- • มี Backlog 19,269 ล้านบาท สะท้อนการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุน
- • คาดไตรมาส 4 จะเซ็นสัญญาขายที่ดินนิคมฯเพิ่มเติม
- • มั่นใจยอดขายที่ดินทั้งปีตามเป้า 2,500 ไร่
“อมตะ”เผยกำไรงวด 9 เดือนปีนี้พุ่ง21%แตะ 1,460 ล้านบาท ตุน Backlog สิ้นกันยายนอยู่ที่ 19,269 ล้านบาท สะท้อนนักลงทุนย้ายฐานการผลิต มั่นใจไตรมาส4ปีนี้จ่อเซ็นสัญญาขายที่นิคมฯเพิ่มเติม ดันยอดขายทั้งปีได้ตามเป้า 2,500ไร่
นางสาวเด่นดาว โกมลเมศ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน หรือ AMATA เปิดเผยว่า ผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมทั้งสิ้น 9,011 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ ทั้งสิ้น1,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% สะท้อนถึงแนวโน้มการขยายตัวของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาใช้พื้นที่ลงทุนของอมตะ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจหลัก ทั้งจากการโอนที่ดิน รายได้ค่าสาธารณูปโภค และการให้เช่าอาคารและโรงงานสำเร็จรูป และการทำพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อให้บริการกับลูกค้า
สำหรับรายได้ที่เพิ่มขึ้น มาจากการโอนที่ดิน 4,254 ล้านบาท เติบโตขึ้น 34% รายได้ค่าสาธารณูปโภคและอื่น ๆ 3,967 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 52% และรายได้จากการเช่าอาคารและโรงงานสำเร็จรูป 702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการโอนที่ดินไปแล้วทั้งสิ้น 766 ไร่ และมีมูลค่ายอดขายที่ยังไม่รับรู้รายได้ (Backlog) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 จำนวน 19,269 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าในไตรมาส 4 จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายที่ดินเพิ่มขึ้น ดังนั้นเชื่อว่ายอดขายที่ดินในปีนี้ จะเป็นไปตามเป้าหมาย 2,500 ไร่
“ผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากการบริหารจัดการและการดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นการพัฒนาธุรกิจทุกภาคส่วน ทั้งในด้านที่ดิน ระบบสาธารณูปโภค และบริการให้เช่า ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเติบโตระยะยาวของบริษัท ที่มุ่งมั่นการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรม ที่เป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ทั้งจากการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การบริหารจัดการน้ำและขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ และการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญ ที่อมตะยึดมั่นเพื่อสร้างการเติบโตให้กับชุมชนและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ” นางสาวเด่นดาว กล่าว
กลุ่มอมตะ ได้วางเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 30% ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon City) ภายในปี 2583