xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟท.เคาะซื้อรถจักรไฮบริด 113 คัน 2.3 หมื่นล้าน คาดเปิดประมูล ก.ย. 68 เร่งรับมอบล็อตแรกปี 71

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • โครงการเสนอคมนาคมและครม. คาดประมูล ส.ค.-ก.ย. 68 รับมอบ มี.ค. 71
  • • รถจักรใหม่จะทดแทนรถเก่าที่ปลดระวาง
  • • รฟท. ยังเตรียมจัดซื้อรถโดยสาร 182 คัน วงเงิน 1.05 หมื่นล้านบาท


รฟท.เดินหน้าจัดซื้อรถจักรดีเซลไฟฟ้า ระบบไฮบริด 113 คัน วงเงินกว่า 2.37 หมื่นล้านบาท รองรับทางคู่และยกระดับบริการเพิ่มรายได้ เร่งชงคมนาคมและ ครม. คาดประมูล ส.ค.-ก.ย. 68 รับมอบมี.ค. 71 ทดแทนรถเก่าเตรียมปลดระวาง และเตรียมจัดหารถโดยสาร 182 คัน 1.05 หมื่นล้านบาท

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)​ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการรถไฟฯ (บอร์ดรฟท.) ครั้งที่ 15/2567 เมื่อวันที่ 25 พ.ย.  2567 โดยมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร เป็นประธานกรรมการ มีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ ขนาดน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 113 คัน วงเงินงบประมาณ 23,730 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ รฟท.จะสรุปรายละเอียดนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามขั้นตอนต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ตามแผนงานคาด ครม.อนุมัติภายในเดือน มิ.ย. 2568 ซึ่งในทางคู่ขนาน รฟท.ได้ดำเนินการเตรียมเอกสารประกวดราคาไปด้วย โดยจะมีการทำร่าง TOR และเปิดรับฟังวิจารณ์ร่าง TOR ช่วง มี.ค. 68- ก.ย. 68, เปิดประกวดราคาช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 68, พิจารณาผลประกวดราคาและลงนามสัญญาในช่วงต.ค. 68- ก.พ. 69 ใช้เวลาในการประกอบรถ จำนวน 113 คัน 66 เดือน ช่วงเดือนมี.ค. 69-ส.ค. 74

ตามแผนงานจะแบ่งการส่งมอบรถเป็น 4 งวด งวดแรก จำนวน 23 คัน ช่วงเดือนมี.ค. 71-พ.ค. 71, งวดที่ 2 จำนวน 30 คัน ช่วงเดือน ก.ย. 71-พ.ย. 71, งวดที่ 3 จำนวน 30 คัน ช่วงเดือน ก.ย. 72-พ.ย. 72, งวดที่ 4 จำนวน 30 คัน ช่วงเดือน ก.ย. 73-พ.ย.  74

สำหรับการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า พร้อมอะไหล่ ขนาดน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 113 คัน จะเป็นรถดีเซลไฟฟ้า (ไฮบริด) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมและพัฒนาระบบขนส่งที่ลดการใช้น้ำมัน โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเมินการสิ้นเปลืองน้ำมันรถจักรไฮบริดลดลง 20% เมื่อเทียบกับรถจักรดีเซล

ขณะที่ราคารถจักรไฮบริด (รวมอะไหล่)​ คันละ 210 ล้านบาท เปรียบเทียบรถจักรดีเซลไฟฟ้า (รวมค่าอะไหล่) คันละ 139 ล้านบาท เมื่อคิดการประหยัดน้ำมันของรถจักรไฮบริด เปรียบเทียบกับรถจักรดีเซลที่ใช้ในปัจจุบัน พบว่าในปี 2571 จะลดค่าใช้จ่ายรายปีได้ 225.89 ล้านบาท หักผลต่างราคารถจักรดีเซลกับรถจัดรไฮบริด (ค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ และซ่อมบำรุง ปีที่ 6 และปีที่ 12) ผลตอบแทนของรถจักรไฮบริดจะเป็นบวกในปีที่ 10 จำนวน 106.69 ล้านบาท และในระยะเวลา 12 ปี หรือช่วงปี 2571-2582 จะสามารถประหยัดค่าน้ำมันได้รวมจำนวน 44,231 ล้านบาท


โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ ขนาดน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 113 คัน เป็นการดำเนินตามแผนวิสาหกิจการรถไฟฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการ และเพิ่มรายได้ของการรถไฟฯ ซึ่งปัจจุบัน รฟท.มีรถจักร (ไม่รวมรถจักรสับเปลี่ยน) จำนวน 187 คัน มีสภาพเก่าและอายุใช้งานมาก ทำให้มีภาระด้านงบประมาณในการซ่อมบำรุง เพื่อให้รถจักรมีสภาพพร้อมใช้งาน (Availability ) และในปี 2576-2579 จะตัดหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตรอม จำนวน 50 คันออก เนื่องจากมีอายุใช้งานเกินกว่า 50 ปี เหลือไว้ 10 คันที่มีการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ทำให้หลังปี 2580 จะเหลือรถจักรใช้งานจำนวน 137 คัน

ขณะที่ รฟท.มีความต้องการรถจักรเพื่อรองรับการให้บริการและเส้นทางรถไฟทางคู่ เพื่อให้บริการเดินรถเชิงพาณิชย์และรถสินค้า โดยตามแผนในปี 2567-2580 ต้องการรถจักรจำนวน 127 คัน และในปี 2580 ต้องการรถจักรเพิ่มเป็น 242 คัน หรือเพิ่มขึ้นอีก 115 คัน

@ดันแผนจัดหารถโดยสาร 182 คัน 1.05 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ รฟท.ยังเตรียมแผนดำเนินโครงการจัดหารถโดยสารทดแทนรถด่วนพิเศษและรถด่วน จำนวน 182 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 10,500.1 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น