xs
xsm
sm
md
lg

PTTGCจับมือToray ศึกษาพัฒนาวัสดุการเกษตรเหลือใช้พัฒนาป้อนอุตฯสิ่งทอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • PTTGC ร่วมมือกับ Toray Industries ในการยกระดับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมสิ่งทอและยานยนต์คาร์บอนต่ำ
  • • ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ในการแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ให้เป็นวัสดุที่มีคุณภาพสูง
  • • ความร่วมมือนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
  • • PTTGC มุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน และสร้างความมั่นคงให้กับอุตสาหกรรมไทย
  • • Toray มีความเชี่ยวชาญในด้านวัสดุและเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้ความร่วมมือนี้มีศักยภาพสูง


PTTGC ผนึกกำลังร่วมกับ Toray Industries ยกระดับวัสดุเกษตรเหลือใช้
ให้ตอบสนองอุตสาหกรรมสิ่งทอและยานยนต์คาร์บอนต่ำด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ร่วมกับ Toray Industries, Inc. หรือ Toray ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมศึกษาความเป็นไปได้และแสวงหาโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกรดมิวโคนิกและกรดอะดิปิกจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยตั้งเป้าหมายการผลิตกรดมิวโคนิกและกรดอะดิปิกชีวภาพในเชิงพาณิชย์รวมหลายพันตันต่อปี ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการการร่วมสร้างสรรค์อนาคตของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (The Global South Future-Oriented Co-Creation Project) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economic, Trade and Industry: METI) 

 

 
นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTGC กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง PTTGCและ Toray ในครั้งนี้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกัน โดย Toray มีปรัชญาในการสร้างนวัตกรรมจากเคมี ซึ่งตรงกับเป้าหมายของบริษัทที่มุ่งหวังจะเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำเพื่อสร้างชีวิตที่ดีขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางเทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนสำหรับทั้งสองประเทศ  นอกจากนี้บริษัทได้มุ่งมั่นที่จะเติบโตไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ โดยมีแผนที่จะขยายพอร์ตโฟลิโอชีวภาพและเสริมสร้างศักยภาพของ “ศูนย์เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (Map Ta Phut specialty hub) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษและเคมีภัณฑ์ชีวภาพ รวมถึงการขยายเครือข่ายพันธมิตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อรองรับความต้องการวัสดุที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน 


ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน PTTGC และ Toray ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเคมีภัณฑ์ชีวภาพ สำหรับไนลอน-6,6 โดยใช้น้ำตาลที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จากบริษัท เซลลูโลซิค ไบโอแมส เทคโนโลยี จำกัด (Cellulosic Biomass Technology Co., Ltd. หรือ CBT) ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศไทยที่ Toray ถือหุ้นอยู่ถึง 84% การพัฒนาเทคโนโลยีนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากปิโตรเลียม โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในประเทศไทยอีกด้วย


PTTGC ได้นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการหมักขั้นสูงในการแปลงน้ำตาลจากวัสดุเหลือในทางการเกษตรในประเทศไทย เช่น กากมันสำปะหลังและกากอ้อย ซึ่งไม่ได้ใช้เป็นอาหาร ให้สามารถผลิตกรดมิวโคนิกชีวภาพที่มีมูลค่าสูง ผสานความรู้และเทคโนโลยีของ Toray ในกระบวนการไฮโดรจิเนชันผลิตกรดอะดิปิกชีวภาพที่มีความบริสุทธิ์สูงจากกรดมิวโคนิกชีวภาพซึ่งกรดอะดิปิกชีวภาพนี้สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไนลอน-6,6 ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับการผลิตเรซินและเส้นใยที่มีคุณสมบัติคล้ายกับไนลอน-6,6 ที่ผลิตจากปิโตรเคมี อีกทั้งกระบวนการผลิตนี้ไม่ก่อให้เกิดไนตรัสออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี ความร่วมมือในโครงการนี้สอดคล้องกับเป้าหมายของ PTTGC ในการเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 พร้อมประยุกต์ใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนควบคู่กับการพัฒนาธุรกิจ ด้วยการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืน คำนึงถึงการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) อย่างสมดุล รวมทั้งการจัดการทรัพยากรเหลือใช้อย่างมีประสิทธิภาพและคำนึงถึงความยั่งยืน

ส่วนเป้าหมายของ Toray ในการใช้วัสดุจากการรีไซเคิล 20% ของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตโพลีเมอร์หลักภายในปี พ.ศ. 2593 โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนตามแนวทางการสร้างคุณค่าใหม่และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในสังคม


กำลังโหลดความคิดเห็น