- • วัฏจักรปิโตรเคมีโลกอ่อนตัวต่อเนื่อง
- • สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้สินค้าจีนราคาถูกไหลเข้าอาเซียนและไทย
- • อุตสาหกรรมไทยถูกกดดันจากสินค้าจีนราคาถูก
เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนรุนแรงในปี 2567 วัฏจักรปิโตรเคมีทั่วโลกที่อ่อนตัวลากยาวมานานหลายปีและยังคงยืดเยื้อต่อไป สงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน ทำให้เกิดการทะลักของสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนมายังภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทย บีบให้อุตสาหกรรมของไทยต้องปรับลดต้นทุนลง รวมถึงความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลต่อราคาพลังงาน รวมทั้งค่าเงินบาทผันผวน ล้วนเป็นปัจจัยลบที่นอกเหนือการควบคุม ทำให้ภาคธุรกิจต่างเร่งปรับตัว วางกลยุทธ์วางแผนรับมือเศรษฐกิจผันผวนที่ทวีความรุนแรง
จากนโยบาย ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้ส่งสัญญาณหลังเข้ารับตำแหน่ง CEO ปตท. ให้บริษัทลูกในกลุ่มปตท.เร่งทบทวน (Revisit) ธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Hydrocarbon ที่ทำมานานหลายสิบปีทั้งธุรกิจ E&P ก๊าซและน้ำมัน ปิโตรเคมีและการกลั่น ไปจนถึงกลุ่มธุรกิจใหม่ที่เพิ่งตั้งไข่มาเพียงแค่ราว 3-4 ปี ด้วยสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งบางธุรกิจช่วงเวลานั้นดี แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจเหล่านี้อาจไม่น่าสนใจ แข่งขันไม่ได้ ต้องหาพาร์ตเนอร์มาช่วย หรือสุดท้ายถอยออกมา
ทำให้ช่วงนี้เริ่มเห็นบริษัท Flagship ของปตท.ทยอยแจ้งการยุติการลงทุนในบางบริษัทออกมาแล้ว ส่งผลทำให้ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2567 ปรับลดลงมากโดยเฉพาะบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ที่แจ้งผลขาดทุนสุทธิในไตรมาส 3/2567 สูงถึง 19,312 ล้านบาท จากการด้อยค่าสินทรัพย์ของบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) และกลุ่มบริษัท Vencorex จากฝรั่งเศส
ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2567 ของ ปตท.และอีก 6 บริษัทในตลาดหุ้นมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 134,044 ล้านบาท ลดลง 18.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากบริษัท Flagship ส่วนใหญ่มีผลประกอบการลดต่ำลงเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 นำโดย บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ขาดทุนสุทธิสูงถึง 18,072 ล้านบาท เมื่อเทียบจากช่วง 9 เดือนปี 2566 ที่ขาดทุนสุทธิ 4,082 ล้านบาท ตามมาด้วย บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ขาดทุนสุทธิ 4,068 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 494 ล้านบาท บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) มีกำไรสุทธิ 4,651 ล้านบาท ลดลง 57.3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่กำไรสุทธิ 10,902 ล้านบาท ส่วน บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีกำไรสุทธิ 7,192 ล้านบาท ลดลง 56.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 16,499 ล้านบาท และบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กำไรสุทธิ 3,063 ล้านบาท ลดลง 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่กำไรสุทธิ 3,216 ล้านบาท
มีเพียง บมจ.ปตท.ที่มีกำไรสุทธิในงวด 9 เดือนแรกปีนี้เติบโตขึ้นเล็กน้อย 1.9% อยู่ที่ 80,761 ล้านบาท และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ที่มีกำไรสุทธิ 60,517 ล้านบาท โตขึ้น 3.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 58,422 ล้านบาท
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ปตท.มียอดขาย 761,858 ล้านบาท ลดลง 5.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 16,324 หมื่นล้านบาท ลดลง 54% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2567 และลดลง 47.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มาจาก EBITDA ที่ปรับลดลง 51.6% มาอยู่ที่ 68,892 ล้านบาท โดย ปตท.และบริษัทย่อยมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 3/2566 มีกำไรประมาณ 20,000 ล้านบาท
รวมทั้งมีการรับรู้รายการที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Non-recurring Items) สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท.เป็นผลขาดทุนประมาณ 9,500 ล้านบาท มาจากส่วนแบ่งผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์จาก บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) จำนวน 4,300 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ในกลุ่มบริษัท Vencorex ของ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) ประมาณ 3,800 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี แนวโน้มไตรมาส 4/2567 จะเห็นการฟื้นตัวขึ้นในกำไรหลักทั้งธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) คาดการณ์ว่าจะเห็นยอดขายปรับตัวสูงขึ้นและการลดต้นทุนต่อหน่วย ส่วนธุรกิจโรงกลั่นก็มีการฟื้นตัวขึ้นของค่าการกลั่น (GRM) รวมถึงการลดลงจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมันและการด้อยค่าสินทรัพย์ด้วย ส่วนธุรกิจก๊าซฯ คาดว่ายอดขายก๊าซฯส่อแววลดลงเนื่องจากเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้ความต้องการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าลดลง
PTTGC ไตรมาส 3/67 ขาดทุน 1.93 หมื่นล้าน
ส่วนผลประกอบการ PTTGC ในไตรมาส 3/2567 ขาดทุนสุทธิ 19,312 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,427 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3/2567 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 149,431 ล้านบาท ปรับลดลง 11% จากไตรมาส 2/2567 และปรับลดลง 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุสำคัญมาจากราคาขายกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูปปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบเป็นหลัก และบริษัทฯ มี Adjusted EBITDA อยู่ที่ 8,387 ล้านบาท ปรับลดลงมาจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชั้นกลางที่ลดลง รวมทั้งขาดทุนสต๊อกน้ำมันและรายการการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ (Stock Loss Net NRV) รวม 3,912 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและตราสารอนุพันธ์ทางการเงินรวมเป็น 2,941 ล้านบาท
แต่บริษัทฯ ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจที่ได้รับความท้าทายจากสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ทำให้รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ในกลุ่มบริษัท Vencorex และประมาณการหนี้สิน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 8,574 ล้านบาท รวมถึงบริษัทฯ รับรู้ผลขาดทุนตามวิธีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเกิดจากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์จากบริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) จำนวน 8,937 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 17,511 ล้านบาท ฉุดให้ไตรมาส 3/2567 PTTGC ขาดทุนสุทธิมากถึง 19,312 ล้านบาท
สำรองค่าใช้จ่ายรื้อถอน รง.พีทีที อาซาฮี เคมิคอลราว 3 พันล้าน
ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2567 PTTGC ประกาศยุติการดำเนินทางธุรกิจของ บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด (PTTAC) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมค้าที่ PTTGC ถือหุ้น 50% ภายหลังจากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ PTTAC ได้มีมติอนุมัติแผนยุติการดำเนินกิจการของ PTTAC เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดทำให้ over supply จนบริษัทไม่สามารถไปต่อได้ หากดำเนินการผลิตต่อไปก็ยิ่งขาดทุน จึงได้ประชุมร่วมกับพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่นก่อนได้ข้อสรุปยุติการดำเนินกิจการ หลังประเมินแล้วไม่คุ้มที่จะเดินเครื่องจักรต่อไป
อย่างไรก็ตาม PTTAC จะดำเนินกระบวนการตามแผน โดยจะเริ่มดำเนินการหยุดการขายและการส่งมอบผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป หลังจากนั้นจะดำเนินการรื้อถอนโรงงานเพื่อความปลอดภัยและจัดการเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อย คาดว่ากระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จภายในปี 2571
ทั้งนี้ PTTGC และพาร์ตเนอร์ญี่ปุ่นจะสำรองเงินค่าใช้จ่ายฝ่ายละ 3,000 ล้านบาท โดยจะทยอยใช้จ่ายเพื่อใช้ในการรื้อถอนโรงงานและอื่นๆ ตลอดช่วงระยะเวลา 3-4 ปีข้างหน้านี้ ส่วนพนักงาน PTTAC ก็มีการฝึกอบรมเพื่อเตรียมพร้อมในการสมัครหางานใหม่นอกเหนือจากค่าชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน
ที่ผ่านมา PTTGC ได้รับเงินปันผลจาก PTTAC ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2560 เข้าไปซื้อหุ้น PTTAC 50% จาก ปตท. ใกล้เคียงกับวงเงินที่ซื้อหุ้นดังกล่าวต่อจาก ปตท. ส่วนตัวเลขบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์จาก PTTAC ก่อนหน้านี้ เป็นการขาดทุนทางบัญชี
ดังนั้น การยุติการดำเนินกิจการของ PTTAC นับเป็นบริษัทที่สองต่อจากบริษัท Vencorex ที่ PTTGC ถือหุ้น 100% โดยบริษัทที่ตัดสินใจขายธุรกิจดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ Vencorex France S.A.S.U (VF) และ Vencorex TDI S.A.S.U (VTDI) อยู่ในกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจในชั้นศาลแพ่งเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 4/2567
OR ลุ้นเปิดตัวลงทุนธุรกิจใหม่ปลายปีนี้
ส่วนบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มีผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ขาดทุนสุทธิ 1,609 ล้านบาท มาจากกลุ่ม Mobility ลดลง มีค่าใช้จ่ายยุติการดำเนินธุรกิจ “เท็กซัส ชิคเก้น” และขายหุ้นทั้งหมดในบริษัท อิ่มทรัพย์ โกลบอล คูซีน จำกัด ซึ่ง OR ถือหุ้น 25% เกิดผลขาดทุนและค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกี่ยวข้อง (Extra Item) รวม 552 ล้านบาท
ในไตรมาส 3/2567 OR มีรายได้ขายและบริการ 176,131 ล้านบาท ลดลง 4.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ปรับลดลงในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจ Mobility ลดลง 3.9% ตามราคาขายเฉลี่ยที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ลดลง 0.4% จากธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ ตามปัจจัยฤดูกาล และกลุ่มธุรกิจ Global ปรับลดลง 16.8% ตามราคาขายเฉลี่ยที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และปริมาณจำหน่ายที่ลดลงในประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาว ส่งผลให้บริษัทมี EBITDA ในไตรมาส 3/2567 จำนวน 1,763 ล้านบาท ลดลง 63.6% จากไตรมาสก่อน
สำหรับการตัดสินใจเลิกธุรกิจเท็กซัส ชิคเก้นและถอนการลงทุนในร้านอาหารญี่ปุ่น Kouen เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสม และยังได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม ปัจจุบัน OR อยู่ระหว่างการประเมินทบทวนความเหมาะสมของพอร์ตโฟลิโออยู่ ขณะเดียวกันก็มองหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่เพิ่มเติมโดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มธุรกิจ Lifestyle
สำหรับการดำเนินธุรกิจของ OR ในไตรมาส 4 ปีนี้คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจตามสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี รวมไปถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน ส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของ OR ในทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจ Mobility ทั้งในด้านการขายปลีกน้ำมันผ่านสถานีบริการ PTT Station รวมไปถึงการจำหน่ายน้ำมันอากาศยาน กลุ่มธุรกิจ Lifestyle และกลุ่มธุรกิจ Global ตามแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัว โดยในปลายปีนี้จะเห็นการลงทุนธุรกิจใหม่ด้วย
TOP หวังก่อสร้างโครงการ CFP ไม่สะดุด
บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ในไตรมาส 3/2567 ขาดทุนสุทธิ 4,218 ล้านบาท เปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 10,828 ล้านบาท สาเหตุจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีอุปทานเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมันใหม่ ทำให้น้ำมันสำเร็จรูปคงคลังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเทศจีนยังคงอ่อนแอ กดดันธุรกิจอะโรเมติกส์ปรับตัวลดลงเช่นกัน
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3/2567 ปรับลดลงจากราคาเฉลี่ยในไตรมาส 2/2567 ทำให้กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 5,380 ล้านบาท หรือ 5.4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันในไตรมาสที่ 4 ปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูหนาว รวมถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังปรับลดลงจากไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานกับราคาน้ำมันดิบดูไบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตาในช่วงนี้ คือการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean
Fuel Project : CFP) หลังจากประสบปัญหาผู้รับเหมาฯ ช่วง 16 รายประท้วงเรียกร้องค่าแรงที่ค้างจ่ายจากผู้รับเหมาฯ หลัก (UJV) ซึ่งอาจส่งผลให้โครงการก่อสร้างล่าช้า โดยไทยออยล์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ UJV แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อให้การก่อสร้างโครงการสำเร็จ เนื่องจากโครงการ CFP เป็นโครงการสำคัญช่วยการเติบโตในระยะยาว ทำให้ไทยออยล์มีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 400,000บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบัน 275,000 บาร์เรลต่อวัน และส่งให้ ผลิต light product เพิ่มขึ้น และใช้น้ำมันดิบหนักได้เพิ่มขึ้น ทำให้อัตรากำไรมีโอกาสสูงขึ้น