- • เน้นสนามบินสุวรรณภูมิและภูเก็ตเป็นหลัก
- • สนามบินภูมิภาคที่กรมท่าอากาศยานดูแลได้รับความสำคัญน้อยกว่า
- • นโยบายภาครัฐไม่ให้ความสำคัญกับสนามบินภูมิภาคเท่าที่ควร
จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) โดยมุ่งเน้นไปที่สนามบินหลักอย่าง "สุวรรณภูมิ และภูเก็ต" ส่วนสนามบินภูมิภาคที่กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ดูแลฝ่ายนโยบายกลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งที่สนามบินหลายแห่งมีความสำคัญในการรองรับการเดินทางภายในประเทศและช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และสนับสนุนให้ไทยก้าวสู่ Aviation Hub ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งหลังจากที่ "สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" รองนายกฯและ รมว.คมนาคม มอบหมายให้ “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม กำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน การพัฒนาปรับปรุงสนามบินภูมิภาคมีความชัดเจนอย่างมาก @แก้ด่วน "ความสะอาด จัดระเบียบพื้นที่" ยกเครื่องบริการ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้มีการลงพื้นที่สนามบินเพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานแห่งแรก คือ สนามบินกระบี่ เพราะเป็นสนามบินที่ถือว่ามีผู้โดยสารและเที่ยวบิน และมีรายได้สูงสุดของ ทย. จากนั้นได้ไปตรวจเยี่ยมสนามบินอุดรธานี และสนามบินพิษณุโลก
ปัญหาที่พบเป็นเรื่องการให้บริการ เช่น ความสะอาดต่างๆ ห้องน้ำ พื้นที่ร้านค้าไม่เป็นระเบียบ พื้นที่บริการผู้โดยสาร เก้าอี้พักคอย ที่จอดรถไม่เพียงพอ มีสภาพทรุดโทรม รวมไปถึงระบบขนส่งเชื่อมต่อจากสนามบินไปในเมืองและแหล่งท่องเที่ยว และการให้บริการของพนักงาน หลังตรวจสนามบินกระบี่ได้มีข้อสั่งการให้แก้ไขเร่งด่วน ได้แก่
1. จัดให้มีจุดเช็กอิน เพิ่มประสิทธิภาพตรวจค้นสัมภาระ ปรับปรุงและเพิ่มเติมป้ายบอกทาง เร่งรัดเปิดบริการสะพานเทียบเครื่องบิน
2. จัดระเบียบพื้นที่ภายในอาคารและการจัดหารายได้เพิ่มเติม พื้นที่เช่าเคาน์เตอร์รถเช่า และร้านค้าขายของ เป็นต้น
3. ปรับปรุงให้ท่าอากาศยานมีชีวิต เช่น การจัดพื้นที่สีเขียว การเปิดเพลงเพื่อเพิ่มบรรยากกาศในแต่ละเทศกาล จัดพื้นที่เช็กอิน
4. รักษาความสะอาด เช่น ห้องน้ำ กระจก ลิฟต์ และพื้นที่ให้บริการต่างๆ
5. เร่งรัดงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารในประเทศ และเตรียมเปิดให้บริการ
@ เปิด 9 แนวทางขับเคลื่อนนโยบาย
ทั้งนี้ ได้มอบนโยบาย คมนาคมเพื่อโอกาสของประเทศไทย นำไปสู่ “แนวคิดท่าอากาศยานมีชีวิตส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน” ด้วยแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย 9 แนวทาง คือ
1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ด้วยการเร่งรัดโครงการลงทุน เพิ่มขีดความสามารถของอาคารที่พักผู้โดยสาร ทางวิ่ง ทางขับ การจัดหาครุภัณฑ์เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และผลักดันการศึกษาโครงการท่าอากาศยานแห่งใหม่ทั้ง 6 แห่ง
2. เชื่อมโยงการเดิมทางเแบบไร้รอยต่อ ด้วยการขยายผลโครงการศูนย์ขนส่งต้นแบบ ไปยังท่าอากาศยานต่างๆ ที่เหมาะสม ส่งเสริมการบริการรถสาธารณะ รวมถึงวางแผนให้มีระบบรางเข้ามาให้บริการภายใน
3. สร้างโอกาสการลงทุนของภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนการให้บริการด้วย โครงการเอกชนร่วมลงทุน (PPP) การให้บริการต่างๆ
4. สร้างความสมดุลของรายได้ ด้วยการมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการบิน (Aero Revenue) ที่เหมาะสม และเร่งรัดการเพิ่มรายได้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Aero Revenue) เพื่อไม่ให้สร้างภาระ หรือต้นทุนการเดินทางแก่ประชาชน
5. ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ด้วยการเร่งรัดให้มี และเพิ่มการให้บริการเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ รวมถึงการเปิดให้บริการ CIQ กับเที่ยงบินต่อเนื่อง Connecting flight ในท่าอากาศยานหลัก
6. สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการเร่งรัดโครงการ Solar roof ตามความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าและให้มีสถานีจ่ายพลังงานไฟฟ้า
7. เพิ่มขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐาน ครุภัณฑ์ ด้านความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัย
8. เร่งรัดให้ทุกท่าอากาศยานได้ใบรับรองสนามบินสาธารณะ ตามมาตรฐานสากลกำหนด
9. สร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ผ่านคณะกรรมการการพัฒนาการให้บริการของท่าอากาศยาน รวมถึงการเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่สาธารณะ ให้จังหวัด ท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและแสดงสินค้า OTOP เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
“นิยามของสนามบินมีชีวิต คือ ต้องสะอาด สว่าง สะดวก มีกิจกรรม มีสีสัน โดยสามารถแก้ไขและปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารได้ทันที ไม่ต้องใช้งบประมาณ เร่งออกแบบตกแต่งภายในสนามบิน 7 แห่ง ได้แก่ กระบี่ อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และตรัง ให้สอดคล้องกับความเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด คาดว่าจะใช้เวลาปรับปรุงภายใน 1-3 เดือน” นางมนพรกล่าว
@เร่งเปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ 4 สนามบิน
นอกจากนี้ ปัจจุบัน ทย.อยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่หลายแห่ง เช่น อาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินกระบี่, สนามบินตรัง, สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินนราธิวาส ซึ่งให้เร่งรัดผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผน
รวมไปถึงเร่งรัดดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสนามบินใหม่ 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินมุกดาหาร สนามบินสตูล สนามบินกาฬสินธุ์ สนามบินบึงกาฬ สนามบินพัทลุง สนามบินพะเยา โดยให้ศึกษาออกแบบให้เหมาะสมและคุ้มค่าในการลงทุน เนื่องจากการก่อสร้างสนามบินต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก รวมถึงศึกษาการเชื่อมโยงการเดินทางกับจังหวัดที่ใกล้เคียงเพื่อประกอบการลงทุนก่อสร้างที่คุ้มค่ามากขึ้น นอกจากนี้ให้เร่งจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ตามมติ ครม.
@จ่อขึ้นค่า PSC 100 บาทต่อคน เพิ่มรายได้กองทุนฯ ปรับปรุงบริการ
นอกจากนี้ ยังพบว่างบประมาณที่ ทย.ได้รับแต่ละปีมีไม่มากพอกับภารกิจ โดยส่วนใหญ่เป็นงบสำหรับลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ในเรื่องการบริการและจ้างบุคลากร (Outsouse) ทย.ใช้เงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน ที่มีรายได้จากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) ที่ปัจจุบันจัดเก็บผู้โดยสารภายในประเทศ 50 บาทต่อคน ซึ่งใช้อัตรานี้มากว่า 24 ปีแล้ว จึงมีแนวคิดที่จะปรับขึ้นค่า PSC เป็น 100-125 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน และเพื่อทำให้มีรายได้เข้ากองทุนหมุนเวียนเพิ่ม สามารถนำมาปรับปรุงบริการโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณมากเกินไป
@ผลดำเนินงาน 5 อันดับแรก “กระบี่” กำไรสูงสุด
ในด้านผลดำเนินงาน ย้อนไปในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่า สนามบินของ ทย.ทั้งหมดมีปริมาณเที่ยวบินรวมกัน 143,378 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารรวม 18,211,157 คน โดยมีสนามบินที่ทำกำไร 5 แห่ง ได้แก่ 1. สนามบินกระบี่ มีกำไร 381.435 ล้านบาท 2. สนามบินอุดรธานี มีกำไร 54.684 ล้านบาท 3. สนามบินขอนแก่น มีกำไร 42.422 ล้านบาท 4. สนามบินอุบลราชธานี มีกำไร 35.692 ล้านบาท 5. สนามบินสุราษฎร์ธานี มีกำไร 34.518 ล้านบาท
นับจากปี 2563 เป็นต้นมาธุรกิจสนามบินได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งหากดูผลดำเนินงานของสนามบิน ทย.ย้อนหลัง 5 ปี (ปี 2563-2567) สนามบินที่มีผลดำเนินงานดีที่สุด 5 อันดับแรก ดังนี้
ปี 2563 อันดับ 1. สนามบินกระบี่ มีกำไร 96.050 ล้านบาท มี 13,127 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,848,877 คน อันดับ 2 สนามบินน่านนคร มีกำไร 7.549 ล้านบาท มี 1,958 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 260,400 คน อันดับ 3 สนามบินอุดรธานี มีกำไร 2.971 ล้านบาท มี 12,906 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,596,691 คน อันดับ 4 สนามบินอุบลราชธานี มีกำไร 1.790 ล้านบาท มี 8,976 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,180,407 คน อันดับ 5 สนามบินบุรีรัมย์ ขาดทุน 3.660 ล้านบาท มี 2,720 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 223,178 คน
ปี 2564 ผลกระทบโควิด-19 ขาดทุนทุกแห่ง อันดับ 1 สนามบินน่านนคร ขาดทุน 1.532 ล้านบาท มี 2,329 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 227,431 คน อันดับ 2 สนามบินปาย ขาดทุน 4.678 ล้านบาท ไม่มีเที่ยวบิน อันดับ 3 สนามบินบุรีรัมย์ ขาดทุน 7.538 ล้านบาท มี 1,412 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 91,043 คน อันดับ 4 สนามบินพิษณุโลก ขาดทุน 9.945 ล้านบาท โดยมี 2,360 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 217,907 คน อันดับ 5 สนามบินสุราษฎร์ธานี ขาดทุน 11.331 ล้านบาท มี 5,613 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 619,652 คน
ปี 2565 การเดินทางโดยเครื่องบินเริ่มกลับมา โดยอันดับ 1 สนามบินอุบลราชธานี มีกำไร 19.045 ล้านบาท มี 7,980 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,094,586 คน อันดับ 2 สนามบินน่านนคร มีกำไร 3.319 ล้านบาท มี 3,644 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 413,816 คน อันดับ 3 สนามบินอุดรธานี ขาดทุน 2.904 ล้านบาท มี 10,918 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,508,196 คน อันดับ 4 สนามบินนครราชสีมา ขาดทุน 3.549 ล้านบาท มี 38 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,785 คน อันดับ 5 สนามบินร้อยเอ็ด ขาดทุน 4.086 ล้านบาท มี 1,582 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 208,585 คน
ปี 2566 การเดินทางกลับสู่ภาวะปกติ แต่สายการบินยังกลับมาทำการบินไม่เท่าเดิม เนื่องจากอยู่ในช่วงฟื้นฟูธุรกิจ โดยสนามบินอันดับ 1 กลับมาเป็น สนามบินกระบี่ มีกำไร 177.909 ล้านบาท มี 15,530 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 2,193,895 คน อันดับ 2 สนามบินน่านนคร มีกำไร 35.306 ล้านบาท มี 2,780 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 417,530 คน อันดับ 3 สนามบินขอนแก่น มีกำไร 34.990 ล้านบาท มี 11,148 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,624,797 คน อันดับ 4 สนามบินอุดรธานี มีกำไร 34.412 ล้านบาท มี 13,304 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,949,717 คน อันดับ 5 สนามบินอุบลราชธานี มีกำไร 26.365 ล้านบาท มี 8,953 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,334,299 คน
ปี 2567 อันดับ 1 สนามบินกระบี่ มีกำไร 180.250 ล้านบาท มี 17,182 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 2,485,831 คน อันดับ 2 สนามบินอุดรธานี มีกำไร 29.629 ล้านบาท มี 11,557 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,765,165 คน อันดับ 3 สนามบินขอนแก่น มีกำไร 26.007 ล้านบาท มี 10,196 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,561,477 คน อันดับ 4 สนามบินอุบลราชธานี มีกำไร 13.428 ล้านบาท มี 8,472 เที่ยวบิน มีผู้โดยสาร 1,272,310 คน อันดับ 5 สนามบินนครราชสีมา ขาดทุน 2.735 ล้านบาท ไม่มีเที่ยวบิน
@ปี 68 ลุยขยายรันเวย์ "สนามบินชุมพร" รับแลนดฺบริดจ์
ปี 2568 ทย.ได้รับงบประมาณรวม 5,356.41 ล้านบาท ประกอบด้วย งบบุคลากร 330.45 ล้านบาท, งบดำเนินงาน 177.15 ล้านบาท, งบลงทุน 4,660.51 ล้านบาท และงบรายจ่ายอื่น 209.29 ล้านบาท
โดยมีโครงการสำคัญคือ งานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานชุมพร วงเงิน 1,500 ล้านบาท (ผูกพันปี 68-71) รองรับโครงการแลนด์บริดจ์
ทย.มีแผนยุทธศาสตร์ 10 ปี (2560-2569) ลงทุน 3.8 หมื่นล้านบาท พัฒนาปรับปรุงศักยภาพบริการเพิ่มขีดรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบิน ซึ่งประเมินว่าท่องเที่ยวกำลังบูม อุตสาหกรรมการบินอยู่ในขาขึ้น แต่เมื่อเกิดโควิด-19 การบินหยุดชะงักทันที แต่ก็ถือว่ารัฐได้จัดสรรงบประมาณ ลงทุนพัฒนาศักยภาพสนามบินจนเกินดีมานด์ ดังนั้นตอนนี้เป็นเรื่องการปฏ;บัติการเพื่อหาทางเพิ่มเที่ยวบินและผู้โดยสารและใช้ประโยชน์อาคารและรันเวย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบันจาก 29 แห่งยังมี 7 สนามบินที่ไม่มีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ซึ่ง ทย.มีแผนพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่ เช่น สนามบินนครราชสีมา ปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่ฝึกบินประมาณ 20,000 เที่ยวบินต่อเดือน และกำลังศึกษาเพื่อให้เอกชนเข้ามาเช่า PPP สำหรับกิจการให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)
@จับตานโยบายใหม่…เบรกโอนสนามบินให้ ทอท.
ส่วนการโอนสนามบินของ ทย.ให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ตามข้อสั่งการนายกฯ เมื่อ 21 ส.ค. 2561 ที่ให้โอน 4 แห่ง คือ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร และต่อมาเปลี่ยนเป็น 3 แห่ง คือ กระบี่ บุรีรัมย์ และอุดรธานี โดย ครม.เห็นชอบหลักการเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565 นั้น รายงานข่าวล่าสุดระบุว่า ปัจจุบันต้องการทบทวนเรื่องนี้ใหม่ แต่เนื่องจากยังมีคำสั่งและมติคณะรัฐมนตรีค้างอยู่ ดังนั้น การจะยกเลิกจะต้องมีเหตุผลเพียงพอ โดยเฉพาะศักยภาพในการให้บริการของสนามบินภูมิภาคจะต้องดีกว่าปัจจุบัน ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งพัฒนาบริการปรับปรุงแก้ไขเพื่อยกระดับสนามบินภูมิภาค
“คำถามสำคัญคือ ทุกวันนี้ ทอท.บริหารสนามบิน 6 แห่งได้ดีแค่ไหน พื้นที่ส่วนใหญ่ให้สัมปทานเอกชน เก็บค่าธรรมเนียม ค่าบริการแพง องค์กรมีปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน ขณะที่สนามบินเป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐพึงจัดให้เพื่อประชาชน หาก ทอท.เข้ามาบริหารจะต้องปรับขึ้นค่าบริการ ประชาชนกระทบแน่นอน แม้ที่ผ่านมา ทั้งเอกชน ประชาชน และนักวิชาการ ออกมาคัดค้านแต่รัฐไม่เคยสนใจ”
ขณะนี้โอนสนามบินยังทำไม่ได้ เพราะทอท.วางเงื่อนไขให้ ทย.ดำเนินการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ซึ่งมี สนามบินบุรีรัมย์ได้แห่งเดียว ยังเหลือกระบี่และอุดรธานี ที่คาดต้องใช้เวลาอีกเป็นปี…หากจะเปลี่ยนนโยบายใหม่ก็ถือเป็นจังหวะและโอกาส!!!