xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ“สุริยะ”ลั่นก.ย.68 ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย-ตั้งกองทุนฯคาดชดเชยเอกชนปีละ1.6 หมื่นลบ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • กันยายน 2568 ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าราคา 20 บาทตลอดสาย ทุกเส้นทาง
  • • จะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนโครงการ โดยใช้รายได้ของ รฟม. และงบประมาณจากรัฐบาล
  • • คาดว่ารัฐบาลจะต้องชดเชยเอกชนปีละ 16,000 ล้านบาท


ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ “สุริยะ”ลั่นก.ย. 68 ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ต่อกี่สีก็ได้ พร้อมเดินหน้าตั้งกองทุนฯ ดึงรายได้รฟม.รวมกับทุนประเดิมจากรัฐบาล คาดชดเชยเอกชนปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (3 ธ.ค. 67) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ...ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยหลังจากนี้ จะต้องส่งร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา และคาดว่าจะเสนอไปที่สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ได้ภายในสิ้นเดือนธ.ค. 2567 และคาดการณ์ว่า ร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯจะผ่านขั้นตอนพิจารณาของรัฐสภาทั้ง 3 วาระ ได้ภายในเดือนมิ.ย. 2568 และสามารถประกาศใช้ในเดือน ก.ย. 2568 ตามกรอบเวลา ที่ประชาชนจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง

โดยพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ นี้จะเป็นกฎหมายสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทุกเส้นทาง ทุกสี ซึ่งปัจจุบันกรณีมีการเปลี่ยนสายรถไฟฟ้าจะเสียค่าแรกเข้า และค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายนั้นตามระยะทางที่ใช้ ทำให้ประชาชนมีภาระค่าเดินทางสูง เมื่อมีพ.ร.บ.ตั๋วร่วม จะเก็บค่าโดยสาร 20 บาทต่อการเดินทาง 1 เที่ยวไม่ว่าจะต่อรถไฟฟ้ากี่สาย ซึ่งจะทำให้มีประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้าเดินทางมากขึ้น ในราคาประหยัดและใช้เวลาเดินทางน้อยกว่าใช้รถยนต์ที่มีปัญหาการจราจรติดขัด 

นอกจากนี้พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ จะมีการตั้งกองทุนตั๋วร่วม ซึ่งได้มีการกำหนดที่มาของรายได้กองทุนฯ โดยจะมีเงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้,และเงินรายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ไม่ต้องนำส่งคลัง เป็นต้น เพื่อชดเชยรายได้ให้ผู้ประกอบการเอกชน โดยคาดการณ์เบื้องต้นในช่วง 2 ปีแรกจะใช้เงินชดเชยประมาณ 16,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคาดว่ารายได้ของกองทุนตั๋วร่วมฯ เพียงพอที่จะนำไปชดเชยเอกชน


สำหรับร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ประกอบด้วย 7 หมวด และบทเฉพาะกาล (45 มาตรา) ดังนี้
การกำหนดคำนิยาม (มาตรา 1 - 4)
- หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (มาตรา 5 - 13)
- หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 14 - 23)
- หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 24)
- หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม (มาตรา 25 - 28)
- หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม (มาตรา 29 - 34)
- หมวด 6 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา 35 - 36)
- หมวด 7 โทษทางปกครอง (มาตรา 37 - 40)
- บทเฉพาะกาล (มาตรา 41 - 45)

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม จะ ทำให้กำหนดอัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรม เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ การแข่งขันที่เป็นธรรม โดยให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบอนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการขนส่งสาธารณะจะต้องนำอัตราค่าโดยสารร่วมที่กำหนดตามมาตรา 26 ไปใช้บังคับ ในกรณีที่มีการจัดทำสัญญาสัมปทานสัญญาร่วมงานหรือสัญญาร่วมลงทุนที่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบตั๋วร่วม

หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนา และส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยมีเงินทุนประเดิม ที่รัฐบาลจัดสรรให้, เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี,เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต, เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่งเมื่อมีสัญญารับประทานเงินค่าปรับ เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น