงานจำนวน 4 รายที่ถูกชี้มูลความผิดให้เข้ามาปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ ทอท. โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม และต่อมาวันที่ 10 ก.ย. 2567 นายกีรติได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยมีนายเจนวิทย์  มุสิกรัตน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานบัญชีและการเงิน) ทอท.เป็นประธาน โดยให้กำหนดระยะเวลาสอบสวนวินัยร้ายแรงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน 

กรณีดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือถึง ทอท.ขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐานเรื่องกล่าวหาพนักงาน ทอท.ว่าทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ด้วยเช่นกัน  

แหล่งข่าวจาก ทอท.ระบุว่า กรณีมีคำสั่ง ให้พนักงาน 4 คนสอบวินัยร้ายแรงประมูลสติกเกอร์สนามบินภูเก็ต เข้ามาปฏิบัติงานที่สำนักงานใหญ่และขาดจากตำแหน่งเดิมนั้น ซึ่งตามระเบียบพนักงานตั้งแต่ระดับ 8 ลงมาจะต้องสแกนบัตรแสดงตัวที่สำนักงานใหญ่ ส่วนตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไปได้รับการยกเว้น ซึ่งพบว่าทั้ง 4 คนไม่มีใครเข้ามาทำงานที่สำนักงานใหญ่ตามคำสั่งเลย และ 1 ใน 4 คนเป็นพนักงานในระดับ 8 ได้รับอภิสิทธิ์จากผู้บริหาร ไม่ต้องทำตามระเบียบ  


@ขยายเวลาสอบวินัยร้ายแรง 15 วัน
นายกีรติกล่าวว่า ในคำสั่งตั้งสอบวินัยร้ายแรงให้เวลา 30 วัน แต่คณะ กก.สอบวินัยร้ายแรงขอขยายอีก 15 วัน เนื่องจากต้องมีการสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนและสอบพยานที่เกี่ยวข้องเพื่อความรอบคอบ ส่วนกรณีที่มีคำสั่งให้พนักงานที่ถูกสอบวินัยร้ายแรงหยุดปฏิบัติหน้าที่และออกจากตำแหน่งไปเป็นผู้เชี่ยวชาญซึ่งไม่เกี่ยวกับการบริหาร ยืนยันว่าตามระเบียบพนักงานตั้งแต่ระดับ 9 ขึ้นไปไม่ต้องสแกนบัตร ส่วนระดับต่ำกว่านั้นต้องสแกนบัตรที่สำนักงานใหญ่ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์ยกเว้นใดๆ ซึ่งกรณีที่มีการระบุว่า 1 ใน 4 เป็นพนักงานระดับ 8 แต่ไม่พบเข้าสแกนบัตรที่สำนักงานใหญ่ ถือว่ามีความผิดแน่นอน
“เรื่องประมูลสติกเกอร์ซีทรูที่สนามบินภูเก็ต ผลสอบข้อเท็จจริงพบว่าผิดทำให้ตั้งสอบวินัยร้ายแรงต่อ ยืนยันไม่มีมวยล้มแน่นอน”

@จับตาขบวนการ “อุ้มเด็กนาย…บีบแพะรับผิดคนเดียว”
รายงานข่าวจาก ทอท.แจ้งว่า ล่าสุดคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไปยังผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยร้ายแรงแล้ว รายหนึ่งว่า มีพฤติกรรมกระทำผิดวินัยร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามข้อ 27(2) แห่งระเบียบ ทอท.ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การพ้นสภาพ วินัย การดำเนินการทางวินัย การลงโทษ และการอุทธรณ์ของพนักงาน พ.ศ. 2554 โดยที่ผ่านมาคณะ กก.สอบวินัยร้ายแรงฯ ยังไม่ได้เรียกผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปสอบสวนใดๆ แต่มีการทำหนังสือแจ้งผลการสอบ และกำหนดให้ไปแก้ข้อกล่าวหาในวันที่ 16 ธ.ค. 2567

ซึ่งผู้ถูกสอบเห็นว่าข้อสรุปของคณะกก.สอบวินัยร้ายแรง มีข้อความที่ยังไม่ตรงตามข้อเท็จจริง และส่อแนวโน้มว่าจะชี้ความผิดไปที่ผู้ถูกสอบเพียงคนเดียวเพื่อให้อีก 3 คนมีโทษลดลงหรือไม่ เนื่องจากมีการระบุว่าพนักงานคนดังกล่าวเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการเพื่อจัดให้มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์สติกเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ, เป็นผู้เร่งรัดให้ดำเนินการติดตั้ง กำหนดการจัดหาด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ทั้งที่เป็นงานทั่วไปที่ผู้ประกอบการรายอื่นสามารถทำได้, อนุญาตให้บริษัทฯ เข้าพื้นที่หวงห้ามติดตั้งสติกเกอร์ก่อนในระหว่างที่การประมูลยังไม่แล้วเสร็จและไม่มีสัญญาจ้าง และยังไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อนำไปจัดพิมพ์ลงบนสติกเกอร์ซีทรู

รายงานข่าวจาก ทอท.ระบุว่า โดยปกติ การจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๑๐ สนามบินภูเก็ตจะจัดซุ้มถวายพระพรบริเวณหน้าอาคารและซุ้มประตูทางเข้า และจุดสำคัญของสนามบิน ส่วนการติดสติกเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ เกิดจากผู้บริหารระดับสูงของสนามบินภูเก็ตตรวจพื้นที่พักคอยผู้โดยสาร พบว่ามีแสงแดดส่องเข้ามาและเกรงจะมีผลต่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ จึงมีแนวคิดติดสติกเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ ในบริเวณดังกล่าว

ในการประชุมคณะกรรมการกลยุทธ์คุณภาพบริการท่าอากาศยานของ ทอท. ครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 เห็นชอบแนวทางการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สนามบินภูเก็ต และมีการอนุมัติงบประมาณจากสำนักงานใหญ่เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2567 เพื่อดำเนินการตามมติดังกล่าว จึงเกิดโครงการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์สติกเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ สนามบินภูเก็ต แบบเร่งรีบ

ในขณะที่พบว่า ทอท.ทำหนังสือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับประดิษฐาน ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต 17 ก.ค. 2567 และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2567

รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ถูกกล่าวหารายหนึ่งกังวลว่ามีการช่วยเหลือบุคคลที่มีความสนิทสนมกับผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีการวิจารณ์ในหมู่พนักงานสนามบินภูเก็ตว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจในสนามบิน ขณะที่การจัดจ้างพิมพ์สติกเกอร์ซีทรูเฉลิมพระเกียรติฯ มีการกระทำผิดที่ชัดเจน ทั้งการใช้วิธีพิเศษเฉพาะเจาะจง ทั้งที่มีผู้ประกอบการรายอื่นทำได้ด้วย การให้เอกชนทำงานก่อนในระหว่างประมูลยังไม่เสร็จ และยังไม่มีสัญญาจ้างตามหลักฐาน มีการประกาศผลประมูล วันที่ 19 ก.ค. 2567 แต่เอกชนเข้าทำการติดตั้งแผ่นสติกเกอร์เฉลิมพระเกียรติฯ ในวันที่ 17 ก.ค. 2567

รวมถึงค่าจ้างสูงกว่าความเป็นจริง และการดำเนินโครงการมีคำสั่งและมติคณะกรรมการตามลำดับชั้น ดังนั้น หากมีการโยนความผิดไปที่คนเดียว ซึ่งจะถูกลงโทษหนักอย่างไม่เป็นธรรมเชื่อว่าจะมีการร้องเรียน รวมถึงอาจจะมีการเปิดเผยหลักฐานที่โยงไปถึงผู้บริหารระดับสูงของ ทอท.ก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น