xs
xsm
sm
md
lg

“คงกระพัน”ลุยโครงการCCS-ไฮโดรเจน ปูทางสู่เป้าหมายNet Zero 2050

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • เน้นโครงการ CCS (Carbon Capture Storage) และไฮโดรเจน
  • • เร่งบูรณาการกลุ่ม ปตท. สู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
  • • ปตท.สผ. นำร่องโครงการ CCS ในแหล่งอาทิตย์ กักเก็บคาร์บอนได้ 1 ล้านตัน


ซีอีโอ ปตท. เดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมาย NET ZERO ปี2050 ลุยโครงการCCS-ไฮโดรเจน พร้อมเร่งบูรณาการในกลุ่มปตท. สู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน ปตท.สผ.นำร่องแซนด์บ็อกซ์โครงการCCSในแหล่งอาทิตย์ กักเก็บคาร์บอนได้1 ล้านตัน

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวภายในงานสัมมนา iBusiness Forum “2025 Net Zero กับความท้าทายของเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ Net Zero and the Challenges of The New Global Economy” ว่า วันนี้เรามุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ปีค.ศ.2050 โดยทิศทางของโลกทั้ง Climate Change การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้พลังงานสะอาดขึ้น Digital Transformation ของอุตสาหกรรมต่างๆล้วนมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางการใช้พลังงานเป็นอย่างมาก

การใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้นถึง 46% จากปีค.ศ. 2000 ซึ่งประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากคือ จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ขณะที่ไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 1%ของโลก แต่เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากสุดติดอันดับ 1ใน10 ของโลก

“วันนี้คงไม่ต้องมีคำถามว่าทำไมต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อช่วยโลก รวมถึงช่วยตัวเองเพื่อให้มนุษยชาติอยู่ได้”


อย่างไรก็ตาม ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญในการช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด ทำให้การใช้ก๊าซธรรมชาติยังมีบทบาทต่อไปอีก20-30ปีข้างหน้า แต่ก็ควรพัฒนาพลังงานหมุนเวียนควบคู่กันไป รวมถึง SMR และไฮโดรเจนแม้ว่าจะมีต้นทุนสูงแต่เชื่อว่าอนาคตจะมีต้นทุนที่ต่ำลง

ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก เนื่องจากแต่ละประเทศมีแหล่งก๊าซธรรมชาติเองไม่ว่าจะเป็น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา เป็นต้น ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการนำเข้าพลังงาน โดยไทยมีการผลิตก๊าซธรรมชาติใช้เองราว 50% ของความต้องการใช้ ส่วนที่เหลือนำเข้าก๊าซฯจากเมียนมาราว 10% และ นำเข้า LNG ส่วนน้ำมัน ไทยนำเข้ามากถึง 90% ดังนั้น ซึ่งก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงหลักที่สำคัญของไทย แม้ว่าก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาดสุดเมื่อเทียบกับถ่านหินและน้ำมัน แต่จะให้ดีต้องลดคาร์บอนควบคู่กันไปด้วย


นายคงกระพัน กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ว่า แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NetZero)ในปีค.ศ. 2050 ปตท.มุ่งดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยคาร์บอน ควบคู่กับการพัฒนาโครงการCCS ซึ่งในต่างประเทศได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่นสหรัฐอเมริกามีมากกว่า 100 แห่ง และยุโรปก็มีมากเช่นกัน สาเหตุที่เกิดได้เร็วเพราะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

โดยโครงการCCS ทางปตท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ถังเก็บคาร์บอนและท่อฯ รวมทั้งประสานกับภาครัฐเพื่อออกกฎหมายรองรับ ขณะที่ปตท.สผ.จะเป็นแกนนำในการพัฒนาโครงการCCS เริ่มทดลองทำsandbox ในแหล่งอาทิตย์ จากการผลิตก๊าซฯแล้วแยกคาร์บอนอัดกลับในทะเล แต่หากทำจริงจะเป็นการนำคาร์บอนจากถังเก็บบนบกผ่านท่อมาเก็บในหลุมปิโตรเลียมที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้ว

อย่างไรก็ดี ไทยสามารถกักเก็บคาร์บอน(CCS)ได้ 2 วิธี คือ 1. กักเก็บคาร์บอนในหลุมก๊าซที่ไม่ได้ใช้แล้ว เบื้องต้นสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ราว 1 ล้านตันคาร์บอน 2. การกักกับในชั้นน้ำเกลือใต้พิภพ (saline aquifer)เป็นน้ำเกลือเข้มข้นโดยนำคาร์บอนไปละลายได้ทำได้บริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่ง Net Zreo ไม่ใช่ต้นทุน แต่เป็นโอกาสทางธุรกิจ

ส่วนธุรกิจ ไฮโดรเจน พบว่าประเทศไทยก็มีศักยภาพ โดยมีการใช้ไฮโดรเจนสีเทา (Gray Hydrogen) ในบางอุตสาหกรรม นอกจากนี้แผนPDP ฉบับใหม่ ระบุให้มีการใช้ไฮโดรเจนสัดส่วน 5%ในโรงไฟฟ้าก๊าซฯ แม้ปัจจุบันจะไฮโดรเจนมีราคาแพง แต่ในอนาคตจะค่อย ๆ ถูกลง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และควรทำ

นายคงกระพัน กล่าวย้ำว่า ภายใต้วิสัยทัศน์”ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ในฐานะที่ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ เมื่อปตท.แข็งแรง ประเทศชาติก็แข็งแรงด้วย ดังนั้นปตท.จึงเน้นการโตในต่างประเทศ โดยรายได้ของปตท.มากกว่า 50%มาจากต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น