- • มุ่งเน้นถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากเยอรมนี
- • เพื่อยกระดับมาตรฐานการซ่อมบำรุงและการผลิตชิ้นส่วนรถไฟในประเทศไทย
- • เป้าหมายลดการพึ่งพาการนำเข้าในอนาคต
"สุริยะ"ลงนามต่ออายุความร่วมมือกับ "เยอรมนี" แสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาด้านรถไฟและขนส่งระบบราง เดินหน้าผลักดัน ถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยียกระดับมาตรฐานซ่อมบำรุงและการผลิตภายในประเทศหวังลดการนำเข้าในอนาคต
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ดร. แอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ได้เข้าพบและได้ลงนามในเอกสารความยินยอมร่วมกันเพื่อต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงดิจิทัลและคมนาคมแห่งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี โดยเป็นการต่ออายุความร่วมมือครั้งที่ 3 เพื่อเน้นย้ำและแสดงถึงความมุ่งมั่นการสานต่อความร่วมมือด้านระบบรางในระยะยาวระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี ที่มีร่วมกันมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้กว่า 162 ปี ที่ประเทศไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ความร่วมมือระหว่างสองประเทศได้ครอบคลุมในทุกภาคส่วน อาทิ ด้านการค้า วัฒนธรรม และเทคโนโลยี เป็นต้น ด้วยวิสัยทัศน์การพัฒนาที่มีร่วมกัน ความร่วมมือด้านการรถไฟของประเทศไทยและเยอรมนีจึงเปรียบเสมือนย่างก้าวสู่การพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สำคัญ ความเชี่ยวชาญของเยอรมนีในระบบรางมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศไทย ตั้งแต่รถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงินไปจนถึงระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ Airport Rail Link และรถไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ APM
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม จะผลักดันให้การขนส่งระบบรางของประเทศไทยมีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ความสำคัญของความร่วมมือนี้จะเป็นการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศไทยในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการบริการขนส่งระบบรางนอกจากนี้ ยังเน้นถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยระบุว่าการปรับปรุงระบบรถไฟของประเทศไทยสอดคล้องกับความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอน และส่งเสริมการขนส่งทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันไทยนำเข้าและซื้อระบบรถไฟฟ้าจากต่างประเทศทำให้มีต้นทุนแพง ความร่วมมือนี้จะมีการพัฒนาขยายไปถึงให้สามารถผลิตระบบรถไฟฟ้าในประเทศไทยหรือไม่ นายสุริยะกล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรถไฟ และรถไฟฟ้าหลายโครงการ ซึ่งการจะถึงขั้นผลิตเองนั้นอาจจะยังทำไม่ได้และต้องใช้เวลา ดังนั้น ความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับเยอรมันจะมุ่งเรื่องการบำรุงรักษาก่อน ซึ่งชิ้นส่วนและอะไหล่ของระบบรถไฟฟ้ามีจำนวนมาก และทุกชิ้นส่วนต้องมีความปลอดภัยสูง ขณะที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาต่อเนื่อง ทำให้ต้องใช้บุคลากรจากผู้ผลิตเข้ามาดูแล เป้าหมายความร่วมมือก็เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้กับสถาบันการศึกษาของไทย ผลิตบุคลากรขึ้นมา ทำให้ในอนาคต คนไทยสามารถดูแลการซ่อมบำรุงได้เองก่อน
ด้านดร. แอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล กล่าวว่า ความร่วมมือด้านระบบรางที่มีร่วมกันมาอย่างยาวนานระหว่างเยอรมนีและประเทศไทยมีพื้นฐานมาจากการแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะระหว่างผู้เชี่ยวชาญ โดยภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ สมาคมระบบรางเยอรมัน - ไทย จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์อันใกล้ชิดด้านเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งมีความก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่องกว่าหนึ่งศตวรรษ และมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการส่งเสริมแนวทางการขนส่งที่ยั่งยืนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การเดินทางในอนาคต (Future Mobility) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ และประเทศอื่น ๆ ความร่วมมือครั้งนี้เป็นตัวอย่างของความพยายามร่วมกันของสองประเทศในการแก้ไขปัญหาระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาการจราจรติดขัด และการจัดการทรัพยากร เพื่อสร้างอนาคตที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับคนรุ่นต่อ ๆ ไป
แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงดิจิทัลและคมนาคมแห่งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี ได้มีการลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2559 และมีการลงนามเพื่อต่ออายุมาแล้ว 2 ครั้ง โดยการลงนามในเอกสารความยินยอมร่วมกันเพื่อต่ออายุแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้จะได้รับการต่ออายุอัตโนมัติเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในด้านรถไฟอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความทุ่มเทของทั้งสองประเทศในการส่งเสริมนวัตกรรมระบบรางไปพร้อมกับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน