xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.คาดปี 68 ดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตฯ พลิกโต 1.5-2.5% จากปีนี้หั่นเป้าหดตัวลง 1.6%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • ภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2567 MPI หดตัวเฉลี่ย 1.63%
  • • สศอ. ปรับประมาณการ (รายละเอียดการปรับประมาณการไม่มีในเนื้อหา)


สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัวร้อยละ 0.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ภาพรวม 10 เดือนแรก ปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.63 พร้อมปรับประมาณการดัชนี MPI ปีนี้หดตัวร้อยละ 1.6 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1.0 คาดปี 2568 ดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 หลังการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ตุลาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 93.41 หดตัวร้อยละ 0.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 57.75 ส่งผลให้ภาพรวม 10 เดือนแรกปี 2567 หดตัวเฉลี่ยร้อยละ 1.63 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.72 ส่งผลให้ สศอ.ปรับประมาณการปี 2567 ลดลงครั้งที่ 3 ในรอบปี โดยคาดว่าดัชนี MPI หดตัวร้อยละ 1.6% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1.0%


ทั้งนี้ สศอ.ได้ประมาณการปี 2568 โดยคาดว่าดัชนี MPI จะกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 1.5-2.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักมีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง และการขยายการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่นเดียวกันกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการยังคงมีทิศทางขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐผ่าน การลงทุนขนาดใหญ่ แต่คงต้องเฝ้าระวังความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาค ความไม่แน่นอนของนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมถึงต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อาจจะกระทบต่อการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและความต้องการซื้อในสินค้าต่างๆ ที่สำคัญได้


สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนตุลาคม 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไปขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.98 จากผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศเป็นหลัก, คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.18 จากผลิตภัณฑ์ Hard Disk Drive เป็นหลัก, สัตว์น้ำบรรจุกระป๋อง ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.24 จากผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าและปลาซาดีนกระป๋องเป็นหลัก

สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตเดือนตุลาคม 2567 ได้แก่ ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.19 จากรถบรรทุกปิกอัพ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เป็นหลัก, น้ำมันปาล์ม หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.60 จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์, ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.02 จาก Integrated circuits (IC) และ PCBA เป็นหลัก


ด้านระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง” จากปัจจัยภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ด้านความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก

ความคาดหวังถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จากภาคการผลิตในสหภาพยุโรปที่ซบเซาและญี่ปุ่นที่เริ่มชะลอตัว ส่วนในสหรัฐอเมริกามาจากความกังวลต่อนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของรัฐบาลชุดใหม่

นายภาสกรกล่าวว่า สศอ.ดำเนินการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเป้าหมาย เนื่องจากโอกาสและความท้าทายโลกปัจจุบัน ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอีกครั้ง หลังจากโครงสร้างอุตสาหกรรมปัจจุบันมีการเติบโตที่ลดลง คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น