AOT จัดประชุมสุดยอดผู้บริหาร 18 สนามบินของ Sister Airport แลกเปลี่ยนประสบการณ์ บริหารจัดการสนามบิน โชว์แผนแม่บท "สุวรรณภูมิ" ขยายรับ 150 ล้านคนต่อปี จับมือการบินไทย-แอร์ไลน์เพิ่มสัดส่วนผู้โดยสาร Transit / Transfer ดันไทยสู่ฮับภูมิภาค
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) จัดการประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2024 ภายใต้หัวข้อหลัก "Embracing the Next Chapter in Aviation Industry” (ก้าวสู่บทใหม่ของอุตสาหกรรมการบิน) ด้วยการนำเสนอความพร้อมของท่าอากาศยานไทยในการก้าวไปสู่การพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและท่องเที่ยวในภูมิภาค ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยมีพลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ AOT เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของท่าอากาศยานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน (Sister Airport Agreement: SAA) รวม 18 แห่ง กับ AOT และผู้บริหารองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) สภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (ACI) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) สายการบิน หน่วยราชการ รวมทั้งผู้บริหารและพนักงาน AOT เข้าร่วมการประชุม
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า การประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2024 จะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 2 ปี เพื่อเป็นเวทีให้ผู้บริหารระดับสูงของ Sister Airport ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ มุมมองด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยานจากท่าอากาศยานระหว่างประเทศชั้นนำ รวมถึงแบ่งปันข้อมูลที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ ในการนำมาบริหารท่าอากาศยานให้เป็นเลิศต่อไป ซึ่งในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “Embracing The Next Chapter in Aviation Industry” เพื่อแสดงแนวโน้ม (Trends) อนาคตของอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศในการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนการทำงานร่วมกันในเชิงบูรณาการเพื่อยกระดับการดำเนินงานและพัฒนาอุตสาหกรรมการบินด้วยความยั่งยืน อีกทั้งท่าอากาศยานภายใต้เครือข่าย SAA ซึ่งล้วนแต่เป็นท่าอากาศยานชั้นนําระดับโลกที่ประสบความสําเร็จ จะร่วมถ่ายทอดประสบการณ์แนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Sharing Best Practice) ที่สามารถนำมาปรับใช้กับท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้ และยังเพิ่มโอกาสในการขยายพันธมิตรทางธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย
@เร่งพัฒนาศักยภาพเพิ่มผู้โดยสาร Transit / Transfer ดันไทยสู่ฮับภูมิภาค
นายกีรติกล่าวว่า การเป็นฮับในภูมิภาคขึ้นอยู่กับปริมาณผู้โดยสารที่เลือกไทยเป็นจุด Transit / Transfer โดยสนามบินจะต้องมีองค์ประกอบรองรับ เช่น มี Slot ให้สายการบิน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ที่ผ่านมา ทอท.ได้ดำเนินการไปแล้วคือเปิดใช้รันเวย์ที่ 3 และอาคาร Sat-1 อีกส่วนที่สำคัญคือ ร่วมมือกับสายการบินเพื่อช่วยดึงผู้โดยสาร ซึ่ง AOT ได้หารือกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ตอบรับความร่วมมือ โดยการบินไทยมีแผนเพิ่มฝูงบิน นอกเหนือจากที่การบินไทยมีการเชื่อมต่อเที่ยวบินกับประตูหลักๆ ทั่วโลก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิสตันบูล เพื่อจะช่วยดึงผู้โดยสารต่างชาติมา Transit / Transfer ที่ไทย เช่น จากอังกฤษไปออสเตรเลีย มา Transit / Transfer ที่ไทย เป็นต้น ถือเป็นความร่วมมือที่จะสร้างประโยชน์ทั้ง AOT และการบินไทยที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต
“ปัจจุบันสัดส่วนผู้โดยสาร Transit / Transfer ของสุวรรณภูมิอยู่ที่ 4% ของผู้โดยสารทั้งหมด จะเห็นว่าอีกถึง 96% มีปลายทางที่ไทยเพราะอยากมาไทย ไม่ได้อยากมาเพื่อต่อเครื่อง ซึ่ง 96% นี้ถือเป็นลูกค้าหลัก แต่จะต้องหาทางเพิ่มในส่วนของ 4% ให้ได้อย่างน้อยเป็น 20% จึงจะเป็นฮับภูมิภาค ขณะที่สนามบินชางงีของสิงคโปร์มีผู้โดยสาร Transit / Transfer ที่ 40 %”
นายกีรติกล่าวว่า ปี 2568 คาดหวังผู้โดยสาร Transit / Transfer จะเพิ่มเป็น 5% ที่ยังเติบโตช้าเพราะจำนวนเที่ยวบินยังไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่ง AOT คาดหวังว่าการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเมื่อการบินไทยเพิ่มฝูงบินตามแผนอีก 45 ลำ รวมไปถึงกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์ ก็จะทำให้มีเที่ยวบินและผู้โดยสารเข้ามาไทยมากขึ้น ซึ่งการมีผู้โดยสาร Transit / Transfer มากขึ้น จะเป็นโอกาสทำให้ผู้โดยสารเลือกที่จะอยู่ประเทศไทยนานขึ้น เพิ่มการท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยขึ้นในประเทศ
@เร่งรัดแผนแม่บท ขยายรับ 150 ล้านคนต่อปี
ส่วนด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT เพื่อไปสู่เป้าหมายศูนย์กลางการบินภูมิภาคและผลักดันท่าอากาศยานของไทยให้ติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลกนั้น ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ได้เร่งรัดแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารให้ได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี
ปัจจุบัน AOT ได้เปิดใช้ทางวิ่งเส้นที่ 3 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินจาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ควบคู่ไปกับโครงการขยายขีดความสามารถของสนามบินอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออกของอาคารผู้โดยสาร (East Expansion) รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 80 ล้านคนต่อปี โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) รองรับผู้โดยสารเพิ่มได้อีก 70 ล้านคนต่อปี และก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 เพิ่มศักยภาพรองรับเที่ยวบินได้ถึง 120 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) เพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการให้รองรับได้สูงสุดที่ 50 ล้านคนต่อปี เพื่อเป็นสนามบินหลักรองรับเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building เป็นพื้นที่ศูนย์กลางที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟสายสีแดงโดยตรง พื้นที่จอดรถยนต์ พร้อมพื้นที่สันทนาการ พื้นที่พาณิชย์อื่นๆ เพื่อยกระดับการให้บริการของ ทดม. โครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ควบคู่ไปกับการศึกษาแผนก่อสร้างท่าอากาศยานใหม่เพื่อยกระดับศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการบินของประเทศไทย เช่น โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามัน โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานล้านนา และแผนศึกษาโครงการพัฒนา Seaplane & Ferry Terminal พัฒนาพื้นที่จอดอากาศยานขึ้น-ลงในทะเลรองรับผู้โดยสารชั้นสูงอีกด้วย
นอกจากการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว AOT ยังให้ความสำคัญต่อเรื่องความยั่งยืนเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นต้นแบบ Green Airport ท่าอากาศยานสากลชั้นนำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้พลังงานสะอาดมาผลิตพลังงานไฟฟ้า 37.81 เมกะวัตต์ และสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 555,686.271 tCO2e ตลอดอายุโครงการ 20 ปี สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้มากถึง 25% นอกจากนี้ AOT ยังมีนโยบายเปลี่ยนรถในสนามบินทั้งหมดเป็นระบบยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมให้ใช้รถแท็กซี่ไฟฟ้ามาให้บริการแก่ผู้โดยสาร ตลอดจนการติดตั้งสถานี EV Charge สำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม AOT ยังได้ให้ความสำคัญด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ครอบคลุมทั้งด้านการลงทุนปิโตรเลียมและการวิจัยผลิต บนเป้าหมายการให้บริการน้ำมัน SAF สำหรับอากาศยานที่เข้าและออกประเทศไทยภายใน 3 ปี ไปจนถึงการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการจําหน่าย SAF ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
นอกจากนี้ AOT ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับระบบบริการผู้โดยสารสมัยใหม่เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการผู้โดยสารทั้ง 6 ท่าอากาศยาน ให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดระยะเวลาการรอคอยและบรรเทาความหนาแน่นของผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วน โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา AOT ได้เปิดใช้งานระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated Biometric Identification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสารเพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งจะช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวของแต่ละจุดบริการภายในท่าอากาศยาน
ที่ผ่านมา AOT ได้มีการติดตั้งระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หรือ CUPPS (Common Use Passenger Processing System) ที่สนับสนุนการให้บริการทั้งหมด 5 ระบบ ได้แก่ (1) เครื่อง CUTE (เครื่องตรวจบัตรโดยสาร ซึ่งใช้งานโดยเจ้าหน้าที่สายการบิน) (2) เครื่อง CUSS (เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ) (3) เครื่อง CUBD เครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (4) ระบบ PVS (Passenger Validation System) สำหรับตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (5) ระบบ SBG (Self-Boarding Gate) หรือระบบประตูทางออกขึ้นเครื่อง เป็นต้น
สำหรับการจัดประชุมเชิงอภิปราย AOT Sister Airport CEO Forum 2024 ในครั้งนี้ Mr. Tao Ma ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และ Mr.Stefano Baronci ผู้อำนวยการสภาสมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airport Council International: ACI) ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและตะวันออกกลาง ร่วมปาฐกถาพิเศษ หลังจากนั้นจะมีการอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้บริหารท่าอากาศยานระดับสูงในหัวข้อ “All Connected Towards Airport Excellence and Sustainability” และต่อด้วยการอภิปรายเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในหัวข้อ “Airport Operational Efficiency and Future Trends”
@ACI กังวลค่าตั๋วแพง เร่งหารือแอร์ไลน์
ACI มุ่งเน้นการรองรับการกลับมาของผู้โดยสาร รวมถึงประเด็นปัญหา กรณีค่าตั๋วโดยสารที่แพงขึ้น ซึ่ง ACI ได้ทำงานร่วมกับสายการบินเพื่อให้ราคาตั๋วโดยสารกลับสู่ภาวะปกติ และการเพิ่มคุณภาพบริการผู้โดยสาร ด้าน ICAO ได้ระบุถึงแนวโน้มการกลับมาของผู้โดยสาร ว่าในปี 2567 การบินของ 90 ประเทศมีปริมาณผู้โดยสารสูงขึ้นไปเท่ากับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว จึงเข้าสู่ภาวะปกติแล้วและเดินหน้าการเติบโต
ปัจจุบัน AOT ได้จัดทํา SAA กับองค์กรบริหารท่าอากาศยานระหว่างประเทศ จํานวน 14 แห่ง มีท่าอากาศยานระหว่างประเทศภายใต้ SAA จํานวน 18 ท่าอากาศยาน ประกอบด้วย ท่าอากาศยานมิวนิก ท่าอากาศยานนานาชาติอินชอน ท่าอากาศยานนานาชาตินาริตะ ท่าอากาศยานนานาชาติปักกิ่ง ท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบาง ท่าอากาศยานเนปยีดอร์ ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ ท่าอากาศยานโอซาก้า (อิตามิ) ท่าอากาศยานนานาชาติเติน เซื้น เญิ้ต ท่าอากาศยานนานาชาติโหน่ยบ่าย ท่าอากาศยานนานาชาติดานัง ท่าอากาศยานนานาชาติฟู้โกว๊ก ท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยงไฮ้ ผู่ตง ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้ง ท่าอากาศยานลีแอช ท่าอากาศยานนานาชาติ โออาร์ แทมโบ ท่าอากาศยานอิสตันบูล และท่าอากาศยานไลพ์ซิก/ฮัลเล