xs
xsm
sm
md
lg

โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา โชว์ผลงานQ3/67 โกยรายได้รวม 5.6 พันล. กำไรร่วม 3 พันล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือเซ็นเทล เผยไตรมาส 3/2567 ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปรับตัวลดลงเทียบไตรมาส 2/2567 เป็นไปตามฤดูกาลท่องเที่ยว บริษัทฯมีรายได้รวม 5,602 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 5,416 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 186 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 3%)


บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ขอเรียนชี้แจงคำอธิบายและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 3 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 (ไตรมาส 3) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย มัลดีฟส์ ดูไบ และญี่ปุ่น
2. วิเคราะห์ผลการดำเนินงานรวม และรายธุรกิจของบริษัทฯ
3. สถานะทางการเงิน
4. ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานปี 2567 - 2568

1. ภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย มัลดีฟส์ ดูไบและญี่ปุ่น
1.1 การท่องเที่ยวไทย
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 3/2567 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 8.6 ล้านคน เติบโต 21% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นสำคัญ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 75% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนเติบโตสูงสุด 73% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้น 0.8 ล้านคน เป็น 1.8 ล้านคน ในไตรมาส 3/2567 ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 21%, มาเลเซีย 15% และ อินเดีย 6% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
สำหรับ 9 เดือนปี 2567 นักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 26.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.0 ล้านคน หรือเติบโต 30% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากนักท่องเทียวชาวจีนเพิ่มขึ้น 2.8 ล้านคน เทียบปีก่อน คิดเป็น 46% ของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกได้แก่ จีน 20%, มาเลเซีย 14% และ อินเดีย 6% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด

1.2 การท่องเที่ยวมัลดีฟส์
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 3/2567 รวมทั้งสิ้น 476,498 คน เติบโต 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวยุโรป 17% เทียบปีก่อน โดยมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 51% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่นักท่องเที่ยวเอเชียเติบโต 7% เทียบปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนรวม 36% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียลดลงจำนวน 12,234 คน หรือลดลง 31% เทียบปีก่อน ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้น 17,859 คน หรือเติบโต 22% เทียบปีที่ผ่านมา สำหรับนักท่องเที่ยว 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 21%, รัสเซีย 12% และสหราชอาณาจักร 7% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
สำหรับ 9 เดือน ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวรวม 1.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 130,979 คน หรือ 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวน 75,158 คน เทียบปีก่อน คิดเป็น 57% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียลดลงอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 59,198 คน หรือลดลง 40% เทียบปีก่อน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกได้แก่ จีน 15%, รัสเซีย 11% และสหราชอาณาจักร 8% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด

1.3 การท่องเที่ยวดูไบ
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไตรมาส 3/2567 รวมทั้งสิ้น 4.0 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกเป็นกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 19%, ยุโรปตะวันตก 17%, และ เอเชียใต้16% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด

สำหรับ 9 เดือน ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวรวม 13.3 ล้านคน เติบโต 7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากยุโรปตะวันตก 19%, เอเชียใต้ 17% และกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 15% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด

1.4 การท่องเที่ยวญี่ปุ่น
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไตรมาส 3/2567 รวมทั้งสิ้น 9.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านคนหรือ 37% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเติบโตของนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นสำคัญ โดยเฉพาะชาวจีนมีจำนวน 2.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคน หรือเติบโตประมาณ 1.2 เท่า เทียบปีก่อน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรก คิดเป็น 64% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ได้แก่ จีน 24%, เกาหลีใต้ 22% และ ไต้หวัน 18% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
สำหรับ 9 เดือน ปี 2567 มีนักท่องเที่ยวรวม 26.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.5 ล้านคนหรือ 55% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านคน เทียบปีก่อน คิดเป็น 38% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด นักท่องเที่ยว 3 อันดับแรกได้แก่ เกาหลีใต้ 24%, จีน 20% และ ไต้หวัน 17% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด


2. วิเคราะห์ผลการดำเนินงานรวม และรายธุรกิจของบริษัทฯ
2.1 วิเคราะห์ผลการดำเนินงานรวม
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 3 ปี 2567

ไตรมาส 3/2567: ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 ปรับตัวดีขึ้นเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปรับตัวลดลงเทียบไตรมาส 2/2567 เป็นไปตามฤดูกาลท่องเที่ยว บริษัทฯมีรายได้รวม 5,602 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 5,416 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 186 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 3%) โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมต่อรายได้จากธุรกิจอาหารทรงตัวเทียบปีก่อนอยู่ที่ 43% : 57% ขณะที่กำไรขั้นต้นรวม 2,910 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 2,908 ล้านบาท) โดยคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 54% ของรายได้ (ไม่รวมรายได้อื่น) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 56%) บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 1,348 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 1,165 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 183 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 16%) เทียบไตรมาส 3/2566 โดยคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 24% ดีขึ้น เทียบกับปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 22%) เนื่องจากการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการรับรู้ (ขาดทุน) กำไรตามวิธีส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าดีขึ้นเทียบปีก่อน บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ (EBIT) 495 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 105 ล้านบาท หรือ 27% เทียบปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 163 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 73 ล้านบาท) เติบโต 123% เทียบปีก่อน
สำหรับไตรมาส 3/2567 บริษัทฯ รับรู้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินกู้ยืมสกุลเงินต่างประเทศจำนวน 8 ล้านบาท (ไตรมาส 3 /2566: 3 ล้านบาท) และมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นครั้งเดียว (One-time items) ซึ่ง ประกอบด้วย 1) ค่าใช้จ่ายก่อนการเปิดดำเนินงาน (pre-opening expense) ของโรงแรมมัลดีฟส์แห่งใหม่ทั้ง 2 โรงแรม จำนวน 11 ล้านบาท และ 2) ตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าในค่าความนิยมแบรนด์บราวน์ คาเฟ่ จำนวน 21 ล้านบาท
สำหรับ9 เดือน ปี 2567: บริษัทฯมีรายได้รวม 17,838 ล้านบาท (9 เดือน ปี 2566: 16,530 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1,308 ล้านบาท (หรือ 8%) โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมต่อรายได้จากธุรกิจอาหารอยู่ที่ 46% : 54% (สำหรับ 9 เดือนปี 2566: 44% : 56%) ขณะที่กำไรขั้นต้นรวม 9,647 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 595 ล้านบาท หรือ 7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 57% ของรายได้ (ไม่รวมรายได้อื่น) ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 4,607 ล้านบาท (9 เดือน ปี 2566: 4,060 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 547 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 13%) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 26% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีก่อน (9 เดือน ปี 2566 : 25%) จากอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้นทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร บริษัทฯมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ (EBIT) จำนวน 2,192 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 398 ล้านบาท เทียบปีก่อน (หรือเติบโต 22%) และกำไรสุทธิจำนวน 1,086 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% เทียบปีก่อน (9 เดือน 2566: 823 ล้านบาท)
สำหรับ 9 เดือน 2567 บริษัทฯ รับรู้กำไรจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินกู้ยืมสกุลเงินต่างประเทศจำนวน 69 ล้านบาท (9 เดือน 2566: 66 ล้านบาท) และมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นครั้งเดียว (One-time item) ซึ่งประกอบด้วย 1) ค่าใช้จ่ายก่อนการเปิดดำเนินงาน (pre-opening expenses) ของโรงแรมมัลดีฟส์แห่งใหม่ทั้ง 2 โรงแรม จำนวน 12 ล้านบาท 2) ตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าในค่าความนิยมแบรนด์บราวน์ คาเฟ่ จำนวน 21 ล้านบาท และ 3) ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจากโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ไอส์แลนด์ รีสอร์ทและสปา มัลดีฟส์ จำนวน 106 ล้านบาท
2.2 วิเคราะห์ผลการดำเนินงานรายธุรกิจ
2.2.1 ธุรกิจโรงแรม
ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯมีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น จำนวน 92 โรงแรม (20,505 ห้อง) แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 52 โรงแรม (11,101 ห้อง) และเป็นโรงแรมที่กำลังพัฒนา 40 โรงแรม (9,404 ห้อง) ในส่วน 52 โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น 20 โรงแรม (5,566 ห้อง) เป็นโรงแรมที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของ และ 32 โรงแรม (5,535 ห้อง) เป็นโรงแรมที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหาร


ผลการดำเนินงานธุรกิจโรงแรมสำหรับไตรมาส 3/2567
• ไตรมาส 3/2567:
รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPAR) 3,429 บาท ในไตรมาส 3/2567 ลดลง 7% เทียบไตรมาส 2/2567 เป็นผลมาจากการลดลงของราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) 5% เทียบไตรมาสก่อน เป็น 4,934 บาท ในไตรมาส 3/2567 และอัตราการเข้าพัก (OCC) ลดลงจาก 71% ในไตรมาส 2/2567 เป็น 69% ในไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นการลดลงตามฤดูกาลท่องเที่ยวปกติ โดยไตรมาส 3 อยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยวโดยเฉพาะญี่ปุ่นและดูไบ ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูร้อน
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของโรงแรมทั้งหมด (RevPAR) ในไตรมาส 3/2567 เพิ่มขึ้น 7% จากการเพิ่มของราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) 6% ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ย (OCC) ทรงตัวที่ 69% เทียบไตรมาส 3/2566 สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของโรงแรมในประเทศไทย และโรงแรมในญี่ปุ่น โดยมีรายละเอีดดังนี้:

▪ กรุงเทพฯ: รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) เพิ่ม 15% อยู่ที่ 3,388 บาท จากการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าพัก (OCC) จาก 77% เป็น 83% และราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่ม 6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4,060 บาท
▪ ต่างจังหวัด: รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) ลดลง 3% เป็น 2,535 บาท ผลจากการลดลงของอัตราการเข้าพัก (OCC) จาก 64% เป็น 57% เนื่องจากผลกระทบของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงใหญ่ อย่างไรก็ตามที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4,440 บาท ทั้งนี้ ภาพรวมของโรงแรมอื่น RevPAR ยังคงเติบโตได้ดีเทียบปีก่อน โดยเฉพาะโรงแรมที่ภูเก็ตและสมุย โดยหากไม่รวมผลการดำเนินงานของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) จะเติบโต 11% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
▪ ต่างประเทศ:
• มัลดีฟส์: รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) ลดลง 4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 6,409 บาท โดยอัตราการเข้าพัก (OCC) ลดลงจาก 70% เป็น 64% ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 10,051 บาท ทั้งนี้ หากพิจารณาในสกุลดอลลาร์สหรัฐ รายได้ทั้งหมดต่อห้องพักเฉลี่ย (TRevPAR) ลดลง 9% เทียบปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 308 ดอลลาร์สหรัฐ
• ดูไบ: รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) 4,265 บาท เพิ่มขึ้น 1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากอัตราการเข้าพัก (OCC) เพิ่มขึ้นจาก 77% เป็น 87% ในขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) ลดลง 11% เทียบปีก่อน เป็น 4,877 บาท ทั้งนี้ การลดลงของราคาห้องพักเฉลี่ยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวลดลงของนักท่องเที่ยวชาวยุโรปในช่วงต้นไตรมาส 3/2567 เทียบปีก่อน จากการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่ฝรั่งเศส ขณะที่ได้กลุ่มลูกค้าในประเทศมาชดเชยในอัตราห้องพักเฉลี่ยที่ต่ำกว่า ประกอบกับในเดือนกันยายน โรงแรมดำเนินการปรับปรุงสวนน้ำบางส่วน จึงมีการปรับกลยุทธ์ด้านการขายและการตลาดเพื่อรักษาระดับรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย
• ญี่ปุ่น: อัตราการเข้าพัก (OCC) เพิ่มขึ้นจาก 67% เป็น 78% ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 15% เป็น 7,096 บาท และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) 5,549 บาท เพิ่มขึ้น 34% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเติบโตจากฐานปีก่อนซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มเปิดดำเนินงาน

ไตรมาส 3/2567 ธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 4%) จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรขั้นต้นจำนวน 1,219 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 1,247 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2% โดยอัตรากำไรขั้นต้นลดลงอยู่ที่ 55% (ไตรมาส 3/2566: 58%) จากผลกระทบการปรับปรุงโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา และผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงของโรงแรมในมัลดีฟส์ ธุรกิจโรงแรมมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 664 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 606 ล้านบาท) จากผลการดำเนินงานของโรงแรมในประเทศไทย และโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ โอซาก้า เป็นสำคัญ โดยคิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) 27% เพิ่มขึ้นเทียบปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 26%) ธุรกิจโรงแรมมีกำไรสุทธิจำนวน 19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 135% เทียบปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: ขาดทุน 55 ล้านบาท)


ผลการดำเนินงานธุรกิจโรงแรมที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของสำหรับ 9 เดือน ปี 2567
9 เดือน ปี 2567:
รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) เพิ่มขึ้น 16% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 4,030 บาท จากการเติบโตของราคาห้องพักเฉลี่ยเป็นสำคัญ โดยราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 14% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 5,555 บาท ในขณะที่อัตราการเข้าพัก (OCC) เพิ่มขึ้น จาก 71% เป็น 73%

▪ กรุงเทพฯ: รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) เพิ่มขึ้น 14% อยู่ที่ 3,225 บาท จากการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าพัก (OCC) จาก 74% เป็น 81% และราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 3,996 บาท
▪ ต่างจังหวัด: รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) เพิ่มขึ้น 11% เป็น 3,222 บาท เป็นผลจากราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 17% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 5,020 บาท ขณะที่อัตราการเข้าพัก (OCC) ลดลงจาก 68% เป็น 64% เป็นผลจากโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา อยู่ระหว่างการปรับปรุง โดยหากไม่รวมผลการดำเนินงานของโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) จะเติบโต 19% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
▪ ต่างประเทศ:
• มัลดีฟส์: รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) เพิ่มขึ้น 3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 9,500 บาท จากการเพิ่มขึ้นของราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) 3% เป็น 13,315 บาท ขณะที่อัตราการเข้าพัก (OCC) ทรงตัวอยู่ที่ 71% ทั้งนี้ หากพิจารณาในสกุลดอลลาร์สหรัฐ รายได้ทั้งหมดต่อห้องพักเฉลี่ย (TRevPAR) ลดลง 5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 412 ดอลลาร์สหรัฐ
• ดูไบ: มีอัตราการเข้าพัก (OCC) เพิ่มขึ้นจาก 81% เป็น 87% ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เติบโต 7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 6,472 บาท ส่งผลให้รายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) เป็น 5,623 บาท เติบโต 15% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
• ญี่ปุ่น: มีอัตราการเข้าพัก (OCC) เฉลี่ย 78% เพิ่มขึ้นจาก 67% ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่มขึ้น 15% เทียบปีก่อนเป็น 7,108 บาท และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) 5,524 บาท เติบโต 34% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับ 9 เดือน ปี 2567 ธุรกิจโรงแรม มีรายได้รวมอยู่ที่ 8,121 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 927 ล้านบาท (หรือ 13%) เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรขั้นต้นจำนวน 4,437 ล้านบาท (9 เดือน ปี 2566: 4,026 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 10% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 60% ลดลงเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (9 เดือน ปี 2566: 61%) จากผลกระทบปรับปรุงใหญ่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา และโรงแรมเซ็นทารา กะรน รีสอร์ท ภูเก็ต รวมถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนตัวลงของโรงแรมในมัลดีฟส์ ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 2,748 ล้านบาท (9 เดือน ปี 2566: 2,341 ล้านบาท) คิดเป็นอัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) อยู่ที่ 34% ดีขึ้นเทียบปีที่ผ่านมา (9 เดือน ปี 2566: 33%) เนื่องจากการเติบโตของผลการดำเนินงานโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเปิดดำเนินการเต็มปีเป็นปีแรก รวมถึงผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องของโรงแรมในประเทศไทย ธุรกิจโรงแรมมีกำไรสุทธิจำนวน 684 ล้านบาท เติบโต 46% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (9 เดือน 2566: 469 ล้านบาท)


2.2.2 ธุรกิจอาหาร
ผลการดำเนินงานธุรกิจอาหารสำหรับไตรมาส 3/2567 *แก้ไขตัวเลขตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2567 ไม่ได้นับสาขาของแบรนด์อาริกาโตะที่ตั้งอยู่ในร้านมิสเตอร์โดนัทแยกออกมา โดยแบรนด์อาริกาโตะมีสาขานอกมิสเตอร์โดนัทจำนวน 3 สาขา
(1) แบรนด์ที่รวมอยู่ในการร่วมค้าในงบการเงิน
• สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3/2567 รายได้จากธุรกิจอาหารรวม 3,180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (หรือเพิ่มขึ้น 3%) โดยบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (%SSS) ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร เพิ่มขึ้นเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2% (ไตรมาส 3/2566: 0%) ขณะที่ภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS) ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร อยู่ที่ 4% ทรงตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้อัตราการเติบโตของรายได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาจากแบรนด์ มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้แอนส์ , โอโตยะ และเปปเปอร์ลันช์ เป็นสำคัญ
• ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 บริษัทฯ มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,396 สาขา (รวมแบรนด์ร่วมทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ) ลดลง 206 สาขา เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 3/2566 (ลดลง 213 สาขา เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 2/2567) เนื่องจากเปลี่ยนวิธีการนับสาขา โดยนับรวมสาขาแบรนด์อาริกาโตะที่ตั้งอยู่ในแบรนด์มิสเตอร์โดนัท (Shop-in-shop) เป็น 1 สาขา จากเดิมนับเป็น 2 สาขา คงเหลือเฉพาะสาขาที่ตั้งแยกต่างหาก (Standalone outlet) ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 3 สาขา อย่างไรก็ดี หากนับจำนวนสาขาภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน ไตรมาส 3/2566 จะมีสาขารวมคงเหลือ 1,399 สาขา ทรงตัวเมื่อเทียบไตรมาส 3/2567 ทั้งนี้ในส่วนของแบรนด์อื่นๆ ที่มีการขยายสาขาอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ชินคันเซ็น ซูชิ (+17) อานตี้ แอนส์ (+14) สลัดแฟคตอรี (+9) โอโตยะ (+7) และเค เอฟ ซี (+7) ทั้งนี้บริษัทฯ มีการปิดสาขาแบรนด์ อร่อยดี (-21) และ แกร๊บคิทเช่น บาย เอเวอรีฟู้ด (-14) เนื่องจากรายได้หลักของแบรนด์มาจากช่องทางเดลิเวอรี่ ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงเป็นอย่างมาก การปิดสาขาเพื่อปรับปรุงอัตราการทำกำไรของบริษัทให้ดีขึ้น
• ในไตรมาส 3/2567 ธุรกิจอาหาร มีกำไรขั้นต้นจำนวน 1,691 ล้านบาท (ไตรมาส 3/2566: 1,661 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 53% ของรายได้ (ไม่รวมรายได้อื่น) ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 54%) บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 684 ล้านบาท เติบโต 22% (ไตรมาส 3/2566: 559 ล้านบาท) โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) เพิ่มขึ้นจาก 18% ในไตรมาส 3/2566 เป็น 22% ในไตรมาส 3/2567 สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการทำกำไรแบรนด์หลัก, การปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร และการรับรู้กำไรในกิจการร่วมค้าตามวิธีส่วนได้เสียเพิ่มขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจอาหารมีกำไรสุทธิ 144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ไตรมาส 3/2566: 128 ล้านบาท) โดยมีอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 5% ของรายได้ธุรกิจอาหาร (ไตรมาส 3/2566: 4%)
• ผลการดำเนินงานของธุรกิจอาหารมีความผันผวนตามฤดูกาลบ้างแต่ไม่รุนแรงมากนัก ซึ่งโดยปกติแล้ว ไตรมาสที่ 2 และ ไตรมาสที่ 4 จะมียอดขายสูงกว่าไตรมาส 1 และ 3 เนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอมและมีวันหยุดเฉลิมฉลองตามเทศกาล และยอดขาย delivery ในไตรมาส 3 มักจะได้รับผลกระทบเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน อย่างไรก็ดี สำหรับไตรมาส 3/2567 แม้รายได้น้อยกว่า แต่กำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเทียบไตรมาส 2/2567 โดยอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 18% ในไตรมาส 2/2567 เป็น 22% ในไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานของแบรนด์หลัก, การรับรู้กำไรตามวิธีส่วนได้เสียในกิจการร่วมค้าเพิ่มขึ้น และปัจจัยบวกจากการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร

ผลการดำเนินงานธุรกิจอาหารสำหรับ 9 เดือน ปี 2567

• สำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือนปี 2567 รายได้จากธุรกิจอาหารรวม 9,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 381 ล้านบาท (หรือเพิ่มขึ้น 4%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทฯ มีอัตราการเติบโตของยอดขายสาขาเดิม (%SSS) ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร 2% (9 เดือน 2566: 4%) ขณะที่ภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS)ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร อยู่ที่ 4% (9 เดือน 2566: 9%) ธุรกิจอาหารมีกำไรขั้นต้น 5,210 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% โดยมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 54% ทรงตัวเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 1,859 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน (9 เดือน ปี 2566: 1,719 ล้านบาท) โดยมีอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 19% (9 เดือน ปี 2566: 18%) ธุรกิจอาหารมีกำไรสุทธิ 402 ล้านบาท เติบโต 14% เทียบปีก่อน (9 เดือน 2566: 354 ล้านบาท)

2. สถานะทางการเงิน
ฐานะการเงินและกระแสเงินสด
ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 56,537 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,333 ล้านบาท หรือ 4% เทียบกับสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์จำนวน 3,621 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการก่อสร้าง 2 โรงแรมใหม่ที่มัลดีฟส์ ขณะที่ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นลดลง 334 ล้านบาท, สินทรัพย์ทางการเงินหมุนเวียนอื่นลดลง 202 ล้านบาท, เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลงจำนวน 189 ล้านบาท, สินค้าคงเหลือลดลง 132 ล้านบาท และเงินลงทุนในการร่วมค้าลดลง 130 ล้านบาท เทียบสิ้นปี 2566
หนี้สินรวม มีจำนวน 36,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,432 ล้านบาท หรือ 7% เทียบสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 1,013 ล้านบาท, เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจำนวน 1,168 ล้านบาท เทียบสิ้นปี 2566
บริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นรวมจำนวน 19,919 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2566 จำนวน 99 ล้านบาท จากกำไรสุทธิงวด 9 เดือน 2567 จำนวน 1,086 ล้านบาท สุทธิด้วยเงินปันผลจ่าย 567 ล้านบาท และการลดลงของผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินที่เป็นเงินตราต่างประเทศจำนวน 538 ล้านบาท และการลดลงของส่วนของผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อยจำนวน 80 ล้านบาท
สำหรับงวด 9 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ มีกระแสเงินสดสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน 4,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,113 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน กระแสเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมลงทุนจำนวน 4,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,934 ล้านบาท (9 เดือน 2566: 1,357 ล้านบาท) โดยส่วนใหญ่เป็นการจ่ายเพื่อซื้อที่ดิน อาคารและอุปกรณ์จำนวน 4,448 ล้านบาท บริษัทฯมีกระแสเงินสดใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงินจำนวน 27 ล้านบาท ลดลง 3,197 ล้านบาท (หรือ 99%) เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เกิดจากการชำระคืนเงินต้นของหนี้สินตามสัญญาเช่า 1,144 ล้านบาท, จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 567 ล้านบาท, เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 1,171 ล้านบาท และมีเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิจำนวน 1,144 ล้านบาท
การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ มีอัตราส่วนสภาพคล่องทรงตัวเทียบสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 0.5 เท่า อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น 0.8 เท่า เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบสิ้นปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีเงื่อนไขกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 2.0 เท่า

3. ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการดำเนินงาน

ธุรกิจโรงแรม: บริษัทฯยังคงให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานด้วยความระมัดระวังโดยการปรับกลยุทธ์ทางการขายและตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง การติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่าย เน้นการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ การมีวินัยทางการเงิน ขณะที่บริษัทฯยังคงการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเพื่อสร้างความเติบโตในอนาคต ด้วยการจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนที่เหมาะสมจากการกู้ยืมเงินสถาบันการเงิน และการออกตราสารหนี้ตามภาวะตลาดการเงิน
• ในปี 2567 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ระดับ 5 ดาวจำนวน 515 ห้อง จะเปิดดำเนินการเต็มปีเป็นปีแรก
บริษัทฯ มีวิธีบันทึกการรับรู้ผลการดำเนินงานดังนี้
▪ บริษัท Centara Osaka Japan Kabushiki Kaisha ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% และเป็นผู้เช่าทรัพย์สินเพื่อดำเนินกิจการโรงแรม บริษัทฯบันทึกผลการดำเนินงานของโรงแรมซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อยทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในงบการเงินรวม
▪ บริษัท Centara Osaka Tokutei Mokutei Kaisha ปัจจุบัน บริษัทฯ ถือหุ้น 53% เป็นบริษัทร่วมทุนและเป็นผู้ถือทรัพย์สิน บริษัทฯ บันทึกผลการดำเนินงานและมูลค่าเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียในงบการเงินรวม
• การปรับปรุงใหญ่ (Major Renovation) ทั้งส่วนห้องพักและพื้นที่สาธารณะ (Public Area) สำหรับโรงแรมในประเทศไทย 2 โรงแรมดังนี้:
◦ โรงแรมเซ็นทารา กะรน ภูเก็ต เริ่มปิดโรงแรมทั้งหมดเพื่อปรับปรุงในช่วงไตรมาส 3/2566 กำหนดเปิดดำเนินการในเดือนพฤศจิกายน 2567 จำนวน 330 ห้อง
◦ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ มิราจ บีช รีสอร์ท พัทยา จำนวน 553 ห้อง ทยอยปิดปรับปรุงเริ่มในช่วงไตรมาส 3/2566 โดยทยอยเปิดดำเนินการห้องปรับปรุงใหม่ในแต่ละเฟสในไตรมาส 2/2567 และกำหนดการปรับปรุงห้องพักทั้งหมดแล้วเสร็จพร้อมขายต้นเดือนธันวาคม 2567
• การเปิดบริการโรงแรมในมัลดีฟส์จำนวน 2 โรงแรม และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
◦ กำหนดเปิดโรงแรมเซ็นทารา มิราจ ลากูน มัลดีฟส์ จำนวน 145 ห้อง ในเดือนพฤศจิกายน 2567
◦ กำหนดเปิดโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ ลากูน มัลดีฟส์ จำนวน 142 ห้อง ในไตรมาส 1/ 2568
◦ คาดว่าจะมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายในช่วงเตรียมเปิดดำเนินการ (pre-opening expenses) รวมทั้ง 2 โรงแรมประมาณ 150-200 ล้านบาท ในปี 2567 โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะรับรู้ในไตรมาส 4/2567
• แผนสำหรับการปรับปรุงใหญ่ (Major Renovation) ในปี 2568
◦ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ท แอนด์ วิลลา หัวหิน จำนวน 251 ห้อง กำหนดเริ่มทยอยปิดบางส่วนเพื่อปรับปรุงในช่วงไตรมาส 2/2568 โดยโรงแรมยังคงเปิดให้บริการในช่วงดังกล่าว
◦ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลลา กระบี่ จำนวน 192 ห้อง โดยเริ่มปิดโรงแรมทั้งหมดเพื่อปรับปรุงในช่วงไตรมาส 2/2568

ธุรกิจอาหาร: ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากในแต่ละปีมีผู้ประกอบการใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาเป็นจำนวนมาก บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญในการสร้างและพัฒนาแบรนด์เพื่อสร้างความคุ้มค่าและประสบการณ์ที่ดีในการรับประทานอาหารของลูกค้า หาแบรนด์ใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มมีการเติบโตที่ดีมาเสริมทัพ หาช่องทางการขายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงของลูกค้า และ เน้นการบริหารจัดการต้นทุนในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างความเติบโตของรายได้และกำไรอย่างยั่งยืน ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 บริษัทได้มีการวางแผนรับมือ ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ โดยได้มีการดูแนวโน้มราคาเพื่อวางแผนในการเจรจาต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง หาแหล่งวัตถุดิบทดแทน และมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับวัตถุดิบหลักในบางส่วนเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา บริษัทฯเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยการเตรียมการจัดตารางการทำงานพนักงานให้เป็นมาตรฐานตามยอดขาย และนำเทคโนโลยีมาใช้ นอกเหนือจากนี้ บริษัทฯ ยังคงมีแผนการปิดสาขาที่ไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าหมาย มุ่งเน้นการขยายและการกำไรในแบรนด์หลักเพื่อเพิ่มอัตราทำกำไรของบริษัทฯ และพิจารณาเปิดสาขาใหม่ด้วยความระมัดระวังโดยมุ่งเน้นการขยายสาขาในแบรนด์หลักที่มีอัตราการทำกำไรสูง รวมถึงการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สะท้อนกับยอดขายหรือกลุ่มลูกค้าที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน
แผนการเติบโตธุรกิจแบบยั่งยืน
บริษัทฯ มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ในการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปีพ.ศ. 2593 ภายใต้แผนการดำเนินงานระยะแรกโดยได้ปรับเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นร้อยละ 40 จากเป้าหมายเดิมร้อยละ 20 ภายในปีพ.ศ. 2572 (เทียบกับปีฐาน ปีพ.ศ. 2562) สำหรับ 9 เดือน ปี 2567 บรรลุเกินเป้าหมายโดยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 33 จากปีฐาน 2562 บริษัทได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 7 โรงแรม สามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 1,294.63 เมกะวัตต์ชั่วโมง ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 65 สถานี และลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร 19.8 ตัน
• แนวโน้มธุรกิจปี 2567
◦ ธุรกิจโรงแรม: ภาพรวมปี 2567 คาดการณ์อัตราการเข้าพักเฉลี่ย (รวมโรงแรมร่วมทุน) 70% - 73% และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPAR) อยู่ที่ 4,000 – 4,300 บาท

◦ ธุรกิจอาหาร: ในปี 2567 บริษัทฯ ประมาณการอัตราการเติบโตจากสาขาเดิม (Same-Store-Sales: SSS) (ไม่รวมกิจการร่วมค้า) 1% - 3% เทียบปีก่อน และอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทุกสาขา (Total-System-Sales: TSS) จะอยู่ในช่วง 4% - 6% เทียบปีที่ผ่านมา สำหรับการขยายสาขา หากนับสาขาแบรนด์อาริกาโตะรวมกับสาขาแบรนด์มิสเตอร์โดนัท (shop-in-shop) จำนวนสาขา ณ สิ้นปี 2567 คาดว่าจะทรงตัวหรือลดลงประมาณ 2% เทียบสิ้นปี 2566 เนื่องจากบริษัทฯ มีการปิดแบรนด์ที่มีการขาดทุนและสาขาที่มีการขาย delivery เป็นหลัก และมีความระมัดระวังในการขยายสาขามากขึ้น โดยง มุ่งเน้นการขยายสาขาในแบรนด์ที่มีอัตราทำกำไรสูงเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น