xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.ลุยจัดหารถใหม่ 3,040 คัน เฟสแรกทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน เช่า 1,520 คัน ยกเครื่องบริการอีก 3-5 ปีเลิกขาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

  • • เฟสแรก: เช่า 1,520 คัน วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท รับมอบ ส.ค. 68
  • • เฟสสอง: 1,520 คัน เปิด PPP ให้เอกชนจัดหารถพ่วงพัฒนาเชิงพณิชย์ อู่จอดรถ
  • • เป้าหมาย: ลดรายจ่าย คาดพ้นขาดทุนใน 3-5 ปี


ขสมก.ลุยจัดหารถใหม่ 3,040 คัน แบ่งเฟสแรกเช่า 1,520 คัน วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทรับมอบส.ค.ปี 68 เฟส 2 อีก 1,520 คัน เปิดPPP เอกชนจัดหารถพ่วงพัฒนาเชิงพณิชย์อู่จอดรถ คาดลดรายจ่ายพ้นขาดทุนใน 3-5 ปี

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า นโยบายในการขับพัฒนาระบบรถเมล์โดยสารสาธารณะจะมีการลดจำนวนรถร้อนลง และเพิ่มเป็นรถโดยสารปรับอากาศ ทั้งหมดซึ่ง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มีแผนจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ใช้พลังงานไฟฟ้า ในขณะที่รถโดยสารที่เอกชนได้รับสัมปทานจากกรมขนส่งทางบก (ขบ.) ก็เป็นรถปรับอากาศดังนั้นต่อไป รถร้อนจะหายไปจากถนน ในขณะที่ต้นทุนการให้บริการระหว่างรถร้อนกับรถแอร์ไม่ได้แตกต่างกันมากเพียงแต่ปรับให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกเท่าเทียมกัน

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ขสมก.ได้รับงบผูกพัน 7 ปี (2568-2575) ในโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 1,520 คัน ด้วยวิธีเช่าดำเนินการ ประมูลแบบ e-bidding วงเงิน 15,355 ล้านบาท ซึ่งได้เสนอไปที่กระทรวงคมนาคม โดยอยู่ระหว่างรอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณา หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติต่อไป ซึ่งในทางคู่ขนาน ขสมก.ได้เตรียมแผนตั้งคณะกรรมการร่างTOR ไว้แล้วเพื่อไม่ให้ล่าช้า

“คณะกรรมการร่าง TOR คณะกรรมการมีผู้แทนจาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ด้วยกระบวนการประมูลแบบ e-bidding นั้น มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่การร่าว TOR ไปจนถึงการประกาศผล ซึ่งตามแผนงานหากเสนอครม.ได้ภายในปีนี้ กระบวนการประมูล แล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถเริ่มรับมอบได้ในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2568 หรือในเดือน ก.ค.-ส.ค. 2568 เบื้องต้นจะแบ่งการส่งมอบเพื่อบรรจุรถเป็น 3 ระยะๆ ละประมาณ 500 คัน ทั้งนี้จะขยับจากแผนหรือไม่ ขึ้นกับว่าได้ลงนามสัญญาเมื่อใดด้วย”

ส่วนการจัดหารถโดยสารประจำทาง ในระยะที่ 2 จำนวน 1,520 คันนั้น จะเป็นรูปแบบ การร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) ซึ่งสถานะของโครงการขณะนี้ กระทรวงคมนาคมมีหนังสือไปถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้บรรจุโครงการนี้อยู่ใน Project Pipeline และอยู่ระหว่างขอรับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (กองทุน PPP) วงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจ้างที่ปรึกษา ศึกษาโครงการจัดหารถโดยสารปรับอากาศในเฟส 2

โดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน จะมีความชัดเจนว่า การร่วมทุน จะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost หรือ PPP Gross Cost ระยะเวลาสัญญาร่วมทุนที่เหมาะสม ส่วนหลักการเบื้องต้น คือจะให้เอกชนเป็นผู้จัดหารถให้ โดยขสมก.ดำเนินการเรื่องคนขับและการบริหารจัดการเอง และร่วมลงทุนโดยนำพื้นที่อู่จอดรถเมล์บางเขน มาพัฒนาเชิงพาณิชย์ในส่วนที่ขสมก.ร่วมลงทุน ซึ่งจะเป็นลดภาระงบประมาณของรัฐ


ผอ.ขสมก.กล่าวว่า ในส่วนของการเช่ารถเมล์ EV 1,520 คัน ระยะเวลา 7 ปีนั้น รัฐบาลจัดสรรงบประมาณรายปีให้ขสมก.แล้ว ซึ่งต่างจากเดิมที่ต้องกู้มาเพื่อจัดหารถ ทำให้เกิดภาระหนี้ก้อนโต ดังนั้น รูปแบบนี้จะทำให้ขสมก.มีสภาพคล่องมากขึ้น และการมีรถใหม่ใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาทั้งหมด 3,040 คัน จะช่วยลดภาระค่าเหมาซ่อมจากปีละ 1,700 ล้านบาทเหลือ 1,000 ล้านบาท ลดค่าพลังงานจากปีละ 2,000 ล้านบาทเหลือ 700 ล้านบาท รวมๆ ลดค่าใช้จ่ายได้ปีละ 2,500 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ปี 2567 ขสมก.มีผลขาดทุนอยู่ที่ 2,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดทุนน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา

และหากประเมินจากตัวเลขนี้ เชื่อว่าผลการดำเนินงานของขสมก. จะมี EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) เป็นศูนย์ในปี 3 – 5 ปีจากนี้ และรมช.คมนาคมสั่งการในเรื่องลดพนักงาน จากปัจจุบันมีถึง 14,000 คน มีค่าใช้จ่ายปีละ 4,000 ล้านบาท โดยจะไม่มีการรับคนเพิ่มแต่จะปรับเพิ่มสกิลพนักงานเก็บค่าโดยสารที่มี 5,000 คนไปเป็นพนักงานขับรถแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น