- • กรมธุรกิจพลังงานร่วมมือกับ กกพ., การไฟฟ้านครหลวง และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- • ร่วมกันกำกับดูแลความปลอดภัยของสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
- • นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นผู้ให้ข้อมูล
กรมธุรกิจพลังงาน จับมือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมกันกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) พร้อมด้วยนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงานกกพ.)นางสาวภัทรา สุวรรณเดช รองผู้ว่าการธุรกิจ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และนายประสิทธิ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงานการอนุมัติอนุญาต และจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ณ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ อาคารบี กรุงเทพมหานคร
นายสราวุธ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอนุมัติ อนุญาต ทั้ง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ที่ติดตั้งภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
ภายใต้ความร่วมมือนี้หน่วยงานทั้ง 4 จะทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิบัติงาน ที่เกี่ยวกับการขออนุมัติอนุญาต และจัดทำมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดในการอนุมัติ อนุญาต ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถใช้งานสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ติดตั้งภายในเขตสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ได้อย่างมั่นใจ มีความปลอดภัย และยังเป็นการดำเนินการตามนโยบาย 30@30 ตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ในการส่งเสริมให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2573 ให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศ
ปัจจุบันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศกำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ดังนั้น การสร้างโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึงและมีความปลอดภัยนั้น จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ