กรมทางหลวงชนบท ชวนขับรถเที่ยว แวะชมวิวถ่ายรูปเขื่อนลำปาวบน “สะพานเทพสุดา” จ.กาฬสินธุ์ สะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
นายมนตรี เดชาสกุลสม อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เชิญชวนประชาชนขับรถเที่ยว ชมวิวเขื่อนลำปาวบนสะพานเทพสุดา จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งลักษณะของสะพานเทพสุดานั้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาวราว 2.04 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2553 และได้รับพระราชทานนามจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 ว่า “สะพานเทพสุดา”
ทั้งนี้ สะพานเทพสุดาถือว่าเป็นสะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศไทย โดยตัวสะพานตัดข้ามกับเขื่อนลำปาว เขื่อนดินขนาดใหญ่สามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้ในการบรรเทาอุทกภัย และใช้ประโยชน์ทางการเกษตร แหล่งเพาะพันธุ์ปลานานาชนิด รวมถึงยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยตัวสะพานมีจุดเริ่มต้นจาก แหลมโนนวิเศษ ตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ ไปจนถึงบริเวณ เกาะมหาราช ตำบลหนองบัว อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาเดินทางในการขับรถข้ามไปอีกฝั่ง และบนสะพานข้ามเขื่อนยังมีทางเดินยาวตลอดสองฝั่งของสะพานเพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งคนในท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวไปเดินหรือวิ่งออกกำลังกายชมวิวสวย ๆ สุดลูกหูลูกตาของเขื่อนลำปาวอีกด้วย
“ในส่วนของการเดินทาง หากเริ่มต้นจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ ใช้ ทล.227 มุ่งหน้าไปอำเภอสหัสขันธ์ ประมาณ 32 กิโลเมตร และเลี้ยวซ้ายบริเวณสี่แยก (หลังจากผ่าน ปตท.สหัสขันธ์) เข้าสู่ถนนทางหลวงชนบทสาย กส.3056 ขับตรงไปตามเส้นทาง ตามป้ายแนะนำเส้นทาง ประมาณ 6.6 กิโลเมตร จนถึงสะพานเทพสุดา ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที สำหรับบริเวณลานสาธารณะเชิงสะพานนั้น จะมีรูปปั้นไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของกาฬสินธุ์ ประชาชนและนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาชมพระอาทิตย์ตก ณ สะพานแห่งนี้ ซึ่งเป็นเพราะความสวยงาม นอกจากประชาชนนิยมมาถ่ายรูปบริเวณสะพานแล้ว ยังเป็นจุดนั่งชมวิวพักผ่อนริมเขื่อน เดินเล่นออกกำลังกายอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจสู่ต้นแบบการท่องเที่ยวยั่งยืน และเตรียมพร้อมรองรับประชาชนที่มาพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวอีกด้วย” อธิบดีฯ กล่าว
ทั้งนี้ จังหวัดกาฬสินธุ์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ และกลิ่นอายของวัฒนธรรมอีสาน นอกจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแล้วยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ อีกมากมาย อาทิ พิพิธภัณฑ์สิรินธร ที่มีการจัดแสดงฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ขุดพบในจังหวัดกาฬสินธุ์ และวัดพุทธาวาส ภูสิงห์ ที่สามารถไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเขื่อนลำปาวได้ 360 องศา จากยอดภูสิงห์