- • กระทรวงคมนาคมและรฟท. ยืนยันดำเนินการตามกฎหมาย กรณีที่ดินเขากระโดง
- • กำลังรอคำตอบอุทธรณ์จากกรมที่ดินภายใน 60 วัน
- • หากกรมที่ดินไม่เพิกถอนการโอนที่ดิน จะฟ้องอธิบดีกรมที่ดินต่อศาลปกครอง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
- • นายวีริศ ยังไม่กล้าเจรจาเช่าที่ดินรายแปลง เนื่องจากรอความชัดเจนทางกฎหมายและกังวลความผิดตามมาตรา 157
“สุริยะ-รฟท.” ยันต้องเดินตามข้อกฎหมาย ปม "ที่ดินเขากระโดง" มีขั้นตอนรอกรมที่ดินตอบอุทธรณ์อีก 60 วัน หากยันไม่เพิกถอนจ่อยื่นศาลปกครองฟันอธิบดีกรมที่ดินละเว้นปฏิบัติหน้าที่ "วีริศ" เผยยังไม่กล้าเจรจาเช่ารายแปลง โยนอนุฯ กฎหมายตรวจสอบอำนาจ หวั่นผิด ม.157
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องที่ดินเขากระโดงว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิในที่ดินที่ทับซ้อนกับที่ดินของ รฟท. บริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ของคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ถึงอธิบดีกรมที่ดินไปแล้ว ซึ่งยังต้องรอการพิจารณาของกรมที่ดินก่อน ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยมีการติดตามอย่างใกล้ชิด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง รฟท.จะสามารถใช้คำพิพากษาศาลฎีกา และศาลปกครอง ฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดงกว่า 900 แปลงได้เลยตามที่มีการนำเสนอแนวคิดนี้หรือไม่ นายสุริยะตอบเพียงว่า ในรายละเอียดต้องรอฝ่ายกฎหมายของ รฟท.สรุปก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
@รฟท.ยันต้องรอฟังผลอุทธรณ์ "กรมที่ดิน" อีก 60 วัน
ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าวว่า ตอนนี้ รฟท.ได้ทำหนังสืออุทธรณ์ไปที่กรมที่ดินแล้ว ก็อยู่ในขั้นตอนที่กรมที่ดินจะต้องพิจารณาภายในเวลา 30 วัน และจะมีเวลาอีก 30 วันที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยจะต้องทำหนังสือตอบกลับ รฟท. ซึ่งหากคำตอบของกรมที่ดินยังเหมือนเดิม คือไม่เพิกถอนโฉนดที่ดิน ทางรฟท.ก็จะมีหน้าที่ฟ้องศาลปกครองในขั้นตอนต่อไป ขณะเดียวกันก็ได้ส่งเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของการรถไฟฯ ว่าควรทำอะไรมากกว่านี้ไหม
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง รฟท.จะยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดินในความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หรือไม่ นายวีริศตอบว่า คงต้องดูผลการอุทธรณ์ที่ยื่นไปก่อนว่าออกมาแบบไหน จากนั้นจะต้องให้ทีมกฎหมายตรวจดูให้รอบคอบ เพราะทาง รฟท.เองก็กลัวจะโดนฟ้องมาตรา 157 เหมือนกัน
ส่วนการรอแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะเป็นการยื้อเวลาออกไปหรือไม่ ผู้ว่าฯ รฟท.กล่าวว่า เชื่อว่ากรณีนี้สามารถทำอะไรพร้อมๆ กันได้ ในช่วงระหว่าง 30 วัน, 60 วัน ที่รอคำตอบจากกรมที่ดิน ขณะนี้มีการคิดไว้หลายแนวทาง แต่จะทำอะไรได้แค่ไหนอย่างไรต้องปรึกษาทางอนุฯ กฎหมาย การรถไฟฯ เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดที่สามารถนำไปบอกกับชาวบ้านได้ และต้องเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย ก็จะพยายามดำเนินการ เช่น กรณีการรถไฟฯ ทำสัญญาเช่ารายแปลงกับชาวบ้าน ก็เป็นโจทย์ที่ได้ปรึกษาทางอนุฯ กฎหมายไป
และต้องไม่ลืมว่ามีชาวบ้านกว่า 900 แปลง จำนวนค่อนข้างมาก และต้องเข้าใจว่าชาวบ้านอาจจะซื้อที่ดินนั้นมามีโฉนดด้วย แล้วจะมาถูกไล่ก็คงไม่มีใครชอบแน่
@ ให้เช่ารายแปลง ขอตรวจข้อกฎหมายเพื่อความชัวร์ หวั่นผิด ม.157
“ยืนยันว่าหากอนุฯ กฎหมายบอกว่าอะไรทำได้ และผู้ว่าฯ รฟท.มีอำนาจทำได้ ไม่ผิดกฎหมายก็จะทำแน่ เช่น ในระหว่างนี้หากมีชาวบ้านพร้อมจะคุยเพื่อทำสัญญาเช่า การรถไฟฯ ก็พร้อมจะคุย แต่ไม่ใช่ผู้ว่าฯ ทำไปแล้วผิดกฎหมาย จะโดนมาตรา 157 ซึ่งคงไม่ใช่ ดังนั้นผมต้องปรึกษาทางกฎหมายให้รอบคอบมากที่สุด” นายวีริศกล่าวอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องที่ดินเขากระโดง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้นโยบายหรือแนวทางการดำเนินงานการรถไฟฯ อย่างไรบ้าง นายวีริศกล่าวว่า รมว.คมนาคมไม่ได้ให้นโยบายพิเศษ เพียงแต่ย้ำว่าทำให้ดีที่สุด และย้ำว่าที่ดินรถไฟ จะต้องไม่เสียไปแม้แต่ตารางวาเดียว แต่ต้องทำให้ถูกกฎหมายด้วย