- • ปัญหาสัญญาไฮสปีด 3 สนามบิน: มีการยื้อแย่งแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
- • ข้อเสนอของรัฐมนตรี: ให้รวบรวมข้อเสนอการแก้ไขสัญญาเสนอ ครม. ครั้งเดียว ก่อนลงนาม
- • แผนงานอีอีซี: ยังคงวางแผนเริ่มงานโครงการระบบขนส่งมวลชน (NTP) ต้นปี 2568
เปิดปมยื้อแก้สัญญา"ไฮสปีด 3 สนามบิน" ติดความเห็นรัฐมนตรีให้รวบเสนอ ครม.ครั้งเดียวก่อนลงนามแก้สัญญา ด้านอีอีซียังวางแผน ตั้งเป้าเริ่มงาน NTP ต้นปี 68
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวถึงการแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ว่า ล่าสุดยังไม่มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยทางอีอีซียังวางไทม์ไลน์โครงการฯ ว่าจะเสนอ ครม.เห็นชอบได้ภายในช่วงสิ้นปี 2567 และจะสามารถส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ได้ช่วงต้นปี 2568 ส่วนเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 5/2567 โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ก็ไม่ได้มีการหารือกรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ที่ประชุม กพอ.ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบร่างแผนการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคส่วนกลางโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ซึ่ง สกพอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะใช้ร่างแผนการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคส่วนกลางโครงการฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กพอ.ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
@เปิดปม รมต.บางคนให้รวบเสนอ ครม.ครั้งเดียว
รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่ยังไม่สามารถเสนอ ครม.พิจารณากรณีแก้ไขสัญญารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินได้ เนื่องจากขณะนี้ยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ประเด็นเสนอ ครม.พิจารณา 2 ครั้ง หรือรวบเสนอเพียงครั้งเดียว โดยในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า ตามปกติ เมื่อ กพอ.มีมติเห็นชอบการแก้ไขสัญญาแล้วจะต้องเสนอ ครม.รับทราบมติบอร์ด กพอ.ดังกล่าวก่อน ซึ่งต่อไปหากมีการพิจารณาประเด็นเฉพาะที่ต้องให้ ครม.เห็นชอบ หน่วยงานต้นสังกัดจะต้องกลับไปดำเนินการให้เรียบร้อย แล้วค่อยนำเสนอ ครม.เห็นชอบตามที่ดำเนินการอีกครั้ง
ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีประเด็นการแก้ไขสัญญาที่มีการปรับเปลี่ยนสาระสำคัญในสัญญาร่วมลงทุนฯ โดยจะต้องส่งร่างสัญญาที่ปรับแก้ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจทาน ตามปกติจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน
รายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุม ครม.มีรัฐมนตรีส่วนหนึ่งมองว่าควรเอาประเด็นทั้งหมดไปดำเนินการให้เสร็จสิ้นแล้วค่อยเอากลับมานำเสนอในคราวเดียวจะได้ไม่เสียเวลา ซึ่งจากความเห็นที่แตกต่างนี้ทำให้ยังไม่มีข้อสรุปแต่อย่างใด