xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม”ไฟเขียวใช้นักบินต่างชาติชั่วคราว แก้ปัญหาแอร์ไลน์เครื่องบินไม่พอ-ค่าตั๋วแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • การอนุญาตนี้เป็นการผ่อนผันตามคำร้องขอของสมาคมนักบินไทย
  • • สาเหตุการขอผ่อนผันเนื่องจากปัญหาขาดแคลนเครื่องบินและราคาตั๋วเครื่องบินแพง
  • • วิธีการแก้ปัญหาคือการนำเครื่องบินเข้ามาให้บริการแบบ Wet lease
  • • การอนุญาตให้นักบินต่างชาติทำงานช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรด้านการบิน


“คมนาคม”อนุญาตให้นักบินต่างชาติทำงานในไทยชั่วคราว ถึง31 ธ.ค.68 หลังสมาคมนักบินไทย”ยื่นผ่อนผันเงื่อนไขจัดหาเครื่องบินแบบ Wet lease เข้ามาบริการแก้ปัญหาเครื่องบินไม่พอ และค่าตั๋วแพง

นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ได้รับมอบหมายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนจากสมาคมนักบินแห่งประเทศไทย ที่ยื่นขอให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง พิจารณาและทบทวนการให้สายการบิน อนุญาตให้นักบินต่างชาติที่มาพร้อมเครื่องบินที่สายการบินเช่า (Wet Lease) สามารถทำงานในไทยได้

ซึ่งกรณีดังกล่าว คือการให้อนุญาตให้สายการบินทำการจัดหาเครื่องบินแบบ Wet Lease เป็นการชั่วคราวเท่านั้น โดยจะหมดสัญญาภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ซึ่งการอนุญาตในครั้งนี้ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 เมื่อปี 2562 จึงทำให้เครื่องบินของแต่ละสายการบิน มีจำนวนไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้โดยสารที่ในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ขยายระยะเวลาบิน เพิ่มรอบเที่ยวบิน เพิ่มจำนวนที่นั่งแล้วก็ตาม แต่ราคาตั๋วยังคงอยู่ในระดับสูง 


สำหรับการอนุญาตให้เครื่องบินแบบ Wet Lease ทำการบินในครั้งนี้ เป็นวิธีการที่สามารถทำได้เร็วที่สุด และสามารช่วยลดค่าตั๋วเครื่องบินได้อย่างชัดเจน นำไปสู่การลดภาระค่าการเดินทางของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ภาคการท่องเที่ยวในประเทศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีการเติบโตอย่างชัดเจน สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสายการบินที่ต้องการลงทุนซื้อเครื่องบินเพิ่มในอนาคต เพื่อดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคที่สมบูรณ์แบบอีกด้วย

กระทรวงคมนาคมยังคงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการบินของประเทศและสนับสนุนนักบินไทย ซึ่งจากข้อมูล พบว่า ขณะนี้มีความจำเป็นและมีความต้องการเป็นอย่างมาก แต่ยังคงต้องหวังพึ่งพิงภาคเอกชนในด้านการลงทุนเครื่องบินเพิ่ม เพื่อให้เที่ยวบินมีความเพียงพอต่อผู้โดยสาร โดยกระทรวงคมนาคมจะติดตามทุกสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงกำชับให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ดำเนินการบริหารจัดการและติดตามด้านกฏระเบียบ กฏเกณฑ์ ให้เป็นไปตามหลักสากล และมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

ด้านนายธีรวัจน์ อังคสกุลเกียรติ นายกสมาคมนักบินไทย กล่าวว่า สมาคมฯ ขอขอบคุณกระทรวงคมนาคมและ CAAT รวมถึงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ และพร้อมที่จะเข้าแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งสมาคมฯ มีความกังวลในเรื่องของภาคีอนุสัญญาตามมาตรา 83 และไม่ต้องให้ประเทศไทยต้องติดธงแดงอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ มีความเข้าใจถึงปัญหาเรื่องของเครื่องบินที่ไม่เพียงพอในปัจจุบันนี้ แต่เชื่อมั่นว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังสามารถดำเนินการตามแบบแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น