xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคม ร่วมประชุมขนส่งอาเซียน นำเสนอแนวคิด”ท่องเที่ยว 6 ประเทศ”ข้ามแดนสะดวกไร้รอยต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • นำเสนอแนวคิด “Six Countries, One Destination”
  • • โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 6 ประเทศในอาเซียน
  • • มุ่งเน้นการเดินทางข้ามแดนที่สะดวกและไร้รอยต่อ


รองปลัดคมนาคม นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน (STOM) ครั้งที่ 58 ที่มาเลเซีย นำเสนอแนวคิด “Six Countries, One Destination” ส่งเสริมท่องเที่ยว 6 ประเทศ ข้ามแดนสะดวกไร้รอยต่อ
 
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง กระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน (ASEAN Senior Transport Official Meeting: STOM) ครั้งที่ 58 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ กรมเจ้าท่า (จท.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ซึ่งการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียนถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความเชื่อมโยงและความยั่งยืนในระบบการขนส่งของอาเซียน โดยประเทศไทยมีความมุ่งมั่นและพร้อมขับเคลื่อนการเป็นประชาคมอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ สะดวก ปลอดภัย และยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 58 มี Dato' Jana Santhiran Muniayan ปลัดกระทรวงคมนาคมของมาเลเซีย ทำหน้าที่ประธานการประชุม ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งของอาเซียน ปี 2559 - 2568 และรับทราบความคืบหน้าของการยกร่างแผนงานรายสาขาการขนส่งฉบับใหม่ ปี 2026 - 2030 รวมถึงรับทราบข้อเสนอแนะจากผลการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งสาขาต่าง ๆ ได้แก่ ทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง


โดยที่ประชุมจะเสนอเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่อที่ประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 30 ดังนี้

1. เอกสารที่จะมีการรับรองและลงนามพิธีสาร 5 ว่าด้วยสิทธิรับขนการจราจรพักค้างของตนระหว่างจุดใด ๆ ในอาณาเขตของรัฐสมาชิกอื่น ภายใต้ความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการบินเชื่อมเมืองรองในระหว่างประเทศอาเซียน

2. เอกสารที่จะมีการรับรอง ประกอบด้วย แนวทางอาเซียนด้านยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก แนวทางอาเซียนด้านการขนส่งสินค้าในเมือง แนวทางอาเซียนด้านการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนของท่าเรือ แนวทางอาเซียนด้านดิจิทัลและระบบอัตโนมัติของท่าเรือ และแถลงการณ์ร่วมกัวลาลัมเปอร์ 2024 ระดับรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนว่าด้วยความปลอดภัยทางถนนในด้านการส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งกับประเทศคู่เจรจา

ที่ประชุมได้ร่วมประชุมหารือกับเจ้าหน้าอาวุโสด้านการขนส่งจากจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสหภาพยุโรป โดยมีผลลัพธ์สำคัญ ได้แก่ 1) ความคืบหน้าของการเชื่อมโยงทางอากาศ 2) การส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยของเรือโดยสารระหว่างอาเซียน - จีน 3) ความสำเร็จของการดำเนินความร่วมมือระหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น ในโครงการด้านการขนส่ง ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การสำรวจทางอุทกศาสตร์ร่วมในช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ และแนวปฏิบัติ การให้บริการข้อมูลด้านความปลอดภัยทางทะเลสำหรับเรือขนาดเล็กในภูมิภาคอาเซียน 4) การส่งเสริมการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี และ 5) การสนับสนุนความช่วยเหลือด้านวิชาการภายใต้โครงการ EU-ASEAN Sustainable Connectivity Package ในด้านการขนส่งทางอากาศและการขนส่งทางทะเล


ทั้งนี้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ และคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมคณะเฉพาะกิจระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียนและองค์การท่องเที่ยวแห่งอาเซียน ครั้งที่1 ซึ่งเป็นกลไกการดำเนินการเชิงบูรณาการ เพื่อร่วมหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและการเดินทางของประชาชน โดยประเทศไทย ได้นำเสนอแนวคิด “Six Countries, One Destination” ที่เป็นการริเริ่มของรัฐบาลเพื่อส่งเสริม การท่องเที่ยวระหว่าง 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย บรูไน กัมพูชา สปป. ลาว มาเลเซีย และเวียดนาม ผ่านการอำนวยความสะดวกในการข้ามแดน การส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกัน และการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคม


กำลังโหลดความคิดเห็น