xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.รื้อผัง 'สุวรรณภูมิ' ปั้นฮับการบิน เร่งปรับปรุงห้องน้ำ-เพิ่ม Auto Gate ดันติดท็อป 20 เทียบชางงี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • สนามบินสุวรรณภูมิ ติดอันดับ 10 สนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ด้านพื้นที่ 20,000 ไร่)
  • • แต่ความจุรองรับผู้โดยสารยังจำกัดอยู่ที่ 60-65 ล้านคน/ปี
  • • ข้อจำกัดเรื่องความจุผู้โดยสารแสดงให้เห็นว่า ขนาดพื้นที่ไม่ได้แปลว่าประสิทธิภาพสูง (ไม่ได้อยู่ในอันดับต้นๆด้านประสิทธิภาพ)


สนามบินสุวรรณภูมิติดอันดับ 10 “สนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลก” นั่นเป็นเรื่องของขนาดพื้นที่ถึง 2 หมื่นไร่ แต่เรื่องขีดความสามารถสนามบินสุวรรณภูมิยังรองรับผู้โดยสารได้เพียง 60-65 ล้านคน/ปีเท่านั้น ขณะที่ในการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลก (World’s Best Airport) ประจำปี 2024 ของเว็บไซต์ SKYTRAX “สุวรรณภูมิ” หล่นไปอยู่ในอันดับที่ 58 รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายที่จะพัฒนาให้สนามบินสุวรรณภูมิขึ้นไปติด 20 อันดับแรกของสนามบินที่ดีที่สุดของโลกภายใน 5 ปี และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) ภายใน 5 ปีด้วย เป็นโจทย์ใหญ่และท้าทาย เพราะการจัดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดนี้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้เดินทางทั่วโลก ที่สะท้อนจากที่ได้สัมผัสบริการจริงๆ

@เปิดแผน ทอท. ยกเครื่องบริการ "สุวรรณภูมิ"

จากนโยบายดังกล่าว บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (AOT) เตรียมดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ติด 1 ใน 20 อันดับแรกสนามบินที่ดีที่สุดของโลกและเป็น Aviation Hub ภายใน 5 ปี จะต้องมีการลงทุนพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงบริการควบคู่กันไป โดยแบ่งการปรับปรุงพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ

ระยะเร่งด่วน ต้องปรับปรุงในเรื่องความสะดวกสบาย ความสะอาด ทำอย่างไรที่จะลดระยะเวลารอคอยของผู้โดยสารในทุกจุด, ระยะกลาง จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของสนามบินหลักของประเทศ, ระยะยาว ก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ พร้อมทั้งผลักดันอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานและกิจกรรมให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน 

@ลุยติดตั้งระบบ Auto ตั้งแต่ "เช็กอินตั๋ว-โหลดกระเป๋า -ตม."

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ทอท.วางเป้าหมายในปีแรก คือ เร่งปรับปรุงการให้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้ขึ้นมาอยู่ใน 50 อันดับแรกของสนามบินที่ดีที่สุดก่อน และภายใน 5 ปีจะให้ติด 1 ใน 20 ตามเป้าหมาย ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทอท.มีแผนดำนินการในหลายเรื่อง ได้แก่

แผนการติดตั้ง Self Check-in (Kiosk) ) จำนวน 250 เครื่อง ติดตั้งระบบรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (Common Use Bag Drop: CUBD) จำนวน 40 จุด ช่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก (Auto Gate) 80 ช่อง และจะติดตั้งเพิ่มอีก 138 ช่อง ให้แล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2569

ขณะนี้ ตม.ขาออกมี Auto Gate และผู้โดยสารต่างชาติ 91 ประเทศ สามารถใช้ได้แล้ว แต่ผู้โดยสารต่างชาติยังใช้ขาเข้าไม่ได้ ดังนั้น ทอท.อยู่ระหว่างเจรจากับ ตม.เพื่อเพิ่ม Auto Gate ขาเข้าสำหรับผู้โดยสารต่างชาติ เพื่อให้กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองทั้งขาเข้า และขาออก โดยรวมรวดเร็วขึ้น และมีเป้าหมายให้สนามบินสุวรรณภูมิใช้ระบบ Autogate ทั้งหมด


@ ใช้ระบบไบโอเมตริก "สแกนใบหน้า" ลดเวลาตรวจคัดกรอง

นอกจากนี้ ทอท.ได้นำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร ที่จุดเช็กอิน Kiosk (ตู้คีออสก์), จุดเช็กบัตรโดยสาร และจุดตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ที่จะทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกรวดเร็ว ช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวของแต่ละจุดบริการ

หลังจากที่ได้ระบบดังกล่าวสามารถช่วยลดระยะเวลารอคอยผู้โดยสารขาออกให้เหลือเพียง 2 นาที/คน จากเดิมที่ 30-40 นาที/คน อย่างไรก็ตาม ทอท.ได้เตรียมศึกษาแผนเปิดใช้งานระบบ Early Check-in ล่วงหน้า 24 ชั่วโมง สำหรับทุกสายการบินเพื่อลดความแออัดและเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารที่มาก่อนเวลา หากศึกษาแล้วเสร็จคาดว่าจะเปิดใช้ได้ในช่วง ก.พ. 2568

“ปัญหาคอขวดและทำให้สนามบินคับคั่งเป็นส่วนของอาคารผู้โดยสารจะเป็นจุดเช็กอิน ตรวจค้น และ ตม.(ตรวจคนเข้าเมือง) ดังนั้นจะเพิ่มจุด Self-Check in, Self-bag drop ติดตั้งระบบ Biometric ระบบ ตม.อัตโนมัติ เพื่อทำให้กระบวนการเร็วขึ้น ซึ่งปัจจุบัน คิว ตม.เร็วขึ้น เป็น 7,200 คน/ชั่วโมง จากเดิม 5,500 คน/ชั่วโมง” นายกีรติกล่าว


@ ปรับโฉมใหม่ห้องน้ำกว่า 1,000 ห้อง เสร็จทุกจุดปี 69

สำหรับห้องน้ำของสนามบินสุวรรณภูมินั้นเป็นอีกจุดที่โดนผู้โดยสารบ่นมากที่สุด เพราะมีสภาพชำรุดทรุดโทรม หนักสุดคือมีกลิ่น ซึ่งน่าจะเป็นตัวฉุดอันดับสุวรรณภูมิให้ตกไปอยู่ที่ 58 โดยปัจจุบันภายในอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบิน มีห้องน้ำจำนวน 125 จุด รวมกว่า 1,000 ห้อง ทอท.มีแผนปรับปรุงใหญ่ เช่น เปลี่ยนกระเบื้อง เปลี่ยนไฟ และเปลี่ยนโถสุขภัณฑ์ และชักโครกใหม่ วางเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้เสร็จทั้งหมดภายในปี 2569 โดยใช้งบประมาณ 124 ล้านบาท

- ภายในอาคารผู้โดยสารมีห้องน้ำ 24 จุด จำนวนกว่า 100 ห้อง ปัจจุบันดำเนินการปรับปรุงเสร็จและเปิดบริการแล้ว

- ที่อาคารเทียบเครื่องบิน ตามแนวทางเดินทั้งหมดมี 37 จุด ปรับปรุงเสร็จแล้ว 20 จุด กำลังปรับปรุง 12 จุด และรอปรับปรุงอีก 5 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดและเปิดบริการได้ภายในเดือน ธ.ค. 2567

- ห้องพักผู้โดยสาร (holdroom) พื้นที่พักคอยก่อนขึ้นเครื่องบินมี 63 จุด ปรับปรุงแล้วเสร็จ 9 จุด เหลือปรับปรุงอีก 54 จุด จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2569

- พื้นที่รอขึ้นรถบัสไปต่อเครื่องบิน (busgate) ภายในประเทศ 1 จุด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568

นอกจากนี้ยังก่อสร้างห้องน้ำใหม่เพิ่ม 2 จุด คือ บริเวณชั้น 2 ด้านหลังสายพานรับกระเป๋า 22-23 ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ส.ค. 2568 และจุดที่ 2 บริเวณชั้น 4 อาคารผู้โดยสารข้างออฟฟิศขายบัตรโดยสารของการบินไทย จะแล้วเสร็จเดือน มี.ค. 2568


@เทียบ "สนามบินชางงี" ยังอีกห่างไกล

เมื่อต้นเดือน พ.ย. 2567 ที่ผ่านมาผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และ ทอท.ได้ไปเยี่ยมชมท่าอากาศยานชางงี ประเทศสิงคโปร์ ที่ครองใจผู้โดยสารต่อเนื่อง ปีล่าสุดอยู่อันดับที่ 2 ท่าอากาศยานดีที่สุดในโลก โดยมีการประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงของ Changi Airport Group (CAG) เพื่อประสานความร่วมมือในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้ติด 1 ใน 20 อันดับท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลก

นายกีรติกล่าวว่า สนามบินชางงีใช้ระบบ Autogate แทบทั้งหมด ทอท.จึงหารือแลกเปลี่ยนถึงกระบวนการในการนำเทคโนโลยีมาใช้และแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการผู้โดยสารที่รวดเร็วและทันสมัย นอกจากนี้ สนามบินชางงีมีความเชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่ง ทอท.ได้เตรียมเปิดให้บริการพื้นที่พักผ่อนใหม่ภายในสุวรรณภูมิ โดยเป็นพื้นที่ให้ผู้โดยสารพักคอยและ Co-working Space ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ส่วนกลางในการให้บริการผู้โดยสารมากขึ้น คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 2567 รวมถึงสนามเด็กเล่นมีกำหนดแล้วเสร็จช่วง ก.พ. 2568

สำหรับสนามบินชางงี มีการพัฒนา ปรับปรุง ก่อสร้างเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีทั้งหมด 4 เทอร์มินัล รองรับผู้โดยสาร 68 ล้านคน/ปี และมีแผนก่อสร้างเทอร์มินัลที่ 5 ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มมากกว่า 50 ล้านคน/ปี โดยมีแนวคิดใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยให้บริการ มีระบบจัดการที่ดี ทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็ว


@รื้อแผนแม่บท "สุวรรณภูมิ" รับ 150 ล้านคน/ปี

สำหรับประเทศไทยกับเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคภายใน 5 ปีนั้น จะต้องพัฒนาให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารรวมได้ 200 ล้านคน/ปี เฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิจะพัฒนารองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคน/ปี โดย
ก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) เพิ่มพื้นที่อีกประมาณ 80,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคน/ปี ทำให้ขีดความสามารถรวมของสุวรรณภูมิจาก 65 ล้านคน/ปี เพิ่มเป็น 80 ล้านคน/ปี

คาดเปิดประมูล East Expansion ในเดือน ก.พ. 2568 ใช้วงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการเดือน ก.ค. ปี 2571

นอกจากนี้ จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) พร้อมรันเวย์เส้นที่ 4 รองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 70 ล้านคน/ปี ลงทุนประมาณ 1.7 แสนล้านบาท เป็นรูปแบบ Mega Terminal เพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ใกล้อาคารผู้โดยสาร โดยมีระบบทางด่วนและรถไฟฟ้า เชื่อมเข้าอาคารด้านทิศใต้โดยตรง

@ทบทวนแผนแม่บท ตัด West Expansion และ SAT-2

นายกีรติกล่าวว่า ขณะนี้ ทอท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ คาดว่าจะมีความชัดเจนไม่เกินเดือน เม.ย. 2568 จะพิจารณาว่ายังจำเป็น ที่จะต้องก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันตก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (West Expansion) หรือไม่ ที่จะเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลักเป็น 5.6 แสนตารางเมตร รวมถึง อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 (SAT-2 ) ด้วย โดยจะต้องพิจารณาความต้องการทั้ง Air side และ Land side ด้วย

@กางแผน 10 ปีลงทุน 1.96 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ทอท.มีแผนลงทุนประมาณ 1.96 แสนล้านบาท ในช่วง 10 ปี (68-78) เพื่อขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานที่ ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย

1. โครงการส่วนต่อขยายด้านตะวันออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (East Expansion) วงเงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท AOT จะดำเนินการเปิดประมูลในเดือน ก.พ.68 และคาดจะรู้ผลและเซ็นสัญญาได้ไม่เกินเดือน พ.ค. 2568 คาดเริ่มก่อสร้างในกลางปี 2568 แล้วเสร็จปี 2571

2. โครงการขยายท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท คาดจะเปิดประมูลกลางปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2572

3. โครงการขยายท่าอากาศยานเชียงใหม่ วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มก่อสร้างปลายปี 2568 แล้วเสร็จในปี 2572

4. โครงการขยายท่าอากาศยานภูเก็ต วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท คาดประมูลก่อสร้างในกลางปี 2569 แล้วเสร็จในปี 2572

5. โครงการอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท คาดประมูลก่อสร้างในปลายปี 2570 แล้วเสร็จในปี 2575

6. โครงการพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย วงเงิน 5.8 พันล้านบาท แล้วเสร็จปี 2576


@เพิ่มผู้โดยสาร Transit /Transfer จาก 4% เป็น 20% สู่ฮับการบิน

นายกีรติกล่าวถึงการเป็นฮับในภูมิภาคว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่มีปริมาณผู้โดยสาร เลือกใช้ไทยเป็นจุด Transit / Transfer ซึ่งปัจจุบันสัดส่วน Transit / Transfer ของสุวรรณภูมิอยู่ที่ 4% อีก 96% เลือกไทยเป็นจุดหมายปลายทาง ดังนั้นต้องหาทางเพิ่มจาก 4% ให้เป็น 20% ถึงจะเป็นฮับภูมิภาคได้ ขณะที่สนามบินชางงีของสิงคโปร์มีผู้โดยสาร Transit / Transfer ถึง 40%

ส่วนสนามบินเองต้องมี Slot ให้สายการบิน มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร นอกจากนี้ ต้องร่วมมือกับสายการบินอย่างการบินไทย เพื่อช่วยดึงผู้โดยสาร จากทั่วโลกเข้ามาเชื่อมต่อเที่ยวบินที่ไทยเพิ่มขึ้น…การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ให้ติดท็อป 20 ของโลกในปี 2572 รวมถึงก้าวไปอยู่จุดเดียวกับ…สนามบินชางงี เป็นความท้าทายทั้งรัฐบาลและตัวชี้วัด ทอท.ในฐานะผู้บริหารสนามบินหลักของประเทศ!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น