ผู้จัดการรายวัน 360 - “ไทยพีบีเอส” เปิดเวที AI Horizons: The Future of Media งานทอล์กสุดล้ำ อัปเดตเทรนด์เทคโนโลยี AI พลิกโฉมวงการสื่อ ต่อยอด AI สู่การพัฒนาเพื่อคนทุกกลุ่ม ล่าสุดดึง AI เข้าสู่แนวทางปฏิบัติด้านสื่อมวลชน รวม 6 บริการ พร้อมปรับตัวเข้าสู่ยุค AI Transformation อย่างเต็มรูปแบบ
รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิต และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีการประยุกต์ใช้ AI อย่างแพร่หลายในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงแวดวงสื่อมวลชน ที่ AI ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความแม่นยำ และความหลากหลายในเนื้อหา นับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
ทั้งนี้ไทยพีบีเอส พร้อมที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรในยุค AI ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้จะอยู่ภายใต้ 9 ความมุ่งมั่น กับ 3 ปัจจัยท้าทาย คือ ความท้าทายที่ 1 : STAYING RELEVANT ทำอย่างไรที่เราจะยึดโยงกับผู้ชมผู้ฟัง ได้อย่าง แท้จริงและทั่วถึง ดำเนินการด้วยความมุ่งมั่น 3 ข้อแรก 1.ใช้ AI ทำงาน รวบรวมเอาความสนใจจากหลายแพลทฟอร์มของไทยพีบีเอส มาอยู่ในจุดเดียว สู่ One Thai PBS เนื้อหาที่คุณสนใจ เข้าถึงทุกบริการได้ในที่เดียว คาดว่ากลางปี 2568 จะเปิดใช้บริการได้ 2.กลุ่มคนที่ตกหล่นจากสื่อ เช่น คนที่มีภาษาถิ่น หรือ แรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในไทย จากนี้จะมีรายการโลคอล ตั้งเป้า 5 ปี คอนเท้นท์ 40% ของปีนั้น จะต้องมีซับไตเติลแบบเรียลไทม์ แปลเป็นภาษาท้องถิ่นที่ไม่ก่อให้เกิกผลกระทบ หรือเซ้นซิทีฟต่อความรู้สึก 3. INCLUSIVE COMMUNICATION ปัจจุบันมีบริการ Text in to Speech จะทำให้ดีขึ้น หรือในอีก 5 ปี คอนเท้นท์ทั้งหมดของไทยพีบีเอส จะต้องมี Text in to Speech 100%
ความท้าทายที่ 2 : ทำอย่างไรที่เราจะสะท้อนปัญหา และสื่อสารความคิดของคนไทยสู่สาธารณะ ได้อย่าง ตรงไปตรงมา และ ปราศจากอคติ จะทำได้ด้วย ความมุ่งมั่นข้อ 4-6 คือ 4.ทำให้ความจริงหาง่าย ประเทศไทยต้องมีระบบ Fact - Checking ซึ่งอยากให้ทางกสทช. เป็นเจ้าภาพทำระบบนี้ และทางไทยพีบีเอสพร้อมทำงานร่วมกัน 5.การเอา AI มาใช้ที่เรียกว่า PUBLIC CROWDSOURCING เปลี่ยนกระบวนการหาความจริงที่เกิดจากสาธารณะร่วมกันทำ แทนการเอานักข่าวเป็นศูนย์กลาง 6.การเปิดพื้นที่เจรจาอย่างไตร่ตรอง AI จะช่วยคาดการณ์ได้แม่นยำขึ้น
ความท้าทายที่ 3 : ทำอย่างไรที่เราจะสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของสังคมไทยสู่ยุค AI ได้อย่างเท่าทัน และสร้างสรรค์ ทำได้ด้วยความมุ่งมั่นข้อ 7-9 ได้แก่ 7. AI-READY SOCIETY กับการเป็นฮับของฐานข้อมูลสังคม 8. HUMAN-CENTRED AI โดยไทยพีบีเอสตั้งเป้าปี 2568 จะมีคอนเท้นท์ที่รองรับ HUMAN-CENTRED AI ไม่น้อยกว่า 50 ชม. เนื้อหาหลากหลาย เช่น งาน, การศึกษา, ผู้ด้อยโอกาส และการหลอกลวง เป็นต้น 9. ETHICS AND RESPONSIBLE USE OF AI วางแผนแนวทางการใช้ AI ภายในองค์กร
รศ. ดร.วิลาสินี กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าทางไทยพีบีเอสเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยี AI ให้เกิดประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน นอกจากมุ่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรในยุค AI แล้ว ล่าสุดยังได้ได้จัดงาน “AI Horizons: The Future of Media เมื่อโลกของสื่อ..ต้องพลิกโฉมด้วยพลัง AI” ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้เท่าทันและความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI พร้อมเปลี่ยนมุมมองการรู้เท่าทันและผลกระทบที่ได้รับจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI ทั้งด้านการปรับตัวของวงการสื่อสาธารณะทั้งไทยและต่างประเทศ กรอบกฎหมายกำกับการใช้ AI ด้านจริยธรรม และการพัฒนาตัวเองในยุค AI
“การนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในงานสื่อมวลชน นอกจากจะช่วยพัฒนากระบวนการทำงานแล้ว ยังนับเป็นความท้าทายที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนเรื่องจริยธรรมและความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้มากขึ้น ไทยพีบีเอสจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้งานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับแนวทางปฏิบัติด้านสื่อมวลชนเดิม เปลี่ยนโฉมการทำข่าวบนจริยธรรมสื่อ นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแม่นยำ ทันท่วงที และเชื่อถือได้ พร้อมปรับตัวเข้าสู่ยุค AI Transformation อย่างเต็มรูปแบบ” ผู้อำนวยการ ไทยพีบีเอส กล่าว
สำหรับงาน “AI Horizons: The Future of Media เมื่อโลกของสื่อ..ต้องพลิกโฉมด้วยพลัง AI“ จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 28–30 พฤศจิกายน 2567 ณ SCBX NEXT TECH ชั้น 4 สยามพารากอน เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของไทยพีบีเอส และสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับ AI และสื่อในอนาคตโดยจะมีทั้งทัพนักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน หน่วยงานกำกับดูแล และ Tech Company ชั้นนำจากไทย และต่างประเทศกว่า 24 ท่าน ที่จะร่วมทอล์กใน 18 เซสชั่น ตลอด 3 วัน 3 ธีมฮอต
นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส กล่าวว่า ปัจจุบันไทยพีบีเอสได้นำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาและประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลอย่างต่อเนื่องแล้วกว่า 6 บริการสำคัญ ได้แก่ 1. AI Vertical LIVE เทคโนโลยีปรับมุมมองการชมสดในแนวตั้งอัตโนมัติสำหรับสมาร์ทโฟน เพื่อให้ผู้ชมได้ชมสด แบบเต็มตา เต็มจอ 2.AI in Brief สรุปเนื้อหา จับประเด็นสำคัญ สั้น กระชับ เข้าใจง่าย
3.อ่านให้ฟัง หรือ AI Voice เทคโนโลยี Text to Speech ด้วยเสียงสังเคราะห์จากผู้ประกาศข่าว 4.AI Anchor อธิบายข่าวสาร สาระน่ารู้ให้เข้าใจง่ายกับผู้ประกาศ AI ที่มีความสมจริงเป็นธรรมชาติ 5.Thai PBS Chatbot ให้ข้อมูลข่าวสาร ถาม-ตอบอัตโนมัติด้วย AI และ 6.VIPA for you คัดสรรและแนะนำเนื้อหาที่ตรงใจ ตรงไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคลด้วย AI Personalization
นอกจากนี้ยังให้บริการเทคโนโลยีต่างๆ ผ่านเว็บไซต์ไทยพีบีเอส, Thai PBS World ข่าวและเนื้อหาภาคภาษาอังกฤษ, Thai PBS Verify บริการตรวจสอบข่าวปลอมและคัดกรองข่าวจริง รวมถึงนวัตกรรมด้านการนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลบน Thai PBS Policy Watch จับตาอนาคตประเทศไทย ที่จะเป็นสื่อกลางในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน.