xs
xsm
sm
md
lg

กกร.ชงรัฐชะลอขึ้นค่าแรง400บ. ถกคลัง-ธปท.11ธ.ค.นี้เร่งแก้หนี้ครัวเรือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • เหตุผลการขอชะลอ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
  • • กกร. จะหารือกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยสัปดาห์หน้า เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน
  • • น้ำท่วมปีนี้สร้างความเสียหายประมาณ 8-8.5 หมื่นล้านบาท


กกร.จ่อยื่นหนังสือถึงภาครัฐ 6ธันวาคมนี้ ขอชะลอการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400บาทเท่ากันทั่วประเทศ ชี้ศก.ไทยเพิ่งฟื้นตัว พร้อมหารือคลังและแบงก์ชาติในสัปดาห์หน้าเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ชี้น้ำท่วมไทยปีนี้เสียหายรวม8-8.5หมื่นล้านบาทหรือราว0.6%ของGDP

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยค่อยๆฟื้นตัวขึ้น ขณะเดียวกันก็มีข้อกังวลการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยกกร.เห็นว่าเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว และแต่ละจังหวัดมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำควรประเมินตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัดที่มีไตรภาคีพิจารณาเชิงลึกอยู่แล้ว ส่วนกกร.ได้ศึกษาสำรวจทุกภาคส่วนอย่างรอบเพื่อประกอบการพิจารณาของภาครัฐและไตรภาคี

ทั้งนี้ กกร.จะจัดทำเอกสารเกี่ยวโยงข้อมูล ข้อแนะนำส่งให้สำนักนายก และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในวันที่ 6 ธันวาคมนี้ เพื่อขอชะลอการปรับขึ้นค่าแรงต่ำ400บาทเท่ากันทั่วประเทศ เชื่อว่าภาครัฐจะพิจารณาดูความเหมาะสมในเรื่องนี้

นอกจากนี้ กกร.จะหารือกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในวันที่ 11 ธันวาคม2567 เพื่อหามาตรการช่วยเหลือหนี้ครัวเรือนโดยเฉพาะหนี้บ้าน รถและSME เพื่อให้สามารถอยู่ได้ หลังจากนั้นภาครัฐต้องมีมาตรการระยะต่อไป เพราะต้นตอของหนี้ คือรายได้ โดยพิจารณาว่าจะเพิ่มรายได้ขึ้นอย่างไรหรือUp-skillแรงงาน สร้างความสามารถการแข่งขันของSME ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมาตรการอื่นๆตามมา


“อยากให้รัฐบาลหาเงิน1-2แสนล้านบาทเพื่อช่วยให้SMEในการเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรใหม่ โดยให้SMEกู้ปลอดดอกเบี้ย2ปี ถ้าไม่เปลี่ยนเครื่องจัก SMEไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ทั้งเวียดนามมาเลเซียและอินโดนีเซีย และSMEไทยต้องได้รับสิทธิประโยชน์บีโอไอด้วย”นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ส่วนกรณีที่กระทรวงคลังเตรียมปฏิรูปโครงสร้างภาษี อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)7% เพิ่มเป็น15-20% นายสนั่น กล่าวว่าภาคเอกชนอยากเห็นภาครัฐและภาคสังคมทำงานร่วมกัน พวกที่อยู่นอกระบบอยากให้เข้าสู่ระบบเสียภาษีถูกต้อง ทุกวันนี้คนจ่ายภาษีมีไม่กี่ล้านคนแต่ต้องดูแลคนทั้งประเทศ ดังนั้นรัฐต้องจริงจังและหาช่องทางดึงคนที่เลี่ยงการจ่ายภาษีเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น ถ้ารัฐทำได้รัฐมีเงินเยียวยาตรงจุดมากขึ้น


นายสนั่น กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2568 เผชิญความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้า ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประกาศจะใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าเป็นนโยบายทางการค้า ทำให้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยมีโอกาสเติบโตได้ต่ำกว่า 3% ส่วนเศรษฐกิจจีนมีโอกาสเติบโตได้เพียง 4.0-4.5% ส่งผลกระทบการเติบโตของประเทศในอาเซียนได้มากทั้งจากการส่งออกไปจีนที่จะลดลง การส่งออกโดยภาพรวมที่จะลดลง เนื่องจากถูกทดแทนด้วยสินค้าจีน และการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ มาตรการทางด้านภาษีของสหรัฐฯจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2568 เป็นต้นไป ซึ่งนโยบาย Trump 2.0 จะไม่จำกัดเฉพาะสินค้าจากจีนเท่านั้น แต่จะเป็นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจากทุกประเทศ โดยอาจจะขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 60% และจากประเทศอื่นๆ เป็น 10-20% รวมถึงจะใช้การเก็บภาษีเป็นนโยบายในการต่อรองกับคู่ค้า เช่น เม็กซิโก แคนาดา และกลุ่ม BRICS ซึ่งการขึ้นภาษีกับจีนอาจเกิดขึ้นได้เร็ว โดยเฉพาะกับสินค้าที่สหรัฐฯ เคยเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในช่วง Trump 1.0

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 2567 กกร.คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ดีกว่าที่คาด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ทำให้ปีนี้การส่งออกโต 4%และเงินเฟ้อลดลงเหลือ 0.5% ส่วนปี 2568 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยมีแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และมาตรการภาครัฐทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ที่กำลังจะทยอยออกมา อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการ SME การปรับกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปีเพื่อดึงดูดการลงทุน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง2568 มีความเสี่ยงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก และยางล้อ ดังนั้นที่ประชุม กกร. จึงขอเสนอให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันเตรียมความพร้อมรับมือเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าและส่งออกกับสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

นายสนั่น กล่าวว่า ผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินความเสียหายไว้ประมาณ 75,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ถือว่าเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรงเช่นกัน เบื้องต้นพื้นที่ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงย่านการค้าสำคัญของ จ.สงขลา คาดว่ามูลค่าความเสียหายประมาณ 5,000 – 10,000 ล้านบาท หรือประมาณ 0.03 –0.06% ของ GDP ดังนั้น ในปีนี้ประเทศไทยได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมรวม 80,000 – 85,000 ล้านบาทหรือประมาณ 0.6% ของ GDP


กำลังโหลดความคิดเห็น