กนอ.จับมือ มูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาแนวทางจัดการสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) โดยเฉพาะสารเบนซีน และ 1,3 - บิวทาไดอีน ในพื้นที่มาบตาพุด เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการ เรื่อง การสนับสนุนการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ระหว่าง กนอ.ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยมหิดล (คณะสาธารณสุขศาสตร์) โดยมี นายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่าการ กนอ. (ฝ่ายปฏิบัติการ 3) ดูแลพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด, นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่สำนักงานใหญ่
นายอนุชิต สวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายงานพัฒนาที่ยั่งยืน กนอ. เปิดเผยว่าความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการบริหารจัดการ VOCs โดยเฉพาะสารเบนซีนและสาร 1,3 - บิวทาไดอีน ในบรรยากาศบริเวณริมรั้วในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมพื้นที่มาบตาพุด โดยมุ่งเน้นศึกษาแนวทางการกำหนดมาตรการควบคุมสารดังกล่าว เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ VOCs ในพื้นที่มาบตาพุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมของ กนอ.ให้เกิดความยั่งยืน
นายคุรุจิต กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการบูรณาการความเชี่ยวชาญจาก 3 หน่วยงาน เพื่อศึกษาและจัดทำข้อมูลด้านวิชาการเกี่ยวกับ VOCs ในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ โดยผลการศึกษาจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและมาตรการควบคุม VOCs เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่กันไป
ขณะที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร กล่าวถึงรูปแบบการศึกษาแนวทางจัดการ VOCs ในช่วง 2 ปีของ MOU ฉบับนี้ว่า จะมุ่งเน้นการวิจัย การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล และการพัฒนาแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อสนับสนุนการกำหนดมาตรการเชิงรุกในการควบคุม VOCs ให้อยู่ในระดับปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมีการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในพื้นที่มาบตาพุดมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาบัญชีรายการปล่อยมลพิษ (Emission Inventory) การใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ การวิเคราะห์แหล่งกำเนิด การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ของมาตรการควบคุมมลพิษ
มาบตาพุดถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการลงนาม MOU ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทั้ง 3 ภาคส่วน เพื่อยกระดับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ บันทึกความร่วมมือ หรือ MOU ทางวิชาการฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามโดยแนวทางการบริหารจัดการ VOCs ที่เกี่ยวข้องกับชั้นบรรยากาศ ตามบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับนี้ ครอบคลุมแนวทางการบริหารจัดการ VOCs ในหลายมิติ เช่น การตรวจวัดและติดตาม โดยการศึกษาการกระจายตัวของ VOCs ในชั้นบรรยากาศ การติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง การประเมินผลกระทบ ด้วยการประเมินผลกระทบของ VOCs ต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ การควบคุมและลดการปล่อย VOCs จากแหล่งกำเนิดต่างๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีสะอาด การปรับปรุงกระบวนการผลิต การบำบัดมลพิษทางอากาศ และการสร้างความตระหนัก ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของ VOCs และแนวทางการป้องกันแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ