- • มอบหมาย สทร. และ รฟท. บูรณาการกับกระทรวงอุตสาหกรรม
- • ศึกษาเทคโนโลยีการผลิต เพื่อต่อยอดและประยุกต์ใช้ในไทย
- • เป้าหมายคือ ผลิตขบวนรถไฟในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้าและต้นทุน
- • โครงการรถไฟทางคู่และไฮสปีดเทรน จะช่วยเพิ่มความต้องการและหนุนการตั้งโรงงานในไทย
"สุริยะ" ดูโมเดล "ตุรกี" ผลิตขบวนรถไฟ-หัวรถจักรใช้เอง สั่ง สทร.-รฟท.บูรณาการ ก.อุตฯ ศึกษาเทคโนโลยีต่อยอดประยุกต์ใช้ในไทย หวังผลิตรถไฟเอง ทดแทนการนำเข้า ลดต้นทุน เผยแผนสร้างรถไฟทางคู่-ไฮสปีด ดันความต้องการเพิ่มหนุนตั้งไทยโรงงานได้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตนได้เดินทางไปประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน ตุรกี และ H.E. Mr. Osman Boyraz) CEO บริษัท TÜRASAŞ รัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับของกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานตุรกี ณ เมืองซากายา สาธารณรัฐตุรกี และได้เยี่ยมชมแนวทางการออกแบบ ผลิต และแนวทางการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตรถไฟภายในประเทศด้วย
ทั้งนี้ บริษัท TÜRASAŞ มีความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีผลิตรถไฟกับบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีการขนส่งทั่วโลก เช่น HYUNDAI ALSTOM และ SIEMENS ภายใต้แผนพัฒนาที่ 11 ของรัฐบาลตุรกี Eleventh Development Plan (2019- 2023) ได้กำหนดให้ประเทศตุรกีพัฒนาการผลิตรถไฟภายในประเทศ ลดการนำเข้า และเน้นการใช้อะไหล่และวัสดุภายในประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับบริษัท Blue Engineering S.p.L ของประเทศอิตาลี ภายหลังเริ่มสายการผลิตรถไฟในปี 2562 บริษัท TÜRASAŞ ได้พัฒนารถไฟฟ้าความเร็ว 160 กม./ชม. ตามมาตรฐานยุโรป และส่งมอบให้การรถไฟตุรกี (State Railways of the Republic of Turkey) นำไปให้บริการต่อไป โดยผลจากการพัฒนาดังกล่าวส่งผลให้มีการผลิตรถไฟขึ้นในประเทศตุรกี ซึ่งมีราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศถึง 20% และสามารถเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศจากเดิม 10% ขึ้นเป็น 75% อีกทั้ง TÜRASAŞ ยังมีเป้าหมายการผลิตรถไฟให้ได้รวม 56 ขบวน (280 คัน) ภายในปี 2573
นายสุริยะกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายผลักดันการขนส่งทางรางให้เป็นขนส่งหลักของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของประเทศถูกลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) โดยได้มอบนโยบายให้สำนักงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) เป็นแกนหลักทำงานร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และกระทรวงอุตสาหกรรมนำความรู้แนวทางจากการดำเนินการที่เรียนรู้จากประเทศตุรกี เพื่อเร่งดำเนินการให้เกิดการผลิตรถไฟและหัวรถจักรขึ้นในประเทศไทย ทดแทนการสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้การพัฒนาการบริการขนส่งด้วยระบบรางของประเทศมีความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม
ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง รวมถึงรถไฟฟ้าในเขตเมืองหลายเส้นทาง เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีความต้องการ หัวรถจักรและขบวนรถไฟอีกจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องผลักดันให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการออกแบบและผลิตรถไฟด้วยตนเอง ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนการผลิตและการบำรุงรักษาระหว่างการใช้งานที่ถูกกว่าการนำเข้า อีกทั้งสามารถผลิตให้ตรงความต้องการของ รฟท. และสามารถรองรับการผลิตตามคำสั่งซื้อในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย
“ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคเอเชีย และมีศักยภาพในการผลิตสูง ทำให้มีความพร้อมด้านวัตถุดิบ แรงงานฝีมือ และประสบการณ์ ที่จะผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ในอุตสาหกรรมระบบราง หากมีการจัดตั้งโรงงานผลิตรถไฟขึ้นในประเทศไทย จะเป็นธุรกิจใหม่ ที่จะสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับการรถไฟฯ รวมไปถึงการพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถไฟภายในประเทศ ปรับเปลี่ยนพัฒนาและสร้างผู้ผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ของไทยที่เข้มแข็งมาสู่อุตสาหกรรมราง สร้าง Supply Chain ของอุตสาหกรรมไทยได้ทั้งระบบการใช้ Local Contents จากผู้ผลิตไทย จะช่วยสร้างเศรษฐกิจ New S Curve ใหม่ให้กับประเทศอีกด้วย”
สำหรับบริษัท TÜRASAŞ มีโรงงานผลิตและซ่อมรถไฟ 3 แห่ง ประกอบด้วย เมืองซากายา เอสกิเซเฮียร์ และซีวัส อีกทั้งยังมีศูนย์วิจัย 2 แห่งในเมืองซากายา และเอสกิเซเฮียร์ บริษัทมีพื้นที่ทั้งหมด 400,000 ตารางเมตร ปัจจุบันมีพนักงาน 4,000 คน